zero-carbon

กลไกความสัมพันธ์ระหว่าง ESG กับองค์กรธุรกิจ    

    ดีลอยท์ วิเคราะห์องค์กรไทยกับ ESG พบส่วนใหญ่มีความพยายามนำ ESG เข้าสู่กลยุทธ์การทำงาน พร้อมจัดตั้งทีมกำกับดูแลและติดตามผล ระบุการเงินกับ ESG ต้องสอดรับกัน จึงจะขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืนได้จริงจัง     

“กษิติ เกตุสุริยงค์” Sustainability & Climate Leader และ “ดร. นเรนทร์ ชุติจิรวงศ์” ผู้อำนวยการบริหาร Clients and Markets ดีลอยท์ ประเทศไทย ร่วมให้รายละเอียด และวิเคราะห์ ประเด็นการดำเนินธุรกิจด้วยหลัก ESG หรือ สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล ขององค์กรต่างๆ ของไทย โดยนำเสนอผลสำรวจ Thailand ESG and Sustainability Survey Report 2022 ที่ทำกับผู้บริหารระดับ C-suite และผู้บริหารในระดับต่างๆ จากบริษัทชั้นนำของประเทศไทย จำนวน 106 บริษัท ครอบคลุมภาคอุตสาหกรรมหลัก
    

ประเด็นหลักที่พบคือ องค์กรส่วนใหญ่ โดยเฉพาะองค์กรที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีความตระหนักรู้ และพยายามนำหลักปฎิบัติของ ESG เข้าสู่กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ โดยบอร์ดและผู้บริหารระดับสูง (C-Level) ให้ความสนใจกับการทำรายงาน แต่ความท้าทายของการทำรายงานด้าน ESG คือ ยังไม่มีเทคโนโลยีเข้ามารองรับ ทำให้การทำรายงานอาจไม่แม่นยำ อาจเกิดการผิดพลาดจากความเป็นจริง
 

นอกจากนี้ 1 ใน 3 ขององค์กรที่ทำสำรวจ มีการตั้งคณะกรรมการเข้ามาขับเคลื่อนเรื่อง ESG อย่างจริงจัง โดย 20% มีการกำหนดบทบาทความรับผิดชอบ  18% มอบหมายให้ Chief Financial Officer (CFO) มาช่วยดูแลเรื่อง ESG

 

และบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแล ESG ประเมินความเสี่ยง ติดตามการดำเนินงาน ซึ่งต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาร่วมจัดทำเพื่อทำให้เกิดประสิทธิภาพ หากแต่อีกหนึ่งความท้าทายคือ ผู้เชี่ยวชาญด้าน ESG หรือ Sustainability ในเมืองไทยยังมีน้อยมาก
    

การขับเคลื่อนเรื่อง ESG ให้เกิดผล ทำให้องค์กรเดินหน้าสู่ความยั่งยืนอย่างจริงจัง องค์กรต้องนำเรื่องเหล่านี้มาผูกเข้ากับเคพีไอการทำงานของคนในองค์กร ซึ่ง 47% ของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ เริ่มดำเนินการแล้ว และอีกส่วนที่สำคัญคือ ฝ่ายการเงินต้องเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อน เพราะ 85% ของเรื่อง Sustainability สำคัญมากในการทำเรื่องไฟแนนซ์ CFO ต้องพยายามที่จะวางกลยุทธ์ ด้านการเงิน ความคุ้มค่า กับการทำความยั่งยืน และอีกสิ่งที่สำคัญคือ การรายงานผลการดำเนินงานขององค์กร เมื่อก่อนจะคุยกับเรื่องกำไรและรายได้เป็นหลัก แต่ปัจจุบัน ต้องคุยเรื่องความยั่งยืน เพราะฉะนั้น CFO ต้องเข้าใจเรื่องเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น
    

ในการทำ ESG สิ่งที่องค์กรได้รับ คือ การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และลดต้นทุน นอกเหนือจากการสร้างผลกระทบด้านดีให้กับสิ่งแวดล้อมแล้วยังสร้างโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจ รวมทั้งผลพลอยได้ที่เกิดขึ้น คือ ภาพลักษณ์แบรนด์ที่จะดูดีขึ้น โดยธุรกิจที่โดดเด่นในการทำเรื่อง ESG คือ ธุรกิจพลังงาน คอมซูเมอร์โปรดักต์ และพวกมีเดีย เทเลคอม รวมแล้วกว่า 80%
    

อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ สำหรับองค์กรที่ผลักดันโปรดักต์ด้านความยั่งยืนออกสู่ตลาด จากการทำวิจัยของดีลอยท์ พบว่า มีผู้บริโภคเพียง 10% ที่ยอดจ่ายให้กับสินค้าพรีเมี่ยมกลุ่มนี้ ซึ่งปัจจัยที่สำคัญส่วนหนึ่ง อาจมาจากสภาพเศรษฐกิจกดดัน ทำให้คนมองเรื่อง ราคาและคุณภาพเป็นหลัก ส่วนการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอยู่ที่อันดับ 8 ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ESG ความยั่งยืน หรือสิ่งแวดล้อม ยังไม่ได้เป็น Top of Mind ของผู้บริโภค หากไม่คุ้มค่าคุ้มราคาจริง ผู้บริโภคจะยังไม่ให้ความสนใจ 

 

หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,836 วันที่ 17 - 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565