‘ในหลวง-พระราชินี’ ทรงเปิดสวนป่าเบญจกิติระยะ 2-3 ณ สวนสาธารณะเบญจกิติ

03 ส.ค. 2565 | 22:04 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ส.ค. 2565 | 16:52 น.
3.0 k

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว-สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินิ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดสวนป่าเบญจกิติ ระยะที่ 2-3 ณ สวนสาธารณะ เบญจกิติ ถนนรัชดาภิเษก

เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 3 ส.ค. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดสวนป่าเบญจกิติ ระยะที่ 2-3 ณ สวนสาธารณะ “เบญจกิติ” ถนนรัชดาภิเษก เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร

‘ในหลวง-พระราชินี’ ทรงเปิดสวนป่าเบญจกิติระยะ 2-3  ณ สวนสาธารณะเบญจกิติ

โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมข้าราชการ เฝ้าฯ รับเสด็จ

‘ในหลวง-พระราชินี’ ทรงเปิดสวนป่าเบญจกิติระยะ 2-3  ณ สวนสาธารณะเบญจกิติ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย ทรงศีล พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตร

จากนั้นเสด็จออกจากพลับพลาพิธี ไปยังแท่นพิธี ทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้ายสวนเบญจกิติ โดยถ่ายทอดผ่านจอมอนิเตอร์ แล้วเสด็จเข้าพลับพลาพิธี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์ ประทับพระราชอาสน์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงหลั่งทักษิโณทก

‘ในหลวง-พระราชินี’ ทรงเปิดสวนป่าเบญจกิติระยะ 2-3  ณ สวนสาธารณะเบญจกิติ

พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวาย เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก และเหรียญเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง (เหรียญที่ระลึกประดับแพรแถบ) ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี จำนวนละ 1 ชุด

 

ต่อมาเสด็จออกจากพลับพลาพิธี ไปยังบริเวณจัดนิทรรศการ “สวนป่าเบญจกิติ” ทอดพระเนตรนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของสวนป่า ระยะที่ 2-3 ในสวนสาธารณะ “เบญจกิติ” แล้วเสด็จออกจากบริเวณจัดนิทรรศการฯ ไปยังบริเวณฉายพระบรมฉายาลักษณ์ ฉายพระบรมฉายาลักษณ์ พร้อมสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และคณะกรรมการจัดงานฯ จำนวน 3 ชุด

‘ในหลวง-พระราชินี’ ทรงเปิดสวนป่าเบญจกิติระยะ 2-3  ณ สวนสาธารณะเบญจกิติ


จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปยังที่ปลูกต้นไม้ แล้วทรงปลูกต้นรวงผึ้ง จำนวน 1 ต้น เมื่อสมควรแก่เวลาเสด็จฯ ไปประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จออกจากสวนสาธารณะ “เบญจกิติ” กลับพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต


โครงการจัดสร้างสวนป่าเบญจกิติ ระยะที่ 2-3 ดำเนินการออกแบบภายใต้แนวคิดในการสืบสานพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการปลูกป่าในใจคน ด้วยการเป็นสวนป่าสำหรับ คนเมือง (Urban Forest) ที่เชื่อมโยงและเอื้อต่อการเข้ามาทำกิจกรรมและใช้ประโยชน์ในวิถีชีวิตของคนเมือง

 

เป็นแหล่งเรียนรู้มีชีวิต ที่สร้างความผูกพันและสำนึกรักในคุณค่าของป่า น้ำ ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อนำไปสู่การมีส่วนร่วม และสำนึกหวงแหนดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมอย่างยั่งยืน

 

ทั้งนี้ ในการออกแบบได้เน้นให้มีพื้นที่สวนป่ามากที่สุด มีพื้นที่ป่าและพื้นที่น้ำร้อยละ 85 โดยปลูกต้นไม้เพิ่ม ในพื้นที่โครงการฯ กว่า 7,000 ต้น มีพรรณไม้ประมาณ 350 ชนิด ทั้งไม้ใหญ่ ไม้พุ่ม ไม้คลุมดิน และไม้น้ำ และเพื่อให้สวนป่าแห่งนี้สามารถดำรงอยู่ได้ด้วยตนเอง จึงได้ออกแบบให้มีบึงน้ำจำนวน 4 บึง สามารถ กักเก็บน้ำได้ถึง 128,000 ลูกบาศก์เมตร ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานครต่อไปในอนาคต

‘ในหลวง-พระราชินี’ ทรงเปิดสวนป่าเบญจกิติระยะ 2-3  ณ สวนสาธารณะเบญจกิติ
สำหรับการบริหารจัดการน้ำในโครงการได้ใช้ระบบบำบัดน้ำแบบบึงประดิษฐ์ โดยใช้กระบวนการทางธรรมชาติของระบบรากพืชชุ่มน้ำ และได้ออกแบบบ่อดักตะกอน ซึ่งเป็นจุดแรกในการรับน้ำจากคลองไผ่สิงโต มีสารแขวนลอยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบำบัดช่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำจากคลองไผ่สิงโต เพื่อนำมาใช้รดน้ำต้นไม้ในโครงการ

 

อีกทั้งมีเส้นทางเดิน ทางวิ่ง ทางจักรยาน ระยะทางรวม 4 กิโลเมตร มีทางเดินศึกษาธรรมชาติลัดเลาะไปตามต้นไม้ใหญ่และบึงน้ำ มีการออกแบบทางเดินลอยฟ้า (Sky Walk) ความสูง 5-8 เมตร ที่สามารถมองเห็นมุมมองในระยะสูงเป็นอีกหนึ่งจุดไฮไลต์ของสวนที่สามารถให้ทุก ๆ คน เดินเชื่อมไปยังส่วนอื่น ๆ ของพื้นที่สวนป่าได้ ในส่วนของงานสถาปัตยกรรม ได้ออกแบบอาคารโรงงานผลิตยาสูบเดิมให้เป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต การเรียนรู้ที่หลากหลาย


มีพื้นที่สำหรับการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สำหรับอาคารโกดังเดิม จำนวน 3 หลัง ได้ปรับปรุงเป็นอาคารกีฬา และได้เปิดพื้นที่กลางอาคารทั้ง 4 หลัง ให้โปร่งโล่ง และปลูกต้นไม้เพิ่มกลางอาคารโดยใช้แนวคิดออกแบบอาคารเขียว เป็นพื้นที่ที่ประชาชนได้ใช้ทำกิจกรรมร่วมกัน โดยสวนป่าแห่งนี้ เป็นสวนที่แสดงให้เห็นถึงการน้อมนำพระราชดำริมาพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์กับปวงชนชาวไทย ที่สร้างการตระหนักรู้ถึงการอยู่ร่วมกันระหว่าง คน สัตว์ ป่า การอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ที่เกื้อกูลซึ่งกันและกัน

 

สวนแห่งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ประชาชนชาวไทยได้มีส่วนร่วมแสดงความจงรักภักดีแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 ที่จะมาถึงนี้ และกรมธนารักษ์ คาดหวังว่า สวนป่าแห่งนี้จะช่วยให้กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองแห่งความสุขต่อไปได้