ผบ.ตร. ยันไม่มีขบวนการสร้างหลักฐานเท็จกรณีคดีการเสียชีวิต “แตงโม-นิดา”

16 พ.ค. 2565 | 10:53 น.
อัปเดตล่าสุด :16 พ.ค. 2565 | 18:39 น.

ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ “พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข”ขอให้เชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรม-ยินดีหากต้องสอบเพิ่ม กรณีการเสียชีวิตของ น.ส.ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ “แตงโมนิดา”

พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ตอบคำถามสื่อมวลชน ต่อกรณีคดีการเสียชีวิตของ น.ส.ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ หรือ แตงโมนิดา ที่นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม เคลื่อนไหว ร้องเรียนชุดทำคดีตั้งคำถามถึงการสืบสวน สอบสวนคดีของพนักงานสอบสวน (เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2565  ที่สโมสรตำรวจ ถนนวิภาวดีรังสิต)  

 

พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า กรณีที่มีใครมากล่าวโทษ ร้องเรียน  โดยได้ดำเนินการไปครบทั้ง 2 ด้าน ส่วนที่ตั้งข้อสังเกต ได้ส่งให้จเรตำรวจทำการตรวจสอบแล้ว ส่วนกรณีที่กล่าวโทษ กล่าวหาร้องทุกข์ เป็นเรื่องคดีอาญา พนักงานสอบสวนก็รวบรวมพยานหลักฐานไปตามอำนาจหน้าที่ ซึ่งทำครบถ้วน ทั้ง 2 ด้าน ทำตามขั้นตอน กระบวนการที่มีอยู่แล้ว

พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกล่าวด้วยว่า  กระบวนการขั้นตอนนั้น  ในฐานะที่ตนเป็นผู้บังคับบัญชา ไม่ใช่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ แต่ตนก็พูดคุยซักถามได้

“ยืนยันนะครับ ยืนยันกับพี่น้องประชาชน มันไม่มีขบวนการอะไรที่ถูกกล่าวหาว่าร่วมกันสร้างหลักฐานเท็จ ผมยืนยันว่าไม่มี ไม่มีการทำแบบนั้น มันไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย เรื่องนี้อยู่ในสายตาคนเป็นล้าน ไม่มีใครจะไปสามารถสร้างหลักฐานเท็จขึ้นมาได้ และคณะพนักงานสอบสวน ไม่ใช่มีคนเดียว มีเยอะมาก และมีหลายสังกัดด้วย ทั้งยังมีบุคคลภายนอกด้วย เพราะฉะนั้นที่บอกว่าทำหลักฐานเท็จ เป็นไปไม่ได้ หรือมีขบวนการต่าง ๆ มันไม่มีเหตุผลว่าจะทำอย่างนั้นไปเพื่ออะไร

 

ฝากว่าเรื่องนี้ มันไม่สามารถพูดกันบนโลกโซเชียลหรือมานั่งตั้งโต๊ะ ถกแถลงกันทุกประเด็นได้ เพราะว่าการสืบสวนสอบสวน มันเป็นกระบวนการยุติธรรม มันต้องดำเนินการไปตามขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม ผมก็ยังยืนยันว่าถึงวันนี้ หากคดีนี้ได้มีโอกาสพิจารณาคดีในชั้นศาล ถึงเวลานั้นคงได้มีการถกเถียง ชี้แจงแถลงเหตุผล ใครเห็นด้วยไม่เห็นด้วยก็ว่ากันไป ในทุกแง่ทุกมุม ซึ่งมันมีกฎกติกาชัดเจน ผมว่าถึงวันที่ศาลท่านมีคำพิพากษาออกมาทุกอย่างจะคลี่คลาย”

 

ยกเคส "คดีเกาะเต่า" คนกล่าวหาจนท.ไม่แสดงความรับผิดชอบ

          ระหว่างตอบข้อถามสื่อมวลชน พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)ได้ยกบทเรียนคดีเกาะเต่า โดยระบุบ่า   เรามีบทเรียนมาเยอะ การไต่สวนในโลกโซเชียล ผมเคยไปทำคดีนักท่องเที่ยวถูกกระทำชำเรา ที่เกาะเต่า จังหวัด สุราษฎร์ธานี เมื่อหลายปีก่อน มีการกล่าวหาลูกของผู้ใหญ่บ้านเป็นคนร้าย หรือจับแพะ

เรื่องนั้นมีการกระจายไปต่างประเทศ  ผมต้องทำหลายอย่าง  มีคนไปล้อมสถานทูตไทยฯ ผมต้องออกรายการทีวีหลายสถานีข่าว รวมถึงต้องไปชี้แจงกรรมการสิทธิหลายที่  ชี้แจงเจ้าหน้าที่ตำรวจจากประเทศอังกฤษ ซึ่งบางเรื่องไม่สามารถพูดในที่สาธารณะ เช่นมีประเด็น 100 ประเด็น ถาม 1 ประเด็น ก็ตอบ 1 ประเด็น ไม่สามารถเอาทั้งหมด มากางโต๊ะ ไต่สวนกันกลางแจ้ง   แต่สุดท้ายเมื่อศาลมีคำพิพากษาตัดสินมา เรื่องคลี่คลายไป ถามว่าคนที่กล่าวหาเจ้าหน้าที่วันนั้น ก็ไม่ได้ออกมาแสดงความรับผิดชอบอะไร นี่คือตัวอย่าง

 

ย้ำขอให้อดทนรอ คนไม่ตรวจมีสิทธิตาม ป.วิอาญา

พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติอธิบายเพิ่มเติมว่า  อยากให้อดใจ อดทนรอ บางคนก็บอกว่าตั้งคำถามตั้งนานแล้วไม่มีคำตอบ บางทีก็ตอบไปแล้ว แต่ว่าเขาอาจไม่รับทราบ ไม่ได้รับฟัง เมื่อ 2-3 วัน  ผมดูข่าว เรื่องตรวจเลือด บอกว่าตรวจกัน 3 คน ทำไมที่เหลือไม่ตรวจเพราะอะไร ผมก็เข้าใจว่าเรื่องนี้ชี้แจงไปหลายรอบแล้ว

พี่น้องสื่อฯ ไม่แน่ใจว่ามีข้อมูลหรือไม่ ผมก็ตาม ผบช.ภ.1 ว่า เราชี้แจงไปหลายครั้งแล้ว ทำไมยังมีคำถามอยู่ เขาก็บอกว่า คดีนี้ตรวจเลือด 4 คน ไม่ใช่ 3 คน อีกคนที่ไม่ให้ตรวจ เขาใช้สิทธิของเขา ท่านก็ต้องไปเปิดกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 13 บอกอยู่แล้วว่าการตรวจเลือดต้องยินยอม ในคดีที่โทษเกิน 3 ปี ถ้าไม่ยินยอม ก็มีข้อสันนิษฐาน ที่ต้องว่าไป อันนี้เป็นรายละเอียดในคดีที่ยกตัวอย่างให้ฟัง

 

พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)ยังฝากถึงพี่น้องประชาชน  โดยระบุว่า  ตำรวจไม่มีตั้งธง การสืบสวนไม่เคยมีตั้งธง  การตัดสิน หรือตั้งสมมติฐาน หรือสรุปความเห็นของพนักงานสอบสวน ตามพยานหลักฐานที่มี  เท่าที่หาได้ เขาตั้งคำถาม เช่นตั้งคำถามว่าแผลนี้ถูกใบพัดเรือหรือเปล่า เป็นการตั้งคำถาม ส่วนจะเห็นเป็นอย่างไรเป็นอีกเรื่อง

 

สมมติว่าในที่เกิดเหตุเจอมีดสักเล่มหนึ่ง ก็ต้องตั้งคำถามว่าเข้ากับมีดไหม หรือเจอขวานสักอันหนึ่ง แต่ถามว่ามันมีไหมล่ะครับ อันนี้ยกตัวอย่างให้ฟัง ซึ่งประเด็นพวกนี้ ผมไม่อยากถกเถียงแบบนี้ มันไม่จบหรอก ประเด็นนี้มาก็ไปประเด็นโน้นประเด็นนั้น”

 

 

ย้ำ กระบวนการยุติธรรมมีขั้นตอน

“ กระบวนการยุติธรรมเขาให้มีกระบวนการมีขั้นตอนอยู่ สุดท้ายไปว่าในชั้นศาล ซึ่งการพิจารณาคดีในชั้นศาลมีกฎเกณฑ์ กติกา แต่โลกโซเชียล ไม่มีกติกา เป็นพวกมากลากไป  หรือบางครั้งการชี้แจงก็เข้าไม่ถึง มันมีความสลับซับซ้อนของมัน หรือการตั้งข้อสังเกตกันไป ทุกคดีมีการตั้งข้อสังเกต ข้อสงสัยเยอะแยะไปหมด แต่ถ้าจะคุยต้องคุยทุกประเด็น รวมๆ กันไป ต้องเอาหลักฐานทุกชิ้นมาดู ไม่ใช่เอาชิ้นเดียวมาดู  แต่หลายคนคงไม่เข้าใจ”

การตัดสินเรื่องนี้ไม่มีวิดีโอเห็นตอนตกน้ำ  ทุกคนมีข้อสงสัย ผมก็สงสัยว่าอยู่ดีๆ ไปฉี่แล้วพลัดตกเรือ  แต่ตำรวจไม่ได้เริ่มจากเชื่อหรือไม่เชื่อ  แต่เริ่มจากเป็นไปได้หรือไม่ได้  เหล่านี้ก็ต้องนำมารวม ๆ กันแล้วชั่งน้ำหนัก แล้วสรุปภายใต้หลักฐานที่มีในมือ

 

“ในหลักการการ ขอให้เป็นไปตามกระบวนการ  ส่วนผู้เชี่ยวชาญ หรือไม่เชี่ยวชาญเห็นด้วยหรือไม่ขอให้เดินตามกระบวนการ ท่านไม่ถูกใจ ท่านคิดว่ามีขบวนการทุจริต ท่านแจ้งความเราก็ยินดีสอบสวน แม้กระทั่งจะแจ้งความผม ผมก็ไม่มีปัญหาอะไร ว่าไปตามกระบวนการ ข้อกฎหมาย พนักงานสอบสวนสวนก็มีอิสระของเขา อยากทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนด้วย ตอนนี้เข้าใจผิด  ตรงนั้นตรงนี้ บางเรื่องชี้แจ้งไปแล้วแต่ไม่ถูกใจ   จึงยังวนซ้ำๆ  ก็ไม่เป็นไร  เพราะไม่มีทางหรอกครับที่จะทำให้ทุกคนพอใจได้ ตำรวจตอบคำถามทุกคำถามไม่ได้ ไม่ใช่ว่าไม่รู้ แต่มันขึ้นอยู่กับว่า ตอบไปแล้ว มีคนได้คนเสียในชั้นพิจารณาคดีของศาล ตอบไปแล้ว มีคนได้เปรียบเสียเปรียบ ตอบไม่แล้วไม่เคลียร์เพราะเชื่อมโยงหลายประเด็น ถ้าตอบต้องตอบ 20 ประเด็นรวมกัน แบบนี้ตอบเรื่องเดียว ก็จะมีทำไมไม่อย่างนั้น อย่างนี้ ไม่จบหรอกครับ ขอให้อดทนรอ”

 

ขอให้เชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรม-ยินดีสอบเพิ่มหากอัยการสั่ง

 

นอกจากนี้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยังระบุด้วยว่า   ถ้าท่านเชื่อมั่นในระบบ ขอให้ระบบมันทำงานก่อน ถ้ายังไม่พอใจกัน เดี๋ยวมาว่ากัน ว่าจะเอายังไงกันต่อ ตอนนี้อยู่ในชั้นอัยการก็ให้ความเคารพท่าน

 

ตอนนี้ทราบว่าพนักงานสอบสวนได้ส่งคืนสำนวนที่อัยการสั่งสอบเพิ่มเติมให้ทางพนักงานอัยการแล้ว เชื่อว่าคงมีประเด็นเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ต้องให้ขยายความ สอบเพิ่มเติม จากการพูดคุยซักถาม อาจจะมีอีก หากอัยการสั่งสอบเพิ่มเติมเราก็ยินดีจะทำให้ ซึ่งตรงนี้เป็นเอกสิทธิ์ของพนักงานอัยการว่าจะให้ดำเนินการอย่างไร ขอให้กระบวนการมันดำเนินไป ส่วนคนที่คิดว่ามีขบวนการชั่วร้ายอะไร ท่านก็ว่าไป ท่านจะไปกล่าวโทษตรงไหน พนักงานสอบสวนก็จะสอบให้ ไม่มีปัญหาอะไร ขอให้เดินไปตามหลักการนี้ ถึงวันหนึ่งจะคลี่คลายไปเอง เหมือนคดีที่ผมยกตัวอย่างให้ฟัง วันนี้ศาลตัดสินลงโทษประหารไปหมดแล้ว ก็ไม่เห็นมีใครมาพูดอะไรเลย ก็ขอให้เข้าใจว่ามันเป็นปรากฏการณ์ระยะหนึ่งของสังคมไทย”

 

ตำรวจทุกคนเป็นลูกน้อง ผบ.ตร.

ต่อข้อถาม นายอัจฉริยะ ระบุถึง พล.ต.ต. ว. ที่ทำคดีว่า เป็นสายตรงผบตร.นั้น พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า  ผมเป็นผู้บังคับบัญชาตำรวจ 2 แสนกว่าคน ทุกคนเป็นลูกน้องทั้งนั้น ทุกคนมีเหตุมีผลส่วนตัวของเขา เขามีหน้าที่เขาก็ทำไป ถ้าเห็นว่าเขาทำไม่ถูกต้องก็ว่าไป

 

 เช่นเดียวกับ คลิปที่นายอัจฉริยะ เอามาแถลงนั้น  ก็ต้องตรวจสอบ ว่าหลุดมาได้อย่างไร มีการบกพร่องหรือไม่ ซึ่งพล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ บอกแล้วว่ามีกระบวนการตรวจสอบอยู่ สั่งให้ตรวจสอบหลายเรื่องไม่ใช่เรื่องเดียว

ตำรวจใจกว้าง -คำนึงถึงผลกระทบต่อสำนวน

พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ถามว่า หลายครั้งที่นายอัจฉริยะกล่าวหาตำรวจช่วยเหลือผู้ถูกกล่าวหา   ผบ.ตร. กล่าวว่า พูดหลายครั้งการจะไปฟ้องร้องดำเนินคดีกับคนนั้นคนนี้ต้องมีเหตุให้ดำเนินคดีได้ตามกฎหมายก่อน ว่าเขาทำผิดตามที่ร้องทุกข์หรือไม่  ซึ่งตำรวจต้องใจกว้าง ให้โอกาสร้องทุกข์ได้  โดยต้องพิจารณาดูเจตนา  ที่สำคัญต้องดูว่า ใครก็ตามที่ทำลงไป ส่งผลได้ผลเสียกับการดำเนินคดีอาญา หรือมีคนได้เปรียบเสียเปรียบ หรือ ทำให้คดีอาญาเสียหาย  กรณีเป็นอย่างนี้ตำรวจไม่ทำ ก็ไม่ได้  เหล่านี้เป็นเทคนิคทางกฎหมาย  ไม่เช่นนั้น เดี๋ยวมีใครไปอ้างว่าพนักงานสอบสวนรับข้อเท็จจริงตรงนั้น ใช่ไหม แล้วอย่างนี้จะทำอย่างไร ดังนั้นก็ต้องยืนหลักในหลักการ

 

ต่อข้อถาม กรณีกล่าวหาให้เสียหายนั้น  สามารถแจ้งหมิ่นประมาทได้หรือไม่ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า การดำเนินคดีหมิ่นประมาทส่วนบุคคล เป็นเรื่องที่ห้ามไม่ได้ ที่เขาจะใช้สิทธิส่วนตัว ในฐานะของตำรวจต้องเลือก ถ้าไม่ทำมันจะเสียหาย ก็ต้องทำ  แต่เรื่องส่วนบุคคลไปยุ่งไม่ได้