" ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง" รับอานิสงค์ อุตฯฟื้น ติดปีก นวัตกรรม แก้แรงงานขาดแคลน

03 พ.ย. 2564 | 14:38 น.
อัปเดตล่าสุด :03 พ.ย. 2564 | 21:48 น.

ปลดล็อกมาตรการ LTV - เปิดประเทศ ฟื้นตลาดวัสดุก่อสร้าง ไตรมาส 4 ขณะ 3 ค่ายใหญ่ เด้งรับอานิสงค์ รัฐเดินหน้าโครงสร้างพื้นฐาน อสังหาฯเดินเครื่องเร่งก่อสร้าง ระบุ ลูกค้าเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงาน บูมดีมานด์ แผ่นคอนกรีตสำเร็จรูป " ตราเพชร " แนะรัฐฟื้นเศรษฐกิจ สร้างสมดุลแรงงาน

สถานการณ์โควิด-19 ของไทยกว่า 2 ปี  กระทบต่อการดำเนินงานของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ตั้งแต่ชะลอแผนเปิดโครงการใหม่ รวมไปถึง ภาคการก่อสร้างและการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ ไปด้วย  ส่งผลงานก่อสร้างในตลาดลดลงมหาศาล  ซ้ำร้าย ช่วง มิ.ย. 64 รัฐบาลออก มาตรการสั่งปิดแคมป์คนงาน สร้างผลกระทบต่อเนื่อง ต่อโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง เช่น การก่อสร้างที่พักอาศัย ทั้งโครงการแนวราบ-แนวสูง และ งานโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เป็นต้น

ภาคก่อสร้างขาดแรงงาน

ทั้งนี้ แม้ปัจจุบันจะมีมาตรการปลดล็อกดาวน์แคมป์ก่อสร้าง ให้สามารถกลับมาเปิดไซต์งานได้ปกติแล้ว แต่กลับมีปัญหาใหญ่ตามมา คือ ภาวะขาดแคลนแรงงาน  เนื่องจากแรงงานต่างชาติงานส่วนใหญ่ ยังไม่สามารถเดินทางกลับเข้าประเทศได้ อีกทั้งแรงงานในประเทศ มีการย้ายถิ่นฐานกลับภูมิลำเนา เพื่อป้องกันตัวเองจากโควิด-19 ภาพผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างในประเทศไทย จึงยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

\" ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง\"   รับอานิสงค์ อุตฯฟื้น ติดปีก นวัตกรรม แก้แรงงานขาดแคลน

จากปัญหาการขาดแคลนแรงงาน "ฐานเศรษฐกิจ" เจาะพบผู้ประกอบการในวงการก่อสร้างไทย อยู่ระหว่างเร่งพัฒนาขีดความสามารถของตัวเอง ให้ก้าวข้ามข้อจำกัดด้านแรงงานที่ส่อเค้าจะขาดแคลนมากขึ้น โดยนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเสริมประสิทธิภาพงานก่อสร้างให้รุดหน้าภายใต้ระยะเวลาที่จำกัด ทั้งในตัวเครื่องจักร เครื่องมือ และวัสดุก่อสร้าง ช่วยให้การก่อสร้างเดินหน้าต่อไปได้ ขณะกลุ่มธุรกิจวัสดุก่อสร้าง 3 บิ๊กของวงการ เร่งเครื่อง ปรับกลยุทธ์ และโปรดักส์ เด้งรับอานิสงค์เชิงบวก 

 

\" ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง\"   รับอานิสงค์ อุตฯฟื้น ติดปีก นวัตกรรม แก้แรงงานขาดแคลน

" พรีคาสท์" ทดแทนแรงงาน 

โดยนายอาทิตย์ ทีปกรสุขเกษม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผลิตภัณฑ์คอนกรีตชลบุรี จำกัด (มหาชน)  เปิดเผยว่า  ขณะนี้ธุรกิจหลายภาคส่วนประสบปัญหา จำนวนแรงงานที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ  ทั้งนี้ บริษัทเอง พร้อมพัฒนาสินค้าคอนกรีตสำเร็จรูป (Precast) นวัตกรรมใหม่ เพื่อรองรับงานโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ งานถนน งานสะพาน ซึ่งมีความต้องการที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปรับเปลี่ยนจากการผลิตสินค้าในมาตรฐานทั่วไป หันไปสู่การผลิตตามความต้องการเฉพาะเจาะจงของลูกค้า หรือสินค้าคอนกรีตสำเร็จรูปที่ใช้เทคโนโลยี และความเชี่ยวชาญพิเศษในการผลิต เช่น  ท่อคอนกรีตขนาดใหญ่พิเศษ ทำให้มีความสามารถในการแข่งขันสูง 

 

"โควิด-19 ทำให้ภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง เผชิญปัญหาขาดแรงงาน โดยพรีคาสท์ จะเข้ามาช่วยลดต้นทุนแรงงาน เร่งงานให้สำเร็จลุล่วงได้เร็ว รองรับตั้งแต่งานโครงการภาครัฐและเอกชน เช่น สินค้ากลุ่มบล็อกกำแพง บล็อกกันหน้าดิน บล็อกปูพื้น ที่มีขนาดใหญ่พิเศษ เสริมเหล็กอยู่ในตัวของบล็อก ลดปัญหาการทรุดตัว แตกร้าว " 

 

ทั้งนี้ คาดว่าโควิด-19 จะยังส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 5 ปี บริษัทจึงมุ่งเน้นในการบริหารจัดการภายในองค์กรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ปรับกลยุทธ์การขายสินค้าให้มีรายได้จากหลายช่องทาง ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ รวมถึงแผนขยายฐานลูกค้าให้ครอบคลุมทั่วประเทศอีกด้วย  

 

\" ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง\"   รับอานิสงค์ อุตฯฟื้น ติดปีก นวัตกรรม แก้แรงงานขาดแคลน

ปลด LTV กระตุกตลาดเร่งสร้าง

ด้าน นายชาคริต ทีปกรสุขเกษม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีแพนเนล จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แผ่นคอนกรีตสำเร็จรูป “CPANEL” กล่าวว่า โควิค -19 ซึ่งส่งผลกระทบให้ภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างชะลอตัวนั้น ทำให้ ผู้ประกอบการระมัดระวังในการเปิดโครงการใหม่เพิ่มเติม ต้นทุนทางธุรกิจก็สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ภาวะการขาดแคลนแรงงานมีความรุนแรงมากขึ้น นั้น อีกมุมโควิค -19 ได้สร้างฐานพฤติกรรมใหม่ให้แก่ผู้บริโภคเช่นกัน  

 

ปัจจัยดังกล่าว จึงเกื้อหนุนอย่างสูงต่อที่อยู่อาศัยแนวราบขยายตัวไปยังเขตรอบนอกกรุงเทพฯ เน้นพื้นที่ใช้สอย และฟังก์ชั่นที่เอื้อต่อการทำงานที่บ้านมากขึ้น อีกทั้งการขยายตัวของเครือข่ายรถไฟฟ้า โครงข่ายถนน และศูนย์การค้า ที่ขยายความเจริญครอบคลุมพื้นที่รอบนอกมากขึ้น 

 

ด้านธุรกิจนั้น บริษัทเชื่อว่า พรีคาสท์ จะมีความต้องการสูงขึ้น เนื่องจากช่วยลดต้นทุนแรงงานได้ถึงประมาณ 50%  ลดระยะเวลาและขั้นตอนในการก่อสร้าง (รวมงาน Finishing) ประมาณ 30% ส่งผลให้ต้นทุนรวมของการก่อสร้างลดลง 15% ซึ่งช่วยให้อสังหาฯ ประหยัดค่าใช้จ่ายค่าแรง ลดเวลาการก่อสร้างทำให้ส่งมอบบ้านหรืออาคารได้รวดเร็วขึ้น 

 

" พบผู้พัฒนาและผู้รับเหมาก่อสร้าง นิยมหันมาเลือกใช้พรีคาสท์มากขึ้น ทั้งโครงการแนวราบ-แนวสูง อาคารสำนักงาน โรงแรม อาคารคลังสินค้า และโรงงานอุตสาหกรรม ขณะ 21 ต.ค. ที่ผ่านมา ธปท.ผ่อนคลาย LTV ทำให้ผู้พัฒนาที่ไม่มีสินค้าคงเหลือไว้ขาย ต้องเร่งสร้างเพื่อให้ทันต่อโอกาสการผ่อนคลายในครั้งนี้ คาดดีมานด์จะมีมากขึ้น "

 

ทั้งนี้ บริษัทพร้อมปรับปรุงกลยุทธ์การตลาดอยู่เสมอ ทั้งด้านผลิตภัณฑ์ ปรับปรุงกระบวนผลิตมีความรวดเร็วมากขึ้น แต่ยังคงได้แผ่นคอนกรีตสำเร็จรูปที่มีความแข็งแรง ทนทาน และมีคุณสมบัติเป็นไปตามมาตรฐานทางวิศวกรรม และเพิ่มช่องทางจัดจำหน่ายเพื่อรับโอกาสดังกล่าวด้วย 

\" ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง\"   รับอานิสงค์ อุตฯฟื้น ติดปีก นวัตกรรม แก้แรงงานขาดแคลน

แนะรบ.แก้ปมแรงงานฟื้นก่อสร้าง

ขณะ นายสาธิต สุดบรรทัด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ผลิตภัณฑ์ตราเพชร จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ทิศทางตลาดวัสดุก่อสร้างในไตรมาส 4 มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น หลังภาครัฐทยอยคลายมาตรการล็อกดาวน์ เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเดินหน้าได้อีกครั้งพร้อมกับการเปิดประเทศ ถือเป็นปัจจัยบวกต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและบรรยากาศการซื้อสินค้ามีความคึกคักมากขึ้น

 

สำหรับกลยุทธ์บริษัท มุ่งเน้นนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย สามารถนำไปก่อสร้างบ้านได้ทั้งหลัง หลังจากเริ่มเดินเครื่องจักรเชิงพาณิชย์ NT-11 ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดกลุ่มไม้สังเคราะห์ เช่น ไม้ฝา ไม้เชิงชาย ไม้พื้นและไม้ตกแต่งอเนกประสงค์  ตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั้งการสร้างบ้านใหม่ หรือซ่อมแซมที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ตาม อยากให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างเร่งด้วย เพื่อกระจายคนเข้าสู่ระบบ สร้างสมดุลดีมานด์และซัพพลายของอุตสาหกรรม 

 

" รัฐบาลควรทำหน้าที่เป็นคนกลางในการคัดกรองหาแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมายและมีความปลอดภัย โดยได้รับการฉีดวัคซีน กลับเข้ามาในระบบเพื่อกระจายสู่อุตสาหกรรมก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ที่กำลังอยู่ในภาวะการขาดแคลนแรงงาน เพราะเป็นหนทางเดียวที่ทำให้อุตสาหกรรมก่อสร้างที่เป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมาได้ เมื่อเกิดความสมดุลระหว่างแรงงานกับปริมาณงานที่เพิ่มขึ้น" 

 

ทั้งนี้ บริษัทยังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ทั้งเรื่องการระบาดของโควิด-19 รวมถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานก่อสร้างและด้านโลจิสติกส์การขนส่งสินค้าที่มีภาระต้นทุนเพิ่มขึ้น พร้อมแนะผู้ประกอบการวัสดุก่อสร้างและร้านค้าจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ต้องวางแผนบริหารจัดการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วด้วย