ย้อนประวัติ “สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง” หลังไขก๊อกลาออกนายกสมาคมฟุตบอลไทย

01 ก.ค. 2566 | 12:39 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ก.ค. 2566 | 13:08 น.
1.6 k

เปิดประวัติ "สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง” นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ที่ประกาศลาออกอย่างเป็นทางการวันนี้ (1 ก.ค.) แสดงความรับผิดชอบต่อประเด็นร้อนวงการกีฬาไทย หลังเกิดเหตุวิวาทในศึกฟุตบอลชายรอบชิงชนะเลิศกีฬาซีเกมส์ที่กัมพูชาเมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา

 

สำหรับ ประวัติ ของ พลตำรวจเอก สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง หรือชื่อเล่น “อ๊อด” อันเป็นที่มาของสมญา “บิ๊กอ๊อด” ติดปากสื่อมวลชน นับว่าไม่ธรรมดาอย่างยิ่งเพราะก่อนมารับตำแหน่ง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 นั้น บิ๊กอ๊อดมีตำแหน่งก่อนเกษียณอายุราชการเป็นถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (คนที่ 10 ของประเทศไทย ดำรงตำแหน่ง1 ตุลาคม พ.ศ. 2557 – 30 กันยายน พ.ศ. 2558)

พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง เกิดเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2497 ที่อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นบุตรของนายสาน และนางสมบัติ พุ่มพันธุ์ม่วง มีน้องชาย 1 คน ชื่อ พลตำรวจตรี ภูมินทร์ พุ่มพันธุ์ม่วง

เขาจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนท่าเรือ "นิตยานุกูล" จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.ศ.4) เข้าเรียนที่โรงเรียนพรตพิทยพยัต

เมื่อจบมัธยมศึกษาตอนปลายก็เข้าศึกษาต่อในโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่น 15 (ตท.15) ก่อนจะเข้าศึกษาต่อที่ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่น 31 (นรต.31) จบปริญญาตรีสาขา นิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง จบปริญญาโท รัฐศาสตร์การเมือง มหาวิทยาลัยปูนา จากอินเดีย ต่อด้วยปริญญาเอกปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาการบริหารงานยุติธรรมและสังคม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต นับเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนแรกที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอก

พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง (ขอบคุณภาพจากเพจ FA Thailand สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์)

พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง เป็นอดีตนายตำรวจติดตามนายมนตรี พงษ์พานิช ซึ่งต่อมาได้แนะนำให้เขารู้จักกับนายเนวิน ชิดชอบ จนได้รับการสนับสนุนทางการเมือง เขายังเป็นลูกน้องพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ และเพื่อนร่วมงานของพล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ และมีความสัมพันธ์อันดีกับนายวิชัย ศรีวัฒนประภา ผู้ก่อตั้งอาณาจักรธุรกิจคิง เพาเวอร์ และนายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (ชวน หลีกภัย และอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นอกจากจะมีสายสัมพันธ์อันดีกับบิ๊กเนมในแวดวงราชการ การเมือง และธุรกิจแล้ว ตัว “บิ๊กอ๊อด” เองก็เป็นนักธุรกิจ ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ บริษัท เซเว่น ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ 7UP และยังเป็นอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งเมื่อคราวพ้นจากสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2561 นั้น พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ได้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พบว่า มีทรัพย์สินรวม 262,802,209.21 บาท ขณะที่คู่สมรสมีรายการทรัพย์สิน 95,881,491.71 บาท รวมทรัพย์สินทั้งของพล.ต.อ.สมยศ และคู่สมรสทั้งสิ้น 358,683,700.92 บาท

ส่วนหนี้สิน ของพล.ต.อ.สมยศ คือเงินกู้จากธนาคารและสถาบันการเงิน 3,313,473.64 บาท คู่สมรสไม่มีรายการหนี้สิน รวมหนี้สินทั้งหมด 3,313,473.64 บาท

ชีวิตครอบครัว สมรสกับพจมาน พุ่มพันธุ์ม่วง มีบุตรด้วยกัน 2 คน ได้แก่ ชมกมล พุ่มพันธุ์ม่วง และ ร้อยตำรวจเอก รชต พุ่มพันธุ์ม่วง

ประวัติการทำงานราชการ

พลตำรวจเอก สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รับราชการตำรวจครั้งแรกในตำแหน่งรองสารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลพระโขนง และได้ดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ ในกรมตำรวจดังต่อไปนี้

  • 16 ธันวาคม พ.ศ. 2532 รองผู้กำกับการ (ทำหน้าที่นายตำรวจปฏิบัติราชการพิเศษ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน) สำนักงานกำลังพล
  • 1 มีนาคม พ.ศ. 2538 – ผู้กำกับการกองวิชาการ
  • 25 ตุลาคม พ.ศ. 2539 – รองผู้บังคับการชุดตรวจงานอำนวยการ ส่วนตรวจราชการ 1 สำนักงานจเรตำรวจ
  • 16 ธันวาคม พ.ศ. 2540 – รองผู้บังคับการ กองบังคับการอำนวยการ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
  • 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2542 – รองผู้บังคับการกองตรวจคนเข้าเมือง 1
  • 14 ตุลาคม พ.ศ. 2542 – ผู้บังคับการประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
  • 1 ตุลาคม พ.ศ. 2544 – ผู้บังคับการ กองแผนงาน 2
  • 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545 – ผู้ช่วยผู้บัญชาการสำนักงานแผนงานและงบประมาณ
  • 1 ตุลาคม พ.ศ. 2546 – ผู้ช่วยผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
  • 1 ตุลาคม พ.ศ. 2547 – รองจเรตำรวจแห่งชาติ
  • 1 ตุลาคม พ.ศ. 2549 – ผู้บัญชาการประจำสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ทำหน้าที่ประสานงานสำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงมหาดไทย)
  • 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 – ผู้บัญชาการประจำสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ทำหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสืบสวน)
  • 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 – จเรตำรวจแห่งชาติ (สบ 8)
  • 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 – ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง
  • 1 ตุลาคม พ.ศ. 2551 – ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
  • 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 – ที่ปรึกษา (สบ 10) ด้านความมั่นคงและกิจการพิเศษ
  • 1 ตุลาคม พ.ศ. 2555 – รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
  • 1 ตุลาคม พ.ศ. 2557 – ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ในส่วนของภาคสังคม เป็นอดีตกรรมการองค์กรสวนสัตว์ ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนท่าเรือ นิตยานุกูล