" ซีพี - บิ๊กซี " ครองตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ตเมืองไทย

28 เม.ย. 2566 | 15:51 น.
อัปเดตล่าสุด :28 เม.ย. 2566 | 16:12 น.
705

"โลตัส" กลุ่มซีพี และ "บิ๊กซี" (BRC) ครองตลาดค้าปลีก "ไฮเปอร์มาร์เก็ต" เมืองไทย บริษัทวิจัยดัง เผย ณ สิ้นปี 2565 สองเจ้าใหญ่ มีสาขารวมกันมากกว่า 370 แห่งทั่วประเทศ ขณะคาดปีนี้ ตลาดรวมฟื้นตัวแรง อานิสงส์ ภาคท่องเที่ยว สู้ศึกอีคอมเมิร์ซ

28 เมษายน 2566 -อุตสาหกรรมค้าปลีกในประเทศไทยเติบโตเป็นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยได้แรงหนุนจากรายได้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโควิด19 ส่งผลกระทบต่อภาคค้าปลีกไทยเป็นอย่างมาก ทำให้หลายธุรกิจปิดตัวลงชั่วคราว พบทั้งไฮเปอร์มาร์เก็ต (ร้านค้าปลีกที่รวมห้างและซูเปอร์มาร์เก็ตเข้าไว้ด้วยกัน) และห้างสรรพสินค้าประสบปัญหาอัตราการเช่าพื้นที่และค่าเช่าลดลงอย่างมาก 


ก่อนพบในช่วงครึ่งปีหลัง 2565 การเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ส่งผลต่อการฟื้นตัวของตลาดดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญ โดยห้างสรรพสินค้า มีค่าเช่าพื้นที่ค้าปลีกเพิ่มขึ้น 41% ปีต่อปี ขณะ ไฮเปอร์มาร์เก็ต 15% ปีต่อปี 

\" ซีพี - บิ๊กซี \" ครองตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ตเมืองไทย

ท่องเที่ยวหนุน ตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ต ฟื้นตัว

มร.คาร์ลอส มาร์ติเนซ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและที่ปรึกษา บริษัท ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย จำกัด  เผยว่า ตลาดค้าปลีกของไทย ได้แสดงสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยภาคการท่องเที่ยวมีบทบาทสำคัญในการฟื้นตัวครั้งนี้ ถึงแม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงต่ำกว่าระดับก่อนเกิดโรคระบาด แต่รัฐบาลไทยตั้งเป้าที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ถึง 28 ล้านคนในปี 2566 
โดยคาดว่านักท่องเที่ยวจากจีนจะมีบทบาทสำคัญเนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีการใช้จ่ายสูง การเติบโตในหมวดต่างๆ เช่น อาหารและเครื่องดื่ม การช้อปปิ้ง และความบันเทิงคาดว่าจะดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ตจะได้รับอานิสงส์จากแนวโน้มนี้

เจาะอุตสาหกรรมไฮเปอร์มาร์เก็ต ย้อนไปในช่วงโควิด กระทบไม่มาก เนื่องจากสามารถเปิดทำการได้ในช่วงล็อกดาวน์ และความสามารถในการปรับตัวอย่างรวดเร็วกับความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปโดยใช้มาตรการต่างๆ เช่น การชำระเงินแบบไร้การสัมผัส การจัดส่งถึงบ้าน และการรับ-ส่งสินค้าหลังสั่งผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อความปลอดภัยของลูกค้าและพนักงาน

" โลตัส - บิ๊กซี " ครองตลาดในไทย 

แต่สิ่งที่น่าสนใจ คือ พบว่า กลุ่มไฮเปอร์มาร์เก็ตค่อนข้างกระจุกตัวอยู่ที่ผู้เล่นหลักสองราย ได้แก่ กลุ่มซีพี ภายใต้แบรนด์ 'โลตัส' และบิ๊กซี รีเทล (BRC) ภายใต้แบรนด์ 'บิ๊กซี' โดยทั้งสองรายมีสาขารวมทั้งสิ้นมากกว่า 370 สาขาในประเทศไทยในปี 2565 

ซีพีมีจำนวนร้านค้าที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับบิ๊กซี รีเทล โดยมี 223 ร้านค้าและพื้นที่ค้าปลีก 1,056,999 ตร.ม. (NLA) ในขณะที่บิ๊กซี รีเทลมีพื้นที่ 942,130 ตร.ม. (NLA) ของพื้นที่ค้าปลีก หรือ 47% ของสต๊อกทั้งหมดในประเทศไทย ในปี 2565

หมายเหตุ : 10 ปีก่อน คาร์ฟูร์ เคยเป็น 1 ในผู้เล่นเจ้าใหญ่ในตลาดค้าปลีกไทย จากทั้งหมด 45 สาขา ก่อนขายกิจการให้กับบิ๊กซี 

\" ซีพี - บิ๊กซี \" ครองตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ตเมืองไทย

ระหว่างปี 2555 ถึง 2565 จำนวนร้านค้าปลีกในไฮเปอร์มาร์เก็ตของซีพี (CP) และบิ๊กซี รีเทล (BRC) เติบโตในอัตราส่วนต่อปีที่ 3.7% และ 3.3% ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อัตราการเติบโตเฉลี่ยของทั้งซีพีและบิ๊กซี รีเทล ลดลงเหลือ 2.9% และ 2.1% ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากผลกระทบด้านลบจากโรคระบาด 

ตั้งแต่ปี 2555 การเติบโตส่วนใหญ่เกิดขึ้นนอกเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 4.3% และ 5.1% สำหรับซีพีและบิ๊กซี รีเทล ตามลำดับ และระหว่างปี 2559-2561 อัตราการเติบโตสูงสุดอยู่ที่ 8% - 10% แต่ลดลงอย่างมากในช่วงที่มีโรคระบาด เกือบแตะ 0%

กรุงเทพฯ และปริมณฑล (BMR) มีจำนวนร้านค้าปลีกประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ตมากที่สุด 111 แห่ง รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 96 แห่ง ภาคเหนือ 49 แห่ง ภาคตะวันออก 45 แห่ง ภาคใต้ 42 แห่ง ภาคตะวันตก 19 แห่ง และภาคกลาง 15 แห่ง

ถึงแม้ว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยจะเป็นพื้นที่ที่มีการพัฒนาช้ากว่าพื้นที่อื่น ๆ แต่กลับมีการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งดึงดูดความสนใจของผู้ค้าปลีกทั้งในและต่างประเทศที่ต้องการลงทุนขยายกิจการ การเติบโตนี้มีสาเหตุจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น การเติบโตของชนชั้นกลาง การขยายตัวของเมืองที่เพิ่มขึ้น และโครงสร้างพื้นฐานที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นภาคที่มีประชากรมากและภาคเกษตรกรรมที่แข็งแกร่งก่อให้เกิดโอกาสสำหรับไฮเปอร์มาร์เก็ตในการจัดหาผลผลิตและสินค้าในท้องถิ่น


ปรับตัว สู้ศึก อีคอมเมิร์ซ 

ไนท์แฟรงค์ ยังคาดการณ์ว่า แม้ไฮเปอร์มาร์เก็ต ต้องเผชิญกับการแข่งขันจากผู้ค้าปลีกอีคอมเมิร์ซ ผู้ประกอบการรายย่อย และร้านค้าเฉพาะทาง แต่ไฮเปอร์มาร์เก็ตจะพิสูจน์ให้เห็นว่ามีความยืดหยุ่น เนื่องจากราคาที่สามารถแข่งขันได้ ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย และขนาดพื้นที่ที่ใหญ่กว่า

เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน ไฮเปอร์มาร์เก็ตได้ปรับกลยุทธ์ โดยจัดสรรพื้นที่อำนวยความสะดวกต่างๆ มากขึ้น เช่น ร้านอาหาร ร้านกาแฟ และพื้นที่สันทนาการ ซึ่งทำให้ลูกค้ามีประสบการณ์การช็อปปิ้งที่ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไฮเปอร์มาร์เก็ตยังได้ลงทุนในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของตนเองเป็นจำนวนมาก และสามารถใช้โครงสร้างเรื่องสถานที่ที่มีอยู่ เพื่อสนับสนุนการทำธุรกรรมออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งเหล่านี้ช่วยให้ไฮเปอร์มาร์เก็ตสามารถปรับตัวให้เข้ากับความชอบและพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปได้สำเร็จ และรักษาความสามารถในการแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพในตลาดค้าปลีกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา