กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2565 (NSTDA Annual Conference: NAC2022)
ภายใต้แนวคิด “พลิกฟื้นเศรษฐกิจและสังคมไทย ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม BCG” (Revitalizing Thai Economy through BCG Research and Innovation) ณ อาคารศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 17 ระหว่างวันที่ 28 -31 มีนาคม 2565 บนแพลตฟอร์มออนไลน์เต็มรูปแบบผ่านเว็บไซต์ www.nstda.or.th/nac โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดธัญบุรี ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานี คณะผู้บริหารกระทรวง อว. นักวิจัยและพนักงาน สวทช. ร่วมรับเสด็จฯ
ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กราบบังคมทูลรายงานว่า สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. มีการดำเนินงานตามพันธกิจที่มุ่งสร้างเสริมการวิจัย พัฒนา ออกแบบ และวิศวกรรม จนสามารถถ่ายทอดไปสู่การใช้ประโยชน์
พร้อมส่งเสริมด้านการพัฒนากำลังคน และโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ได้พัฒนาผลงานวิจัยที่ได้ใช้ประโยชน์จริงต่อเกษตรกรและชุมชน ต่อภาคอุตสาหกรรม และสาธารณชนทั่วไป อย่างต่อเนื่อง
โดยในปีงบประมาณ 2564 ที่ผ่านมา สวทช. มีผลงานโดยสรุป ได้แก่ บทความตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ 738 บทความ จำนวนทรัพย์สินทางปัญญาที่มีการใช้ประโยชน์ 433 รายการ มูลค่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศที่เกิดจากการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ 73,692 ล้านบาท มูลค่าการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในภาคการผลิตและภาคบริการ 25,224 ล้านบาท สนับสนุนนักศึกษาปริญญาโทและเอก และนักวิจัยหลังปริญญาเอก ให้ร่วมทำงานวิจัยกับ สวทช. 739 คน และมีเกษตรกรที่นำผลงานวิจัยและองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ 9,213 คน
สำหรับแนวคิดของการประชุมประจำปี สวทช. ในปีนี้ นั้น ตามที่ นายกรัฐมนตรีได้ประกาศให้ระบบเศรษฐกิจแบบ BCG (Bio-Circular-Green Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว) เป็นวาระแห่งชาติ โดยประกาศเป้าหมายให้ BCG เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยให้มีความเข้มแข็ง และประชาชนมีรายได้สูงขึ้น
ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วย BCG ประกอบด้วย 4 แผนยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1. เกษตรและอาหาร 2. สุขภาพและการแพทย์ 3. พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ และ 4. การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของประเทศไทยในฐานความหลายหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมของประเทศไทย สวทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ร่วมขับเคลื่อนนโยบาย BCG ร่วมกับทุกกระทรวงและทุกหน่วยงาน
ทั้งนี้สวทช. จึงได้จัดงานประชุมวิชาการประจำปี 2565 ออนไลน์เต็มรูปแบบทางเว็บไซต์ www.nstda.or.th/nac โดยนำเสนอองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ส่งเสริมการพัฒนาระบบเศรษฐกิจ BCG เพื่อสื่อสารให้กลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนักวิชาการ ผู้ประกอบการ ภาครัฐ ภาคเอกชน เด็กและเยาวชน และประชาชนทั่วไปให้ได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึง
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กราบบังคมทูลเบิกคณะนักวิจัยทุนนักวิจัยแกนนำประจำปี 2562 และ 2563 ผู้ชนะเลิศการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทยและการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ครั้งที่ 22,23 และ 24 และผู้ชนะเลิศการแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์แห่งประเทศไทยครั้งที่ 12 และ 13 เข้ารับพระราชทานเกียรติบัตร
จากนั้นสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำรัสเปิดการประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2565 และทรงตัดแถบแพรเปิดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ “สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี กับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย” และนิทรรศการความก้าวหน้าทางงานวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของ สวทช.
อาทิ โครงการส่งเสริมการเรียนรู้เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก, โครงการสมุนไพรรักษ์น้ำ, โครงการส่งเสริมการเรียนการสอนโค้ดดิ้งสำหรับนักเรียนพิการ, โรงพยาบาลสนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรเพื่อคนพิการ
ด้านยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างทั่วถึงบนฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านการแสดงผลงานวิจัยโดยนักวิจัยไทย
าทิ กลุ่มเกษตรและอาหาร ได้แก่ “Plant-based egg” ผลิตภัณฑ์ไข่เหลวจากโปรตีนพืช ทีมวิจัย ไบโอเทค และบริษัท ดรอปแอนด์พิค กรุ๊ป จำกัด ได้ร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ไข่เหลวพาสเจอร์ไรซ์จากโปรตีนพืชครั้งแรกของไทยที่มีคุณสมบัติในการขึ้นรูปในระหว่างการทอดในน้ำมันได้ และเนื้อสัมผัส ใกล้เคียงกับไข่ไก่ นำไปใช้ประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู เหมาะสำหรับผู้บริโภคกลุ่มกินวีแกน(Vegan) และผู้ที่แพ้ไข่ไก่ และชุดตรวจแบบรวดเร็วในรูปแบบ strip test
สำหรับตรวจวินิจฉัยเชื้อไวรัสใบด่างมันสำปะหลัง สามารถพกพาไปใช้ในภาคสนาม โดยไม่ต้องเก็บตัวอย่างส่งมาตรวจยังห้องปฏิบัติการ ทราบผลได้ภายใน 15 นาที และตรวจสอบได้เองโดยไม่ต้องอาศัยผู้ชำนาญการและเครื่องมือวัดอ่านผล ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการตรวจคัดกรองและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังในประเทศไทย รวมถึงการตรวจหาเชื้อในขั้นตอนต่างๆ ของกระบวนการผลิตต้นพันธุ์ปลอดเชื้อ
กลุ่มสุขภาพและการแพทย์ ได้แก่ เทคโนโลยี Pseudotype virus (ไวรัสตัวแทน) สำหรับประเมินประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 ซึ่งนักวิจัยไบโอเทค สวทช. ผลงานพัฒนาสำเร็จและได้ใช้งานจริงเพื่อประเมินประสิทธิภาพของวัคซีนกับโครงการวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทย เทคโนโลยีไมโครนีดเดิล: แผ่นเข็มจิ๋วที่ออกแบบได้ตามสั่งผลิตได้อย่างรวดเร็วบนผืนผ้า โดยประยุกต์ใช้โครงสร้างคล้ายเข็มขนาดเล็ก ที่มีปลายเข็มขาดเล็กกว่า 10 ไมโครเมตร (เล็กกว่าเส้นผมเกือบสิบเท่า) สร้างช่องทางนำส่งสารสำคัญผ่านชิ้นผิวหนังได้ง่าย ไม่ทำให้เจ็บเรือเกิดรอย มีศักยภาพในการใช้งานด้านสุขภาพความงามและสามารถต่อยอดสู่ด้านการแพทย์เพื่อนำส่งยาเวชภัณฑ์ หรือ วัคซีนได้ และ เครื่อง BodiiRay P (บอดีเรย์ พี) เครื่องเอกซเรย์ดิจิทัลสองมิติ (Portable Digital Radiography) ที่วิจัยและพัฒนาโดยทีมวิจัยระบบสร้างภาพทางการแพทย์ ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ สวทช. ใช้สำหรับเอกซเรย์อวัยวะภายในแบบสองมิติ เครื่องมีขนาดเล็กและสะดวกในการเคลื่อนย้ายไปใช้งานในที่ต่าง ๆ ประกอบด้วยเครื่องกำเนิดเอกซเรย์ ฉากรับรังสีดิจิทัลแบบไร้สาย คอมพิวเตอร์แบบพกพา ซอฟต์แวร์บริหารจัดการข้อมูลผู้ป่วยและจัดเก็บภาพถ่ายเอกชเรย์ ตั้งค่าและควบคุมการถ่ายเอกชเรย์ ประมวลผลภาพ และแสดงภาพเอกซเรย์แบบดิจิทัล (RadiView Software) โดยสามารถเชื่อมต่อกับระบบจัดเก็บสื่อสารข้อมูลภาพทางการแพทย์ (PACS) ได้
กลุ่มพลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ถุงมือยางธรรมชาติโปรตีนต่ำ ซึ่งนักวิจัยเอ็มเทค สวทช. ลดปริมาณโปรตีนที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ในผลิตภัณฑ์ถุงมือยางธรรมชาติให้มีปริมาณโปรตีนที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้น้อยเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน ช่วยยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ถุงมือยางธรรมชาติให้สามารถแข่งขันได้กับผลิตภัณฑ์ถุงมือยางสังเคราะห์
กลุ่มดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีความเป็นจริงเสริมAR/VR Technology สำหรับการออกแบบผลิตภัณฑ์เชิงวิศวกรรม เป็นการนำเทคโนโลยีความจริงเสมือน หรือ เอ-อาร์ (AR) และเทคโนโลยีความจริงเสมือนหรือ วี-อาร์ (VR) มาประยุกต์ใช้ในการออกแบบและวิจัยเชิงวิศวกรรม รวมถึงสร้างสื่อการเรียนรู้ให้แก่นักศึกษา แบบ New Normal Schools ที่สามารถจัดการศึกษาและการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง มีคุณภาพ เข้าถึงทุกกลุ่มวัยสามารถเรียนรู้ได้จากทุกที่ ทุกเวลา
จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรผลการดำเนินงานของ ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ : (National Biobank of Thailand หรือ NBT) หนึ่งในหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (National Science and Technology Infrastructure: NSTI) จัดตั้งขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2562 โดยได้รับการสนับสนุนครุภัณฑ์จากโครงการ Big Rock ของรัฐบาลในปี พ.ศ. 2561 เพื่อทำให้ประเทศมีศักยภาพในการอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพของประเทศ มีกระบวนการจัดเก็บที่มีมาตรฐานสากล และใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อช่วยทำให้คงสภาพการมีชีวิตได้อย่างยาวนานประหยัดค่าใช้จ่ายและค่าแรงในการดูแลรักษา และสามารถนำกลับมาฟื้นฟูได้เมื่อเกิดภาวะวิกฤติ โดยทรัพยากรชีวภาพที่นำมาฝากกับ NBT ยังคงเป็นของผู้นำฝากอยู่เสมอ
ทั้งนี้ในปัจจุบัน NBT ได้มีโครงการอนุรักษ์ร่วมกับพันธมิตรวิจัยและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อาทิ ตัวอย่างพืชและจุลินทรีย์ที่ได้จากโครงการวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพของป่าชายเลน ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตัวอย่างจุลินทรีย์ที่ได้จากการสำรวจถ้ำในอุทยานธรณีสตูลที่ได้ขึ้นทะเบียนกับ UNESCO และความร่วมมือในการอนุรักษ์พืชกับทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และ Royal Botanic Gardens Kew สหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นธนาคารเมล็ดที่มีการเก็บรวบรวมเมล็ดพันธุ์พืชป่า พร้อมองค์ความรู้มากที่สุดในโลก เพื่อสนับสนุนการวิจัยและอนุรักษ์พรรณไม้ในรูปแบบของธนาคารเมล็ดให้มีมาตรฐานระดับนานาชาติ
โอกาสนี้ทอดพระเนตรการสาธิตนิทรรศการภาพเสมือน (NBT virtual tour) ซึ่งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ NBT มีโครงการความร่วมมือจัดทำ NBT Virtual Tour เป็นการสร้างโลกเสมือนจริงคู่ขนานของ NBT โดยทำการจำลองห้องปฏิบัติการและพื้นที่ปลอดเชื้อต่าง ๆ ภายใน NBT ให้ผู้ที่สนใจทั่วไปได้เข้าเยี่ยมชมและศึกษาเพิ่มเติมผ่านสื่อออนไลน์ โดยการสาธิต NBT Virtual Tour ครั้งนี้ มีการนำเสนอห้องปฏิบัติการธนาคารเมล็ดพรรณพืช ให้ผู้ที่เข้าชมสามารถหยิบเมล็ดจำลองที่อยู่บนโต๊ะขึ้นมาดูได้ พร้อมเปิดดูข้อมูลชื่อวิทยาศาสตร์ แหล่งที่พบตัวอย่างดังกล่าว และยังสามารถกดเข้าชมพื้นที่จำลองของแหล่งที่พบตัวอย่างเมล็ดพันธุ์ได้
ภายในงานประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ระหว่างวันที่ 28 - 31 มีนาคม 2565 นี้ จัดออนไลน์เต็มรูปแบบในทุกกิจกรรม ประกอบด้วย สัมมนาออนไลน์ 45 หัวข้อ นิทรรศการออนไลน์ 102 เรื่อง และกิจกรรม Open House หรือ การเปิดห้องปฏิบัติการแบบออนไลน์ ซึ่งนักอุตสาหกรรม พันธมิตรและนักลงทุนที่สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมเทคโนโลยีจากศักยภาพของบุคลากรวิจัยของ สวทช. 45 ห้องปฏิบัติการ จำนวน 60 เรื่อง ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมงานโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ผ่านทางเว็บไซต์ www.nstda.or.th/nac เท่านั้น