เจาะลึกธุรกิจรับเหมาก่อสร้างปี 65-67 แนวโน้มรุ่งหรือร่วง เช็คที่นี่

25 มิ.ย. 2565 | 04:22 น.
9.3 k

วิจัยกรุงศรี เผยแนวโน้มธุรกิจรับเหมาก่อสร้างปี 65 -67 คาดเติบโตตามการลงทุนทั้งจากของภาครัฐและภาคเอกชน ส่วนราคาน้ำมัน -วัสดุก่อสร้างที่ปรับตัวสูงขึ้น เป็นปัจจัยเสี่ยงกระทบผู้ประกอบการ โดยเฉพาะรายย่อย หวั่นขาดสภาพคล่อง-ทิ้งงาน

วิจัยกรุงศรี โดยธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เผยแนวโน้มธุรกิจรับเหมาก่อสร้างปี 2565-2567 คาดว่าธุรกิจจะเติบโตต่อเนื่องในช่วงปี 2565-2567 ตามมูลค่าการลงทุนก่อสร้างโดยรวมที่จะขยายตัว โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับEEC และโครงการขยายเส้นทางการคมนาคมขนส่ง โดยเฉพาะทางรางและถนน รวมถึงการลงทุนโครงการก่อสร้างภาคเอกชน ทั้งในส่วนที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ที่มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ

 

อย่างไรก็ตาม ปี 2565 ผู้รับเหมาจะยังคงเผชิญภาวะราคาน้ำมันและวัสดุก่อสร้างที่อยู่ในระดับสูงจากผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งผู้รับเหมาต้องแบกรับภาระต้นทุน โดยผู้ประกอบการรายย่อยอาจเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินและทิ้งงาน ซึ่งปัจจุบันผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการภาครัฐยังไม่ได้รับเงินชดเชยค่างานก่อสร้างตามสัญญา (ค่า K หรือ Escalation Factor) เป็นจำนวนมาก (ที่มา: สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย, ฐานเศรษฐกิจ 2 เม.ย.2565) ภาพรวมข้างต้น ทำให้คาดว่ามูลค่าการลงทุนก่อสร้างรวมปี 2565 จะขยายตัวได้ในอัตราไม่สูงนักที่ 3.0-3.5% ก่อนจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.5-5.5% ในปี 2566-2567 (ภาพที่ 11) 


วิจัยกรุงศรี เผยแนวโน้มธุรกิจรับเหมาก่อสร้างปี 65 -67

การลงทุนก่อสร้างภาครัฐ  
มูลค่าการลงทุนก่อสร้างภาครัฐ  ในช่วงปี 2565-2567 คาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ย 5.0-6.0% ต่อปี ปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญมาจากการลงทุนในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ต่อเนื่องเพื่อบรรลุเป้าหมายตามแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วนฉบับล่าสุด พ.ศ. 2562 ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทยระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) (ภาพที่12)

 

มูลค่าการลงทุนก่อสร้างภาครัฐ  ในช่วงปี 2565-2567

 

โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงกับพื้นที่ EEC ตามแผนปฏิบัติการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ระยะที่ 1 (2560-2564)  คาดว่าจะเริ่มทยอยดำเนินการต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2565 ทั้งระบบรางและถนน อาทิ  

(1) โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) โดยเฟสแรกจะเริ่มก่อสร้างในช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา

(2) โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ส่วนแผนฯ ระยะที่ 2 (2565–2569) มีเป้าหมายมุ่งให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน การคมนาคม และโลจิสติกส์ของภูมิภาค รวมทั้งรองรับการเติบโตของ EEC ในอนาคต

โดยเบื้องต้นกำหนดไว้ 131 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 386,565 ล้านบาท เป็นการลงทุนในระบบรางและขนส่งมวลชนมากที่สุดคิดเป็นสัดส่วน 43% ของวงเงินลงทุนทั้งหมด  (ภาพที่ 13)

โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงกับพื้นที่ EEC

 

โครงการสำคัญในพื้นที่อื่นๆ เช่น โครงการพัฒนาอาคารผู้โดยสารส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Terminal 2) โครงการรถไฟฟ้าสีม่วงใต้  (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) โครงการรถไฟทางคู่เด่นชัย-เชียงของ โครงการรถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่น-หนองคาย เป็นต้น (ตารางที่ 4)

 

โครงการสำคัญของภาครัฐในพื้นที่อื่นๆ
 

การลงทุนก่อสร้างภาคเอกชน 
มูลค่าการลงทุนก่อสร้างภาคเอกชน มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัว โดยคาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ย  3.0-4.0% ต่อปี ในช่วงปี 2565-2567  ปัจจัยหนุนจาก
 

  • โครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัย คาดว่าการเปิดโครงการใหม่จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 10.0% หรือประมาณ 7 หมื่นยูนิตต่อปี ในช่วงปี 2565-2567 (ภาพที่ 14)  โดยผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มเพิ่มสัดส่วนการก่อสร้างบ้านแนวราบมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ชานเมือง รองรับความต้องการซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง โดยได้แรงหนุนจากการขยายโครงข่ายการคมนาคมของภาครัฐ ทั้งโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายและมอเตอร์เวย์ที่เชื่อมต่อการเดินทางระหว่างชานเมืองสู่ตัวเมืองได้รวดเร็วขึ้น  ส่วนการก่อสร้างคอนโดมิเนียมจะปรับดีขึ้นในบางพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ใจกลางเมืองและแนวรถไฟฟ้าบางเส้นทาง  ซึ่งส่วนใหญ่จะเอื้อประโยชน์ต่อผู้รับเหมารายใหญ่ 
  • อย่างไรก็ตาม ในปี 2565 การลงทุนก่อสร้างโดยรวมอาจล่าช้าออกไป เนื่องจากต้นทุนที่ปรับเพิ่มจากราคาน้ำมันและวัสดุก่อสร้าง แม้ผู้ประกอบการจะมีโอกาสผลักภาระต้นทุนโดยการปรับขึ้นราคาที่อยู่อาศัย แต่ก็อาจทำได้จำกัดเนื่องจากกำลังซื้อยังฟื้นตัวช้า โดยสมาคมรับสร้างบ้านระบุว่าราคาบ้านมีแนวโน้มปรับราคาเพิ่ม 5-8% ตั้งแต่เดือนเมษายน 2565

โครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัย คาดว่าจะเปิดตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

 

  • การก่อสร้างโรงงานและนิคมอุตสาหกรรมได้รับผลดีจากการเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการ EEC โดยผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมมีแผนลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมใหม่และพัฒนาที่ดินเพื่อขายและสร้างโรงงานอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการขยายตัวของการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายกลุ่ม S-Curve อาทิ นิคมอุตสาหกรรมหนองละลอก ใน อ.บ้านค่าย จ.ระยอง คาดว่าจะใช้ระยะเวลาพัฒนาพื้นที่และเปิดให้บริการได้ภายใน 2 ปี นิคมอุตสาหกรรมเอเพ็กซ์กรีน อินดัสเตรียล เอสเตท อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา (รูปแบบร่วมดำเนินงานกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ กนอ.) คาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในปี 2566

 

  • โครงการก่อสร้างอาคารเพื่อการพาณิชย์ แบ่งเป็น 
  1. การก่อสร้างพื้นที่ค้าปลีก (Retail space) มีแนวโน้มขยายตัวตามแผนการลงทุนของผู้พัฒนาโครงการ (ภาพที่ 15) เพื่อรองรับการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชน  และภาคการท่องเที่ยว 
  2. การก่อสร้างอาคารสำนักงาน (Office building) คาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของการลงทุนในภาคธุรกิจ 

 

การก่อสร้างพื้นที่ค้าปลีก

ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างอาคารเพื่อการพาณิชย์ในปัจจุบันจะมีลักษณะเป็นโครงการ Mixed-use รองรับรูปแบบการใช้ชีวิตสมัยใหม่ของสังคมเมืองมากขึ้น  โดยโครงการที่มีแผนลงทุนในช่วงปี 2565-2567 ทั้งที่อยู่ในระหว่างดำเนินการก่อสร้างและกำลังจะเริ่มก่อสร้าง มีพื้นที่รวมกันประมาณ 1 ล้านตารางเมตร (ตารางที่ 5)

โครงการก่อสร้างอาคารเพื่อการพาณิชย์


ราคาวัสดุก่อสร้าง
ราคาวัสดุก่อสร้างโดยรวม ในปี 2566-2567 คาดว่าจะปรับลดลงเล็กน้อยจากปี 2565 แต่จะยังทรงตัวในระดับสูง (ภาพที่ 16) ปัจจัยหลักจาก

 

  1. การปรับขึ้นของราคาพลังงานที่มีผลต่อต้นทุนการผลิต และการขนส่ง  อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนยังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งยังเอื้อให้ผู้รับเหมารายใหญ่มีอำนาจต่อรองด้านราคากับผู้ผลิต/ผู้ค้าวัสดุก่อสร้าง น่าจะทำให้ราคาวัสดุก่อสร้างมีแนวโน้มปรับขึ้นได้ในอัตราไม่สูงนัก 
  2. การเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบนำเข้าตามภาวะตลาดโลก อาทิ เศษเหล็ก (Scrap) และเหล็กแท่งกลม (Billet) ซึ่งมีผลให้ราคาเหล็กจะยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ตามทิศทางราคาตลาดโลก แม้ปัญหาอุปทานส่วนเกินในตลาดโลกจะคลี่คลายลงบ้าง จากการลดกำลังการผลิตเหล็กของจีน 
  3. การฟื้นตัวของภาคก่อสร้าง หนุนความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างโดยเฉพาะปูนซีเมนต์และเหล็กก่อสร้าง 
  4. มาตรการภาครัฐที่สนับสนุนการใช้สินค้า (วัสดุก่อสร้าง) ที่ผลิตในประเทศผ่านมาตรการ “Made in Thailand”

ราคาวัสดุก่อสร้างโดยรวม ในปี 2566-2567

 

แนวทางการปรับตัวของผู้รับเหมา
 
รายใหญ่ อาศัยความได้เปรียบจากการมีอำนาจการต่อรองสูงกับผู้ผลิต/ผู้ค้าวัสดุก่อสร้างในการบริหารต้นทุนด้านวัตถุดิบ รวมทั้งการหาช่องทางธุรกิจต่อเนื่องจากการรับเหมาก่อสร้างเพื่อรักษาฐานรายได้และกำไร เช่น การบริหารจัดการระบบรถไฟฟ้า ส่วนด้านการลงทุนจะเน้นเพิ่มการลงทุนด้านเครื่องจักรที่มีเทคโนโลยีมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงจากภาวการณ์ขาดแคลนแรงงาน ลดระยะเวลาก่อสร้าง และแก้ไขข้อผิดพลาดระหว่างการก่อสร้าง อาทิ BIM (Building Information Modeling) Prefabs (Prefabricated Building Components)  (ภาพที่ 17)

 

แนวทางการปรับตัวของผู้รับเหมา

รายกลางและรายย่อย ส่วนใหญ่เป็นการบริหารงานแบบครอบครัว มีเงินทุนจำกัด จึงมีอำนาจการต่อรองต่ำกว่า โดยจะรับเหมาช่วงจากผู้รับเหมารายใหญ่ โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ รวมถึงมองหาช่องทางเพิ่มรายได้จากงานซ่อมแซมและปรับปรุงอาคาร

 


การทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในตลาดต่างประเทศ 
การทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในตลาดต่างประเทศ ผู้รับเหมาของไทยมีโอกาสรับงานเพิ่มขึ้นในประเทศกลุ่ม CLMV ซึ่งมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่องรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจและการขยายตัวของความเป็นเมือง (Urbanization) ซึ่งรวมถึงโรงงานอุตสาหกรรม อาคารสำนักงาน และที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะเวียดนาม ซึ่งกำลังมีการขยายการลงทุนทั้งโครงสร้างพื้นฐานและนิคมอุตสาหกรรมจำนวนมาก รองรับกระแสการลงทุนทางตรง (Foreign Direct Investment: FDI) ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง (ภาพที่ 18) โดยเฉพาะจากประเทศจีน อย่างไรก็ตาม โอกาสส่วนใหญ่จะจำกัดอยู่แค่เพียงผู้รับเหมารายใหญ่ เนื่องจากมีความพร้อมด้านเงินทุน เทคโนโลยี และช่องทางการลงทุนที่มาจากสายสัมพันธ์ทางธุรกิจ (Business connection) กับนักลงทุนท้องถิ่น

 

 
ปัจจัยเสี่ยงของการเข้าไปรับงานก่อสร้างในประเทศ CLMV ได้แก่ ด้านกฎระเบียบในการว่าจ้างที่อาจไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล เงื่อนไขสัญญารับเหมาที่มีความไม่แน่นอน ความไม่มั่นคงด้านเสถียรภาพทางการเมืองในบางประเทศ รวมถึงการแข่งขันกับผู้รับเหมาต่างชาติรายอื่นๆ ซึ่งแนวทางในการลดความเสี่ยงข้างต้นผู้รับเหมาไทยควรหาพันธมิตรทางธุรกิจในห่วงโซ่อุปทานใน CLMV อาทิ ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์/ผู้รับเหมาท้องถิ่น รวมถึงบริษัทจัดหาแรงงานท้องถิ่น เพื่อให้มีช่องทางในการรับงานได้ต่อเนื่อง

 

การทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในตลาดต่างประเทศ 

 

ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในตลาดต่างประเทศ

 

ปัจจัยท้าทายที่อาจจำกัดการเติบโตของธุรกิจก่อสร้างและรายได้ของผู้ประกอบการรับเหมาในช่วงปี 2565-2567 ที่สำคัญ ได้แก่

 

  • ภาวะราคาน้ำมันและวัสดุก่อสร้างที่ยังอยู่ในระดับสูงผลจากสงครามยูเครน ซึ่งผู้รับเหมาต้องแบกรับภาระต้นทุน

 

  • สต็อกที่อยู่อาศัยยังทรงตัวในระดับสูง (ภาพที่ 19) ขณะเดียวกันอุปทานใหม่ยังเข้ามาในตลาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้มูลค่าการลงทุนก่อสร้างที่อยู่อาศัยโครงการใหม่ๆ ของภาคเอกชนยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ

สต็อกที่อยู่อาศัย

  • ภาวะขาดแคลนแรงงานจากผลกระทบของ COVID-19 อาจเป็นอุปสรรคให้โครงการก่อสร้างล่าช้า ทั้งนี้ แรงงานก่อสร้างต่างด้าวน่าจะยังไม่เดินทางกลับมาทำงานในไทยเท่ากับระดับก่อนเกิด COVID-19 และแรงงานบางส่วนที่เดินทางไปต่างจังหวัดยังไม่กลับสู่ตลาดแรงงานในกรุงเทพฯ และปริมณฑล (ภาพที่ 20)

ภาวะขาดแคลนแรงงาน

 

 

ที่มาข้อมูล-ภาพประกอบ