เวนคืนไฮสปีดไทย-จีนติดหล่มอัพเดทจุดไหนบ้างเช็คเลย

30 ม.ค. 2565 | 16:51 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ม.ค. 2565 | 00:01 น.
2.6 k

อัพเดท ไฮสปีดไทย-จีน หรือรถไฟไทย-จีน อ่วม!มรสุมรอบด้านข้อพิพาทผลอุทธรณ์ประมูลงาน–ปรับแบบสถานีอยุธยายังไม่รู้จบหลายสัญญาติดหล่มพรฎ.เวนคืนยักษ์รับเหมาเข้าพื้นที่ไม่ได้ขณะสัญญา4-1 บางซื่อ-ดอนเมือง รฟท.ผ่าทางตันจ้างซีพีสร้างแทนเหตุทับซ้อนไฮสปีด3สนามบิน

 

"เวนคืนไฮสปีดไทย-จีนหรือรถไฟไทยจีนติดหล่ม"โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงภูมิภาคระยะที่1ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา(ไฮสปีดไทย-จีน)จำนวน14สัญญาระยะทาง253กิโลเมตร(กม.)วงเงิน179,400ล้านบาทของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)คาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดใช้เส้นทางภายในปี2569หลังกดปุ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี2562 

 

 

ปมเหตุความล่าช้ามาจากการระบาดโควิด-19ต้นทุนค่าก่อสร้างผันผวนรฟท.ส่งมอบพื้นที่ล่าช้าหลายสัญญาผู้รับจ้างเข้าพื้นที่ไม่ได้ต้องรอพระราชกฤษีกา(พรฎ.) เวนคืนที่ดิน ประกาศใช้ เพราะต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ)ใหม่อีกรอบ จากการร้องเรียนประชาชนและแนวเส้นทางผ่านพื้นที่สำคัญของหน่วยงานราชการ

อีกทั้งเกิดข้อพิพาทระหว่างผู้รับจ้างด้วยกันขั้นตอนต้องรอศาลชี้ขาด รวมทั้งพื้นที่ทับซ้อนระหว่างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน(ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา)และรถไฟไทย-จีนบริเวณสัญญา4-1ช่วงบางซื่อ-ดอนเมืองที่กระทรวงคมนาคมโดยรฟท.ต้องเข้าไปแก้ไข

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่าสำหรับความคืบหน้าปัจจุบันอยู่ระหว่างการรอลงนามสัญญากับผู้รับเหมาก่อสร้าง จำนวน 2 สัญญา ประกอบด้วย สัญญา 3-1 งานโยธา ช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก- บันไดม้าระยะทาง 30 กม. วงเงิน 9,930 ล้านบาท โดย บมจ.อิตาเลียนไทย ดิเวล็อปเมนท์ เสนอราคาต่ำสุดที่ 9,349 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลางที่ 11,386 ล้านบาท  ขณะนี้อยู่ระหว่างศาลปกครองพิจารณาข้อพิพาทผลอุทธรณ์ของบริษัทบีพีเอ็นพี จำกัด (นภาก่อสร้าง) หากจะลงนามสัญญาได้เมื่อไรขึ้นอยู่กับศาลฯเป็นผู้พิจารณา

ส่วนสัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กม. วงเงิน 9,913 ล้านบาท  โดยบมจ.อิตาเลียนไทย ดิเวล็อปเมนต์ อยู่ระหว่างหาข้อสรุปทางกฎหมายในการปรับแบบสัญญาให้สอดคล้องกับรายงานประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ช่วงผ่านสถานีอยุธยาเพื่อให้สอดคล้องและเหมาะสมกับการเป็นพื้นที่มรดกโลก คาดว่าจะลงนามสัญญาภายในต้นปี 2565 หลังจากนั้นผู้รับจ้างจะเริ่มดำเนินการเข้าพื้นที่ก่อสร้างต่อไป

 

ขณะที่สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม. วงเงิน 18,000 ล้านบาท ปัจจุบัน รฟท.ได้จ้างบริษัทเอเชีย เอราวัน จำกัด (บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด) บริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพี เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง เนื่องจากเป็นพื้นที่ทับซ้อนร่วมกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง–สุวรรณภูมิ–อู่ตะเภา) โดยรฟท.จะเป็นผู้จ่ายค่าชดเชยให้เอกชนตามสัญญา ซึ่งเอกชนอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมเพื่อดำเนินการเข้าพื้นที่ก่อสร้างทำให้ไม่ต้องรอลงนามสัญญา

ด้านความคืบหน้าอีก 3 สัญญา ที่อยู่ระหว่างเตรียมการก่อสร้าง  ประกอบด้วย สัญญา 4-2 ช่วงดอนเมือง - นวนคร ระยะทาง 21.80 กม. วงเงิน 10,570 ล้านบาท ลงนามสัญญาจ้างเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 ดำเนินการโดย บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ,สัญญา 4-4 ศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย วงเงิน 6,573 ล้านบาท ลงนามสัญญา จ้างเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564

ดำเนินการโดยบริษัท อิตาเลียน ไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ,สัญญา 4-6 ช่วงพระแก้ว - สระบุรี ระยะทาง 31.60 กม. วงเงิน 9,429 ล้านบาท ลงนามสัญญาจ้างเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564 ดำเนินการโดย บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันเอกชนผู้รับจ้างอยู่ระหว่างรอพรฎ. เวนคืนที่ดินมีผลบังคับใช้เพื่อดำเนินการเข้าพื้นที่ก่อสร้าง ทำให้ยังไม่ได้ออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (NTP)

หากเอกชนดำเนินการเข้าพื้นที่ก่อสร้างก่อนพรฎ.เวนคืนที่ดินมีผลบังคับใช้ อาจจะต้องขอขยายเวลาการก่อสร้างในสัญญาออกไปอีก  ส่วนอีก 1 สัญญา เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2564 คือ สัญญา 4-3 ช่วงนวนคร - บ้านโพ ระยะทาง 23.00 กม. วงเงิน 11,525 ล้านบาท ดำเนินการโดย กิจการร่วมค้า CNN ปริมาณงานตามแผนงาน 3.29% ผลงานสะสม 0.36% ล่าช้ากว่าแผนงาน 2.93%เป็นต้น

 

เวนคืนไฮสปีดไทย-จีนติดหล่มอัพเดทจุดไหนบ้างเช็คเลย