ข่าวดี รถไฟฟ้าสายสีแดงเพิ่มความถี่เหลือ 10 นาที เริ่ม 15 ส.ค.

13 ส.ค. 2566 | 11:31 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ส.ค. 2566 | 11:33 น.

รถไฟฟ้าสายสีแดง ปรับเวลาเดินรถเร็วขึ้น เที่ยวแรก 05.00 น. จากเดิม 05.30 น. พร้อมเพิ่มความถี่เร็วขึ้น จาก 15 เหลือ 10 นาที เริ่ม 15 ส.ค.นี้ หลังผู้ใช้บริการพุ่ง

นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2566  บริษัทฯ จะปรับเวลาเปิดให้บริการเร็วขึ้น จากเดิมเปิดให้บริการในเวลา 05.30 น. เปลี่ยนเป็นเปิดให้บริการในเวลา 05.00 น. เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้บริการที่เพิ่มมากขึ้น และสามารถรองรับผู้ที่เดินทางโดยสายการบินต่างๆที่จะเดินทางมาถึงสนามบินดอนเมืองในช่วงเช้ามืด หรือไฟลท์แรก ใช้รถไฟฟ้าเดินทางสู่สนามบิน

นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด

นอกจากนี้ จะปรับเพิ่มความถี่ในการให้เดินรถให้เร็วขึ้น เพื่อลดเวลาในการรอคอยขบวนรถไฟฟ้า รวมถึงช่วยดึงดูดผู้โดยสารให้มาใช้บริการเพิ่มขึ้นอีกด้วย ซึ่งจากผลสำรวจความพึงพอใจของผู้โดยสารก็มีความต้องการให้รถไฟฟ้าสายสีแดงปรับเพิ่มความถี่ให้เร็วขึ้นด้วย

สายเหนือ (ธานีรัถยา) ช่วงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ - รังสิต

  • ในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน (Peak) เช้า เวลา 07.00 - 09.30 น และเย็นเวลา 17.00 - 19.30 น. จะปรับเพิ่มความถี่จากเดิม 12 นาทีต่อขบวน เป็น 10 นาทีต่อขบวน
  • นอกชั่วโมงเร่งด่วน (Off Peak) จะปรับเพิ่มความถี่จากเดิม 20 นาทีต่อขบวน เป็น 15 นาทีต่อขบวน

สายตะวันตก (นครวิถี) ช่วงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ - ตลิ่งชัน

  • ในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน (Peak) ให้บริการความถี่เท่าเดิมที่ 20 นาทีต่อขบวน แต่จะปรับเพิ่มความถี่ในช่วง
  • นอกชั่วโมงเร่งด่วน (Off Peak) จากเดิม 30 นาทีต่อขบวน เป็น 20 นาทีต่อขบวน

ทั้งนี้ สายตลิ่งชันยังมีข้อจำกัด การเพิ่มความถี่ เนื่องจาก ยังมีการใช้ทางร่วมการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)

ปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีแดงมีผู้โดยสาร ใช้บริการ เฉลี่ยวันละ 2.3 - 2.4 หมื่นคน หากเป็นวันศุกร์ผู้โดยสารจะอยู่ที่ประมาณ 2.5 หมื่นคน ส่วนในปี 67 มีการคาดการณ์ว่าผู้ใช้บริการจะเพิ่มสูงขึ้น 10% โดยมีผู้โดยสารใช้บริการรวมแล้วมากกว่า 8 ล้านคน

“ปี2565 สายสีแดงมีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ย อยู่ที่ 10,000 คนต่อวัน ขณะที่ปี 2566 คาดการณ์ว่าจะเฉลี่ยที่ 20,000 คนต่อวัน ซึ่งจากที่กรมรางศึกษา ประมาณการเติบโตผู้โดยสาร ว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณปีละ7-8% โดยในปี 2567 รฟฟท. ตั้งเป้า ประมาณผูโดยสารเติบโตที่ 15% ซึ่งเป็นความท้าทายในการดำเนินการให้บริการและเป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มความถี่ในการเดินรถ"นายสุเทพกล่าว

นอกจากนี้ จะพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆภายในระบบรถไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องเช่น สถานีดอนเมืองซึ่งเชื่อมต่อจากท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยได้หารือกับบมจ. ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท.เช่น เพิ่มป้ายสัญลักษณ์บอกทางต่างๆ แจ้งประชาสัมพันธ์การให้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดงไว้ที่บริเวณสายพานลำเลียงกระเป๋า เพื่อให้ผู้โดยสารได้รับทราบข้อมูลตารางการเดินรถ จุดเชื่อมต่อไปยังสถานที่ต่างๆ และเพิ่มข้อมูลของรถไฟฟ้าสายสีแดงในแอปพลิเคชันของ AOT

ส่วน ความคืบหน้าทางเดินลอยฟ้า (Sky Walk)ที่เชื่อมต่อกับสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างเก็บรายละเอียดและรอตรวจสอบ และทางเดินเชื่อมต่อที่สถานีหลักสี่กับรถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรีคาดว่าจะเปิดให้บริการกลางเดือนส.ค. 66 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง มีสถิติความตรงต่อเวลา ความน่าเชื่อถือ และความพร้อมของขบวนรถตั้งแต่เปิดให้บริการเชิงพาณิชย์อยู่ที่ 99.45% , 99.52% และ 100% ตามลำดับ