ทะลักหมื่นล้าน ปิดฉากค่าโอนบ้าน 0.01% -ผ่อนLTV

30 ธ.ค. 2565 | 14:58 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ธ.ค. 2565 | 03:17 น.
1.5 k

อสังหาอู้ฟู่ แห่โอนทะลักหมื่นล้าน ปิดฉากค่าโอนบ้าน 0.01% -ผ่อนLTV มาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาฯ ปี 66 คนซื้อบ้านเตรียมตัวให้พร้อม เพิ่มค่าโอน เป็น 1% วางดาวน์ ตามเกณฑ์LTVปกติ

 

 

  

 

ปิดฉากลงแล้ว สำหรับมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ปี2565 ลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ จาก2%เหลือ 0.01%  (วันที่18มกราคม -31ธันวาคม 2565) สำหรับราคาที่อยู่อาศัยไม่เกิน 3ล้านบาทของกรมที่ดินกระทรวงมหาดไทย   และ มาตรการผ่อนคลาย LTV  (อัตราส่วนการให้สินเชื่อโดยเทียบกับมูลค่าหลักประกัน )

 

สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อเต็ม100%  ตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ให้กลับมาใช้เกณฑ์ปกติ วางดาวน์  10-20% กรณีซื้อบ้านหลังที่สองหลังที่สาม ราคาไม่เกิน10 ล้านบาท  และ บ้าน ราคาเกิน10 ล้านบาทขึ้นไป

 

“ฐานเศรษฐกิจ” สำรวจสำนักงานที่ดินทั่วประเทศ พบว่า การให้บริการได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่29 ธันวาคม  ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการให้บริการก่อนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ คาดว่า จะมีมูลค่าการโอนของบริษัทพัฒนาที่ดินมากกว่า 1หมื่นล้านบาท เพราะทั้งบ้านใหม่สร้างเสร็จพร้อมอยู่ บ้านมือสอง ต่างได้รับอานิสงก์ ค่อนข้างมาก

 

สะท้อนจาก อสังหาฯค่าย ใหญ่  นายปิยะ ประยงค์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) เปิดเผย”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ช่วงโค้งสุดท้ายหมดอายุมาตรการ LTVและ มาตรการโอน 0.01%  และการจัดแคมเปญ ลดแลกแจกแถม มีผลให้บริษัทมียอดโอน ค่อนข้างมาก กว่า1,000 หน่วยไม่ต่ำกว่า 3-4,000ล้านบาท

 

ขณะ นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทออริจิ้นพร็อพเพอร์ตี้จำกัด(มหาชน)และนายกสมาคมอาคารชุดไทย ระบุว่าสถานการณ์กำลังซื้อฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและมาตรการผ่อนผันLTV และมาตรการโอน0.01%ได้หมดลงสิ้นปี 2565   ทำให้เกิดการเร่งตัดสินใจและเร่งโอน ค่อนข้างมาก สะท้อนจากไตรมาสที่3/2565 บริษัทมียอดขายรับรู้รายได้อยู่ที่41,200 ล้านบาท พร้อมทยอยรับรู้ต่อเนื่องถึงปี 2568 

 

 

 

 

 

แหล่งข่าวจากสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครสาขาจตุจักร ยืนยันว่า การให้บริการประชาชนปีนี้สิ้นสุดลงแล้ว ที่ผ่านมาช่วงสัปดาห์สุดท้ายมีประชาชนติดต่อขอใช้บริการโอนบ้านกันเป็นจำนวนมากไม่ต่ำกว่า 200-300 รายต่อวันเช่นเดียวกับ สำนักงาน ที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาลาดพร้าว ที่มีประชาชนมาติดต่อแน่นตลอดทั้งวัน  ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของปี

 

รวมถึงสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครสาขา พระโขนง สังเกต จากบริเวณด้านนอกพบว่า มีประชาชนติดต่อขอใช้บริการจำนวนมากจนต้องเสริมที่นั่ง ขณะภาคใต้ สำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต พบว่า มีประชาชนมาใช้บริการมากว่าปกติซึ่งไม่ต่างกับจังหวัดหัวเมืองใหญ่อื่นๆ

 

 

 

 

 

 

 

 

ทั้งนี้ภาพรวมการติดต่อโอนกรรมสิทธิ์ ของกรมที่ดิน ช่วงธันวาคม เดือนสุดท้ายของปี2565  หรือเดือนที่3ของปีงบประมาณ 2566 ค่อนข้างคึกคักโดยเฉพาะ สำนักงานที่ดินใหญ่ทั้งในกรุงเทพมหานครและจังหวัดหัวเมืองสำคัญ

 

แม้ว่าจะทยอยโอนกรรมสิทธิ์ไปก่อนหน้านี้บ้างแล้วก็ตามแต่คนส่วนใหญ่มักจะตื่นตัวช่วงท้ายก่อนสิ้นสุดมาตรการ    คาดว่ารายได้จะเพิ่มหรือใกล้เคียงกับ ช่วงเดียวกันของปี งบประมาณ2565   

  

ย้อนตัวเลขจัดเก็บรายได้ประจำปีงบประมาณ  2565  ( ตุลาคม 2564 -กันยายน 2565 ) โดยใช้มาตรการ ลดค่าโอน-จำนอง รายการละ 0.01%   ช่วง9เดือนแรกปีงบประมาณ 7.1หมื่นล้านบาท  ทั้งปีงบประมาณเก็บรายได้กว่า 90,000 ล้านบาท  ใกล้เคียงกับปีงบประมาณ 2563 และ 2564 แต่ต่ำกว่าที่เคยจัดเก็บรายได้สูงถึง 1.08 แสนล้านบาทก่อนเกิดโควิด-19 

 

 เมื่อตรวจสอบข้อมูลที่ลึกลงไป จากการให้บริการและปริมาณการจัดเก็บรายได้ของสำนักงานที่ดินทั่วประเทศ  ตั้งแต่ปีงบประมาณ ปี 2562-    ปี 2564  พบว่า  ปริมาณงานและรายได้ในการจัดเก็บปรับตัวลดลงต่อเนื่อง

 

โดยปีงบประมาณ 2562 ปริมาณงานอยู่ที่ 13,295,931 ราย ปีงบประมาณปี2563 อยู่ที่ 12,457,978 ราย ผลต่าง ลบ6.30% ปีงบประมาณ2564 อยู่ที่ 12,170,519 ราย ผลต่าง ลบ2.31% เมื่อเทียบกับปีงบประมาณปี2563


ส่วนรายได้ ทั้งส่วนของเข้ารัฐ และ นำส่งเข้าท้องถิ่น พบว่า ตัวเลขรายได้ของปีงบประมาณ 2562 เก็บได้มากถึง 108,658.4 ล้านบาท แต่หลังปีงบประมาณ2563 ตัวเลขรายได้ลดลงมาอยู่ที่ 91,456.8 ล้านบาท

 

ผลต่าง อยู่ที่ ลบ 15.83% และในปีประมาณ2564 รายได้อยู่ที่ 90,053.7 ล้านบาท ผลต่าง  ลบ 1.53%  เพราะ มาตรการลดค่าโอนและจดจำนอง ได้เริ่มเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 ซึ่งเข้าสู่ปีงบประมาณ 2563แล้ว

 

 สำหรับมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาฯลดค่าธรรมเนียมการอนและจดจำนอง อสังหาริมทรัพย์ เริ่ม ตั้งแต่ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติลดค่าธรรมเนียมการโอน

 

จากเดิม 2% เหลือ 0.01% และลดค่าธรรมเนียมการจดจำนองอสังหาริมทรัพย์จากเดิม 1% เหลือ 0.01 % มีผลเท่ากับภาระค่าใช้จ่าย เช่นจากล้านละ 3 หมื่นบาท ลดเหลือล้านละ 300 บาท มาจนถึงสิ้นปี 2565 และปี 2566 ค่าโอนจะขยับลดหย่อนขึ้นมาที่1% ค่าจดจำนองยังคงอัตราเดิม

 

ขณะมาตรการ ผ่อนผัน LTV   มีผลบังคับใช้ 1ปี ซึ่งศูนย์ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า การผ่อนปรนมาตรการ LTV จะทำให้สินเชื่อบ้านปี2565 เติบโตเพิ่มเติมได้ประมาณ 0.3-0.7% ไปอยู่กรอบ 4.8-5.2%

 

ประเมินว่าปี2566หากมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ มีพลังลดลง เชื่อว่าอาจมีผลต่อการตัดสินใจซื้อบ้านได้ !!