“สนามราชมังคลากีฬาสถาน” สนามกีฬากลางแจ้งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งหลายคนคงคุ้นเคยกันเป้นอย่างดี เพราะนอกจากจะเป็นจุดแลนด์มาร์คสำคัญทางด้านการแข่งขันกีฬาระดับประเทศแล้ว ชามอ่างยักษ์แห่งนี้ยังเป็นหนึ่งในสถานที่สำคัญในการจัดการแสดงคอนเสิร์ตของศิลปินดังระดับโลกที่เดินทางมาเยือนประเทศไทยด้วย
ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2566 สนามราชมังคลากีฬาสถาน ก็ได้กลับมาเปิดใช้งานเพื่อรองรับการแข่งขันกีฬาอีกครั้ง กับฟุตบอลนัดอุ่นเครื่องปรีซีซั่นของสองยอดทีมฟุตบอลระดับโลกจากประเทศอังกฤษ ระหว่าง เลสเตอร์ ซิตี้ พบ ท็อตแน่ม ฮ็อตสเปอร์ ที่เดินทางมาฟาดแข้งในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ
แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าแมตช์ระดับโลกครั้งนี้ จำเป็นต้องยกเลิกกะทันหัน เพราะเกิดพายุฝนถล่มอย่างหนักตั้งแต่ก่อนเริ่มการแข่งขันทำให้สภาพสนามไม่พร้อมสำหรับการแข่งขัน เพราะหลายจุดมีน้ำท่วมขัง และอาจเป็นอันตรายต่อนักฟุตบอลชื่อดังระดับโลก จนต้องยกเลิกการแข่งขั้นครั้งนี้ไป
สำหรับการยกเลิกการแข่งขันแมตช์ใหญ่ของยอดทีมฟุตบอลจากอังกฤษครั้งนี้ หลายคนตั้งคำถามไปถึงมาตรฐานของสนามราชมังคลากีฬาสถาน ว่ามีความพร้อมหรือไม่
ล่าสุด ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ออกมาเผยเหตุผลว่า เป็นเหตุสุดวิสัย หลังฝนตกลงมาอย่างหนัก พร้อมยืนยันสนามราชมังฯ มีการดูแลและซ่อมบำรุง ในส่วนต่าง ๆ เป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะเรื่องระบบระบายน้ำ และสามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ดีเพื่อให้ทุกคนรู้จักกับสนามกีฬาแห่งชาติของประเทศไทยมากยิ่งขึ้น ฐานเศรษฐกิจ จึงขอรวบรวม 8 เรื่องที่ที่หลายคนอาจยังไม่เคยรู้เกี่ยวกับ “สนามราชมังคลากีฬาสถาน” ไปติดตามข้อมูลพร้อม ๆ กันว่ามีเรื่องอะไรน่าสนใจบ้าง
พระราชทานชื่อ “ราชมังคลากีฬาสถาน”
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระองค์พระราชทานชื่อสนามว่า “ราชมังคลากีฬาสถาน” และเสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานในพิธีการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2541
อายุของสนามราชมังคลากีฬาสถาน
ปัจจุบันสนามราชมังคลากีฬาสถาน มีอายุมากกว่า 30 ปีแล้ว หลังจากก่อสร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2531 แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2541 เพื่อใช้ในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ที่กรุงเทพมหานคร เป็นเจ้าภาพ ซึ่งการก่อสร้างขึ้นครั้งนี้นั้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ 5 ธันวาคม 2530 และพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก พ.ศ. 2531
ผู้ออกแบบสนามราชมังคลากีฬาสถาน
สนามราชมังคลากีฬาสถาน มีจุดมุ่งหมายเพื่อใช้ในการแข่งกีฬาเอเชียนเกมส์ พ.ศ. 2541 ซึ่งประเทศไทยได้มีโอกาสเป็นเจ้าภาพ ได้รับการออกแบบโดย รังสรรค์ ต่อสุวรรณ สถาปนิกชาวไทย และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกแบบในสถาปัตยกรรมแนว Brutalism หรือ คอนกรีตเปลือย
การออกแบบอาคารเน้นความสวยงาม ทันสมัยมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและให้ความสำคัญกับฟังค์ชั่นการใช้งาน โดยสนามราชมังคลากีฬาสถานมีความพร้อมทั้งเป็นสนามแข่งขันกีฬาระดับชาติระดับนานาชาติและยังสามารถจัดคอนเสิร์ตจัดงานอีเวนต์ต่าง ๆ เป็นการออกแบบเพื่อให้ใช้งานได้หลากหลาย
ความจุของสนามเคยตั้งไว้ถึงแสนคน
สนามราชมังคลากีฬาสถาน ตอนแรกวางขนาดความจุไว้ที่ 1 แสนคน โดยเริ่มตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2512 คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบด้วยกับโครงการจัดสร้างสนามกีฬาที่หัวหมาก ขนาดความจุ 1 แสนคน ด้วยงบประมาณ 40 ล้านบาท ซึ่งเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ตามที่องค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทย (อสกท. ซึ่งปัจจุบันคือการกีฬาแห่งประเทศไทย) นำเสนอมา แต่ยังไม่มีการก่อสร้าง เนื่องจากไม่มีงบประมาณ
จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2528 ไพบูลย์ วัชรพรรณ ผู้ว่าการ กกท.คนแรก เสนอของบประมาณ 500 ล้านบาท สำหรับก่อสร้างสนามกีฬากลาง ขนาดความจุ 80,000 ที่นั่ง ภายในศูนย์กีฬาหัวหมาก ซึ่งได้รับความเห็นชอบเริ่มการก่อสร้าง เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2531 จนกระทั่งแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 รวมระยะเวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 2,443 วัน
ความสามารถในการรองรับผู้เข้าชมภายในอาคาร จำนวน 80,000 คน ส่วนความสามารถในการรองรับผู้เข้าชม (อัฒจันทร์) ภายหลังจากติดตั้งเก้าอี้เพื่อรองรับการแข่งขันฟุตบอลเอเชียนคัพ 2007 และกีฬามหาวิทยาลัยโลกฤดูร้อน 2007 ปัจจุบันอัฒจันทร์รองรับสูงสุดได้ 51,522 ที่นั่ง ซึ่งเป็นเก้าอี้พับทั้งหมด
สนามเหย้าของฟุตบอลทีมชาติไทย
สนามราชมังคลากีฬาสถาน ถูกกำหนดให้เป็นสนามกีฬาของฟุตบอลทีมชาติไทย ในการแข่งขันรายการต่าง ๆ ในฐานะการเป็นสนามเหย้า เพื่อต้อนรับทีมชาติอื่น ๆ ที่จะมาลงแข่งทั้งแมตช์กระชับมิตร หรือการแข่งขันในรายการสำคัญ ๆ ทั้งระดับอาเซียน และการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก
แต่ที่ผ่านมาเกิดกรณีดรามาหลังจากมีการตั้งข้อสังเกตว่า ทีมฟุตบอลทีมชาติไทยไม่ได้ลงเล่นที่สนามแห่งนี้มานาน แต่กลับไปใช้ในงานอื่น ๆ โดยเฉพาะการแสดงคอนเสิร์ตอยู่บ่อยครั้ง โดยผู้ว่าฯ กกท. ชี้แจงว่า การใช้ราชมังคลากีฬาสถานในการจัดแข่งขันกีฬา หรือจัดกิจกรรมต่างๆ เบื้องต้น กกท. มีการจัดสรรการใช้สนามตามแผนงานของสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์เป็นอันดับแรก
แมตช์แห่งความทรงจำ
สนามราชมังคลากีฬาสถาน ได้สร้างตำนานบทใหม่ให้เกิดขึ้นบนโลกของกีฬาในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง แต่หากย้อนไปยังอดีตแล้วเชื่อว่าคงไม่มีครั้งไหนที่น่าจดจำเท่ากับฟุตบอลคู่ระหว่างทีมชาติไทย และ ทีมชาติเกาหลีใต้ ในศึกเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 13 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2541หลัง ธวัชชัย ดำรงอ่องตระกูล ฮีโร่ของคนไทยซัดลูกเข้าไปสู่ก้นตาข่ายจนสนามราชมังฯ วันนี้ที่เต็มความจุแทบแตกออกมา
ขณะเดียวกันยังมีอีกหลายแมตช์ที่สร้างความประทับใจ ทั้งการเดินทางมาแข่งขันของทีมฟุตบอลระดับโลก ทั้งทีมชาติ และสโมสรดัง ตัวอย่างเช่น ทีมชาติบราซิลชุดใหญ่ ทีมชาติเยอรมัน สโมสรรีล มาดริด บาร์เซโลนา รวมไปถึงศึกแดงเดือดนอกอังกฤษ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด พบ ลิเวอร์พูล ที่ประเทศไทย
งานแสดงคอนเสิร์ตศิลปินระดับโลก
นอกจากสนามราชมังคลากีฬาสถาน จะใช้ในการแข่งขันกีฬาแล้ว ยังมีการใช้เป้นสถานที่จัดแสดงคอนเสิร์ตของศิลปินดังระดับโลกหลายคน เช่น เลดี้กาก้า Lady Gaga Live in Bangkok 2012, เอ็ด ชีแรน Ed Sheeran Live in Bangkok 2017, มารูนไฟฟ์ เวิลด์ทัวร์ Maroon 5 World Tour 2022 , Coldplay Live in Bangkok รวมทั้งคอนเสิร์ตจากศิลปินเกาหลีอีกหลายคน เช่น BTS และ BLACKPINK
พิพิธภัณฑ์กีฬาแห่งชาติ
พิพิธภัณฑ์กีฬาแห่งชาติ อยู่ภายในอาคารสนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ หรือ ราชมังคลากีฬาสถาน เป็นสถานที่อนุรักษ์มรดกทางการกีฬาของประเทศ รวมทั้งเพื่อจัดตั้งเป็นหอเกียรติยศของอดีตนักกีฬาทีมชาติไทย ภายในแบ่งห้องจัดแสดง ประกอบด้วย ห้องวิวัฒนาการกีฬาสากลของไทย ห้ององค์กรกีฬา หอเกียรติยศนักกีฬา ห้องสมาคมกีฬาและกีฬาพื้นบ้านไทย และ ห้องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการกีฬา
นอกจากนี้ทางพิพิธภัณฑ์กีฬาแห่งชาติ ยังได้จัดให้บริการสืบค้นข้อมูลทางทางอินเตอร์เน็ตแก่ผู้มาใช้บริการ โดยพิพิธภัณฑ์กีฬาแห่งชาติ เปิดให้ประชาชนได้เข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย