“ฟีฟ่า” อู้ฟู่ เผยรายได้จากฟุตบอลโลก 2022 พุ่งทำสถิติใหม่ 7,500 ล้านดอลลาร์

21 พ.ย. 2565 | 16:08 น.
อัปเดตล่าสุด :21 พ.ย. 2565 | 23:19 น.
538

สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า (FIFA) โกยรายได้จากการจัดบอลโลกครั้งล่าสุด ทำสถิติใหม่ 7,500 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 268,500 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าครั้งที่ผ่านมาเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ถึง 1,000 ล้านดอลลาร์

 

นายจิอานนี อินฟานติโน ประธานฟีฟ่า (FIFA) เปิดเผยเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (20 พ.ย.) ว่า ฟีฟ่า สามารถทำรายได้จากการจัด ฟุตบอลโลก 2022 ซึ่งมีขึ้นที่ ประเทศกาตาร์ ระหว่างวันที่ 20 พ.ย. ถึง 18 ธ.ค.นี้ เป็นเงิน 7,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยกว่า 268,500 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นสถิติใหม่ที่มากกว่าการจัดบอลโลกที่ประเทศรัสเซียเมื่อปี 2018 หรือเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา ถึง 1,000 ล้านดอลลาร์ รายได้ดังกล่าวมาจากการทำข้อตกลงเชิงพาณิชย์ในระยะ 4 ปี ที่เกี่ยวเนื่องกับบอลโลก 2022

 

นายอินฟานติโนกล่าวแถลงต่อเจ้าหน้าที่จากประเทศสมาชิกฟีฟ่ามากกว่า 200 ประเทศที่มาร่วมประชุมที่เมืองโดฮา ประเทศกาตาร์ เมื่อวันที่ 20 พ.ย.โดยระบุว่า เป็นข่าวดีที่ฟีฟ่าทำรายได้จากบอลโลกปีนี้เพิ่มขึ้นถึง 1,000 ล้านดอลลาร์เมื่อเทียบกับครั้งก่อนที่ฟาดแข้งกันในปี 2018 ที่ประเทศรัสเซีย ทั้งนี้ รายได้ที่เพิ่มขึ้นมากมาจากข้อตกลงเชิงพาณิชย์ที่ทำกับบรรดาสปอนเซอร์ของประเทศเจ้าภาพ อาทิ บริษัทกาตาร์ อิเนอร์จี (Qatar Energy) ที่เป็นหนึ่งในสปอนเซอร์รายใหญ่ และบรรดาสปอนเซอร์อันดับรอง ๆ รายใหม่ที่มีเข้ามาเพิ่มขึ้น อาทิ ธนาคาร QNB ซึ่งเป็นธนาคารใหญ่ของกาตาร์ รวมทั้งบริษัทโทรคมนาคมอูรีดู (Ooredoo)

จิอานนี อินฟานติโน ประธานฟีฟ่า (FIFA)

 

นอกจากนี้ ฟีฟ่ายังได้สปอนเซอร์รายใหม่เพิ่มขึ้นในปีนี้จากสาขาธุรกิจใหม่ อาทิ บริษัท อัลโกแรนด์ (Algorand) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการบล็อกเชนและแพลตฟอร์มซื้อขายเงินคริปโต ทั้งยังเป็นสปอนเซอร์สัญชาติอเมริกันรายใหม่รายแรกของฟีฟ่าในรอบ 10 กว่าปี

 

ส่วนข้อตกลงเกี่ยวกับการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกปีนี้ เป็นข้อตกลงที่ทำไว้ตั้งแต่ยุคที่นายเซ็ป แบลตเทอร์ ซึ่งเป็นประธานฟีฟ่าก่อนหน้านายอินฟานติโนได้ทำเอาไว้ โดยแบลตเทอร์ได้ทำข้อตกลงถ่ายทอดการแข่งขันไว้สำหรับการแข่งขันที่รัสเซียในปี 2018 และบอลโลกปีนี้ (2022) ที่กาตาร์ ซึ่งครบคลุมถึงข้อตกลงที่ทำกับสถานีโทรทัศน์ฟ็อกซ์ในสหรัฐอเมริกา และสถานีโทรทัศน์ บีอิน สปอร์ตส์ ของกาตาร์

 

ในส่วนที่ฟีฟ่าต้องจ่ายนั้น ได้แก่

  • ค่าคณะกรรมการจัดงานของเจ้าภาพ
  • ค่าเงินรางวัล
  • ค่าเดินทางและที่พักสำหรับทีมฟุตบอลที่เข้าแข่งขัน
  • และค่าใช้จ่ายของทีมงานสนับสนุน
  • นอกจากนี้ ยังมีเงินที่ฟีฟ่าจ่ายให้ประเทศเจ้าภาพเป็นกองทุนสำหรับพัฒนาการกีฬาภายในประเทศหลังจากที่การแข่งขันสิ้นสุดลงด้วย

ทีมฟุตบอลที่ชนะการแข่งขันในปีนี้จะได้รับเงินรางวัล 44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

สำหรับทีมฟุตบอลที่ชนะการแข่งขันในปีนี้จะได้รับเงินรางวัล 44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1,575 ล้านบาท) จากงบเงินรางวัลที่มีทั้งสิ้น 440 ล้านดอลลาร์ หรือราว 15,752 ล้านบาท

 

ฟีฟ่าจัดทำงบดุลการเงินทุกรอบ 4 ปีที่จัดฟุตบอลโลกแต่ละครั้ง โดยในงบปี 2015-2018 ซึ่งเป็นของปีที่จัดฟุตบอลโลกที่รัสเซีย ฟีฟ่าทำรายได้ 6,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นเงินที่ถูกนำมาใช้พยุงสถานะทางการเงินของบรรดาชาติสมาชิกฝ่าฟันความยากลำบากของปี 2020  

 

ทั้งนี้ ฟีฟ่าคาดหมายทำรายได้แตะถึง 10,000 ล้านดอลลาร์ในช่วง 4 ปีข้างหน้า จากการดำเนินกลยุทธ์ใหม่ๆด้านการเงินสำหรับฟุตบอลหญิง และฟุตบอลโลกปี 2026 (พ.ศ.2569) ที่ขยายครอบคลุม 3 ประเทศอเมริกาเหนือ คือ สหรัฐอเมริกา แคนาดา และเม็กซิโก ซึ่งนั่นจะทำให้มีทีมฟุตบอลเข้าร่วมแข่งขันถึง 48 ทีม จากปัจจุบันที่มี 32 ทีม