CEO ซีพีเอฟ แชร์หลักปรัชญา 3 ประโยชน์ เวที CEO Dialogue

24 พ.ย. 2565 | 19:11 น.
อัปเดตล่าสุด :25 พ.ย. 2565 | 03:06 น.

ซีอีโอ ซีพีเอฟ ขึ้นเวที CEO Dialogue ร่วมแชร์ประสบการณ์ และวิถีการดำเนินธุรกิจภายใต้ ปรัชญา 3 ประโยชน์ สร้างประโยชน์ประเทศ สังคม และผู้มีส่วนได้เสีย

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวในร่วมเวที CEO Dialogue : แลกเปลี่ยนความคิดเห็นโครงการธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนสำหรับภาคธุรกิจในตลาดทุนไทย (ระยะที่ 2) ในหัวข้อ "เตรียมความพร้อมธุรกิจสู่การตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน" จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

 

นายประสิทธิ์ กล่าวว่า ซีพีเอฟมีการลงทุนใน 17 ประเทศทั่วโลกและส่งออกมากกว่า 40 ประเทศ บริษัทดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของความยั่งยืน โดยยึดปรัชญา 3 ประโยชน์ คือ ไปลงทุนที่ไหนแล้วต้องทำประโยชน์ให้ประเทศนั้นๆ เพื่อที่จะอยู่ได้ในระยะยาวอย่างยั่งยืน ต้องทำประโยชน์ให้กับสังคม หากทำทั้งสองเรื่องสำเร็จ ก็จะทำให้บริษัทอยู่ได้ในระยะยาว นอกจากนี้ ภายใต้เป้าหมายกลยุทธ์ CPF 2030 Sustainability in Action ซึ่งเป็นเป้าหมายสู่ความยั่งยืนของซีพีเอฟ ยังได้บรรจุเรื่องของสิทธิมนุษยชนเป็นหนึ่งในหัวข้อหลักด้วย

"เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นนโยบายจากท่านประธานอาวุโส ธนินท์ เจียรวนนท์ ว่าการที่จะทำให้บริษัทประสบความสำเร็จในระยะยาวอย่างยั่งยืน เราต้องดูแลสมาชิกในบริษัท และผู้ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่การดูแลลูกค้าให้ประสบความสำเร็จ พนักงานของเรา ต้องได้รับการดูแลให้อยู่กับเราอย่างมีความสุข มีรายได้ที่ดี และ คู่ค้าของเราก็ต้องประสบความสำเร็จ เพราะฉะนั้นการดูแลเรื่องสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่ดูแลแค่บริษัทเรา แต่เราต้องดูแลทั้งซัพพลาย เชน ว่าจะทำอย่างไรให้ยั่งยืนไปด้วยกัน" นายประสิทธิ์ กล่าว

CEO ซีพีเอฟ แชร์หลักปรัชญา 3 ประโยชน์ เวที CEO Dialogue

ซีอีโอ ซีพีเอฟ ยกตัวอย่างการดำเนินโครงการต่างๆ ของบริษัทที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของสิทธิมนุษยชน ทั้งกลุ่มของลูกค้า พนักงาน คู่ค้า ซึ่งต้องทำทั้งซัพพลาย เชน อาทิ การรับพนักงานต่างชาติเข้ามาร่วมงาน ที่บริษัทฯ จัดจ้างตรงจากประเทศต้นทาง โดยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในกระบวนการจัดจ้างทั้งหมด ทั้งค่าตรวจโรค ค่าวีซ่า ค่าเดินทาง จนพนักงานเดินทางถึงประเทศไทย เพื่อไม่ให้แรงงานต่างชาติมีภาระหนี้สิน (debt free recruitment process) จากการสมัครงาน และพนักงานต่างชาติทุกคนยังได้รับค่าตอบแทนและสวัสดิการเท่าเทียมกับพนักงานคนไทย

 

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้ทวนสอบหลังการจัดจ้าง เพื่อให้มั่นใจว่ากระบวนการจัดจ้างพนักงานต่างชาติดำเนินการอย่างโปร่งใส

บริษัทฯ ยังได้จับมือกับมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (Labour Promotion Network Foundation: LPN) จัดอบรมให้พนักงานของซีพีเอฟมีความรู้ด้านสิทธิด้านแรงงาน อาชีวอนามัยและธรรมาภิบาล และ จัดให้มีช่องทางรับฟังเสียงพนักงาน “ศูนย์ Labour Voices Hotline by LPN” เพื่อให้พนักงานสามารถเสนอแนะและแจ้งข้อร้องเรียนผ่านองค์กรที่เป็นกลางได้ด้วยภาษาตนเอง ถึง 4 ภาษา (กัมพูชา เมียนมา อังกฤษ และไทย) ช่วยให้บริษัทฯรับทราบปัญหา หรือข้อเสนอแนะของพนักงานเพื่อปรับปรุงมาตรการต่างๆ สอดคล้องกับสิทธิมนุษยชนได้ทันสถานการณ์ ยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ให้พนักงานทุกคน ส่งเสริมบรรยากาศการทำงานร่วมกัน

CEO ซีพีเอฟ แชร์หลักปรัชญา 3 ประโยชน์ เวที CEO Dialogue

ในส่วนของการดูแลและให้ความช่วยเหลือคู่ค้า โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ในช่วงที่เกิดสถานการณ์ระบาดของโควิด -19 ว่า ซีพีเอฟ มีซัพพลายเออร์ที่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี กว่า 6 พันราย ซึ่งได้รับการดูแลให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยลดระยะเวลาเครดิตเทอมจาก 45-60 วันเป็น 30 วัน และปัจจุบัน ยังได้ร่วมมือกับธนาคารกรุงเทพ ดำเนินโครงการ "CPF x BBL เสริมสภาพคล่อง...เคียงข้างคู่ค้า" สนับสนุนคู่ค้าธุรกิจของซีพีเอฟให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีอัตราดอกเบี้ยพิเศษ เป็นความร่วมมือผ่านบริการสินเชื่อหมุนเวียน เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้คู่ค้าสามารถสร้างการเติบโตได้อย่างมั่นคง

 

ในด้านของความท้าทายต่อการดำเนินธุรกิจที่ต้องเคารพสิทธิมนุษยชน ซีอีโอ กล่าวว่า องค์กรใหญ่อย่างซีพีเอฟ อาจจะมีความท้าทายบ้าง จากจำนวนบุคลากร ซึ่งปัจจุบัน เรามีพนักงานในประเทศไทยและทั่วโลก รวมประมาณ 130,000 คน มีความหลากหลาย แต่เราก็มีกระบวนการในการรับพนักงานที่เข้ามาทำงาน มีทีมงานที่เข้าไปดูแลกลุ่มต่างๆ ถึงแม้ว่าจะเป็นความยากด้านบุคลากร แต่บริษัทฯมีการกำหนดโครงสร้างและทีมงานในการเข้าไปดูแล และยังถ่ายทอดแนวทางการปฏิบัติที่ดีต่อแรงงานให้กับคู่ค้าธุรกิจ เพื่อให้ตลอดห่วงโซ่อุปทานของซีพีเอฟมีการปฏิบัติต่อแรงงานตามหลักสิทธิมนุษยชน ไม่มีการใช้แรงงานผิดกฎหมายทุกรูปแบบ


การจัดสัมมนา CEO Dialogue มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความมุ่งมั่นในเชิงนโยบายจากผู้นำองค์กร และพร้อมส่งต่อความมุ่งมั่นไปยังหน่วยงานอื่นๆ ในห่วงโซ่คุณค่า และบุคลากรขององค์กร เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน ลดผลกระทบและสร้างผลลัพธ์เชิงบวกจากการดำเนินธุรกิจ

 

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า สถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน การดำเนินธุรกิจที่มีธรรมาภิบาลคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมถึงการเคารพสิทธิมนุษยชน จะช่วยให้ภาคธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน และที่สำคัญยังสามารถตอบโจทย์นักลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องซึ่งต่างให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น