"รถไฟฟ้าสายสีเหลือง" ฟันหลอ ประชาชนเสียประโยชน์ รฟม.เสียรายได้

03 ต.ค. 2566 | 14:27 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ต.ค. 2566 | 21:34 น.
3.9 k

"รถไฟฟ้าสายสีเหลือง" ฟันหลอ รฟม.พับแผนก่อสร้างส่วนต่อขยาย ช่วงลาดพร้าว-รัชโยธิน 2.6 กิโลเมตร ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ชี้ประชาชนเสียประโยชน์ รฟม.เสียรายได้ แนะเจรจา EBM ก่อสร้างเพิ่ม

จากรณีที่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ออกมาเปิดเผยผ่าน นายภคพงศ์  ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. ถึงแผนก่อสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-รัชโยธิน ระยะทางประมาณ 2.6 กิโลเมตรว่า ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เนื่องจากข้อเสนอของผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) ได้หมดระยะเวลาข้อเสนอดังกล่าวแล้ว เพราะข้อเสนอของ EBM ระบุว่าโครงการนี้จะต้องดำเนินการก่อนเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง 

ฐานเศรษฐกิจ สัมภาษณ์พิเศษ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะที่เป็นผู้แนะนำใหก่อสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ดร.ให้ความเห็นว่า

"การไม่ทำส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเหลืองนั้น ผู้โดยสารคือผู้ที่เสียประโยชน์ ทั้งการเสียเวลาในการเดินทางและเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพิ่มขึ้น หากต้องลงที่แยกรัชดา เพื่อต่อ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เพื่อเดินทางเข้าเมือง ไปทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ,สะพานใหม่ หรือวัดพระศรีมหาธาตุต่อไป หรือออกนอกเมือง ในขณะที่ รฟม.เอง อาจเสียหายในภาพรวม โดยการมีจำนวนผู้โดยสารไม่เป็นไปตามเป้าหมาย"

ดร.สามารถกล่าวต่อไปว่า การที่รฟม. พับแผนการก่อสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเหลืองถือเป็นเรื่องน่าเสียดาย  เพราะหากดำเนินการต่อส่วนขยายเพียงแค่ไม่ถึง 3 กิโลเมตร จะทำให้มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากได้ถึง 70,000 - 100,000 คน/ วัน เพราะในปัจจุบันจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีเหลืองนั้นถือว่ามีจำนวนไม่มาก

แม้ในปัจจุบันจะมีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินรองรับการเดินทางอยู่แล้วก็ตาม แต่ทำให้เกิดความไม่สะดวกสบายแก่ผู้โดยสาร ทั้งยังเสียเวลาและต้องเสียค่าโดยสารเพิ่มเติมจากการข้ามสาย 

สำหรับเงื่อนไข ของการพับแผนก่อสร้างส่วนต่อขยายที่ รฟม. ระบุว่าเกิดจาก เงื่อนไขของการเสนอแผนดำเนินการที่ต้องทำให้แล้วเสร็จก่อนเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองนั้น ดร.สามารถมองว่า รฟม. ควรเจรจากับทาง EBM ถึงความเป็นไปได้ ที่จะให้ภาคเอกชนดำเนินการในส่วนต่อขยายดังกล่าวนี้ เพราะ EBM ได้มีการยื่นข้อเสนอดำเนินการส่วนต่อขยายให้แก่ รฟม.แล้วแต่ไม่ได้มีการดำเนินการให้ทันเวลา

รถไฟฟ้าสายสีเหลือง

ซึ่งการมีส่วนต่อขยายสายสีเหลืองนี้ จะส่งผลกระทบต่อรายได้ของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินด้วยหรือไม่นั้นคือคำถามที่ ดร. ฝากไว้ให้พิจารณา แต่หากมีผลกระทบจริง รฟม. ต้องเจรจากับ EBM และผู้รับสัมปทานสายสีน้ำเงิน ว่าจะมีการชดเชยกันอย่างไร

ผลประโยชน์ที่จะได้มา และเกิดกับประชาชน จะคุ้มค่ากว่าการชดเชยหรือไม่ เชื่อว่าหากมีส่วนต่อขยายสายสีเหลืองก็ไม่น่าส่งผลให้ จำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินลดลงมากนัก

รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ฟันหลอ

ในตอนท้าย ดร.สามารถกล่าวถึง การดำเนินการของรถไฟฟ้าในขณะนี้ว่า ต้องพิจารณาถึงนโยบายรัฐบาลคือรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ซึ่งถือเป็นนโยบายที่ทำให้ต้องมีการจ่ายเงินชดเชยให้กับเอกชนผู้ได้รับสัมปทาน ประมาณ 10,000 ล้านบาท 

ดังนั้นการตั้งเป้าหมายว่าจะคืนทุนในการดำเนินการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองของ รฟม. จึงถือว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก และแม้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จะเป็นหน่วยงานที่วางแผนเรื่องเส้นทางของรถไฟฟ้า แต่ก็เป็นแผนแม่บทซึ่งเป็นแผนแบบหยาบๆ ไม่ได้ลงรายละเอียดมาก จึงอาจมีข้อบกพร่องในเส้นทางที่เกิดฟันหลอ และยังไม่ได้มีการศึกษาเรื่องค่าโดยสารร่วมกัน ตามนโยบายของรัฐบาลเช่นนี้