“โอเปกพลัส” มีมติหั่นกำลังการผลิต 2 ล้านบาร์เรล/วัน ดันราคาน้ำมันในตลาด

06 ต.ค. 2565 | 06:41 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ต.ค. 2565 | 14:04 น.
575

โอเปกพลัสเสร็จสิ้นการประชุมวานนี้ (5 ต.ค.) โดยมีมติหั่นกำลังการผลิต 2 ล้านบาร์เรล/วัน นับเป็นการปรับลดกำลังการผลิต "ครั้งใหญ่ที่สุด" ในรอบ 2 ปี เพื่อหนุนราคาน้ำมันในตลาด

กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือ โอเปกพลัส ได้เสร็จสิ้นการประชุมเมื่อวันพุธ (5 ต.ค. ตามเวลาท้องถิ่น) ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย โดยที่ประชุมมีมติ ปรับลดกำลังการผลิต 2 ล้านบาร์เรล/วันในเดือนพ.ย.นี้ ซึ่งจะเป็นการปรับลดกำลังการผลิตครั้งใหญ่ที่สุดของโอเปกพลัสนับตั้งแต่ปี 2563 และเป็นการปรับลดกำลังการผลิตติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 เป้าหมายเพื่อ พยุงราคาน้ำมัน ในตลาด

 

การจัดประชุมที่กรุงเวียนนาครั้งนี้ เป็นการประชุมแบบพบหน้ากันเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมี.ค.2563 ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19

 

ก่อนหน้านี้ โอเปกพลัสมีมติลดกำลังการผลิต 100,000 บาร์เรล/วันในเดือนต.ค. ซึ่งเป็นการปรับลดกำลังการผลิตเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2563 นอกจากนี้ โอเปกพลัสได้เพิ่มกำลังการผลิต 432,000 บาร์เรล/วันในเดือนมิ.ย. รวมทั้งเพิ่มการผลิต 648,000 บาร์เรล/วันทั้งในเดือนก.ค.และส.ค. ก่อนที่จะเพิ่มการผลิตเพียง 100,000 บาร์เรล/วันในเดือนก.ย.ที่ผ่านมา

 

บริษัทเจพีมอร์แกนออกรายงานระบุว่า ราคาน้ำมันในตลาดอาจพุ่งแตะระดับ 100 ดอลลาร์/บาร์เรลในไตรมาส 4 นี้ท่ามกลางภาวะตึงตัวในตลาด

 

อ่านเพิ่มเติมน้ำมัน WTI ขึ้นอีก 1.4% ปิดเหนือ 87 ดอลล์/บาเรล รับโอเปกพลัสลดผลิตครั้งใหญ่

“โอเปกพลัส” มีมติหั่นกำลังการผลิต 2 ล้านบาร์เรล/วัน

ด้านทำเนียบขาวออกแถลงการณ์หลังรับทราบมติดังกล่าวของโอเปกพลัส โดยยืนยันว่า การที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียในเดือนก.ค.ที่ผ่านมา ไม่ถือว่าสูญเปล่าแต่อย่างใด แม้ว่ากลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส มีมติปรับลดกำลังการผลิตครั้งใหญ่ ซึ่งสวนทางความต้องการของสหรัฐ


ที่ผ่านมา สหรัฐพยายามกดดันซาอุดีอาระเบียและโอเปกพลัสเพื่อให้เพิ่มกำลังการผลิต เนื่องจากปธน.ไบเดนกังวลว่าราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นจะกระทบต่อคะแนนนิยมของรัฐบาลก่อนการเลือกตั้งกลางเทอมในเดือนหน้า(พ.ย.)


"เราพูดในขณะนั้นว่า การเดินทางของท่านประธานาธิบดีไม่ได้เกี่ยวข้องกับน้ำมันแต่อย่างใด แต่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ใหญ่กว่านั้น ซึ่งก็คือเป้าหมายทางด้านยุทธศาสตร์และผลประโยชน์ของประเทศ" นายจอห์น เคอร์บี โฆษกทำเนียบขาวกล่าวและว่า รัฐบาลของปธน.ไบเดนเห็นพ้องกันว่า สหรัฐจำเป็นที่จะต้องลดการพึ่งพาน้ำมันจากโอเปกพลัสและผู้ผลิตน้ำมันรายอื่นๆ

 

ในวันเดียวกัน นายแอนโทนี บลิงเกน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ระบุว่า สหรัฐได้แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนต่อกลุ่มโอเปกพลัสแล้ว ถึงความจำเป็นในการเพิ่มปริมาณน้ำมันเพื่อรองรับความต้องการในตลาด

 

ต่อคำถามที่ว่า เขารู้สึกผิดหวังต่อซาอุดีอาระเบียหรือไม่ นายบลิงเกนกล่าวว่า สหรัฐมีผลประโยชน์ที่หลากหลายเกี่ยวข้องกับซาอุดีอาระเบีย เขาหลีกเลี่ยงที่จะระบุโดยตรงถึงการตัดสินใจของซาอุดีอาระเบียที่เห็นพ้องกับมติของโอเปกพลัสในการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันครั้งใหญ่นี้

 

"ที่ผ่านมา สหรัฐได้ดำเนินการเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำมันในการรักษาเสถียรภาพของราคา ด้วยการเพิ่มกำลังการผลิตมากกว่า 500,000 บาร์เรล/วัน และระบายน้ำมันจากคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ (SPR)" นายบลิงเกนกล่าว