วิธีตรวจเช็ค และซ่อมแซมบ้านหลังน้ำท่วม

27 ต.ค. 2564 | 16:42 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ต.ค. 2564 | 23:57 น.

เมื่อ "บ้าน" ถูกน้ำท่วม เริ่มซ่อมแซม สำรวจบ้านอย่างไร? ให้ถูกต้องและปลอดภัย SCG เปิดวิธีตรวจเช็ค และซ่อมแซมบ้าน หลังน้ำท่วมอย่างง่าย เลี่ยงอันตราย

27 ต.ค.2564 - “น้ำท่วม” เหตุการณ์ภัยธรรมชาติแสนธรรมดาที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี กลายเป็นปัญหาซ้ำซากคอยกวนใจเจ้าของบ้านที่ต้องเผชิญ เมื่อฝนตกต่อเนื่องทีไรในเมืองกรุงมักเกิดน้ำท่วมขัง เพราะระบายลงท่อสาธารณะไม่ค่อยทัน ส่วนในต่างจังหวัด บ้านใครอยู่พื้นที่ลุ่มต่ำ หรือเส้นทางที่น้ำไหลผ่านลงสู่แม่น้ำก็ต้องเจอ แต่ไม่ว่าจะแค่น้ำท่วมขัง หรือต้องจมอยู่เรื้อรังยาวนาน หลังจากน้ำลดย่อมทิ้งร่องรอยและปัญหาต่าง ๆ ไว้ให้เจ้าของบ้านต้องตามแก้ไขอยู่เสมอ

วิธีตรวจเช็ค และซ่อมแซมบ้านหลังน้ำท่วม

นาย พีระพงษ์ บุญรังษี ผู้เชี่ยวชาญจาก SCG ระบุว่า เมื่อ “บ้าน” ถูกน้ำท่วม ปัญหาที่เกิดจะมากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับระดับความสูงของน้ำและระยะเวลาที่ท่วมขัง ถ้าทั้งท่วมสูง ท่วมนาน แน่นอนว่าต้องเสียหายหนัก บ้านจึงไม่ใช่สถานที่ปลอดภัยดังเดิมอีกต่อไป ดังนั้น หลังจากน้ำลดก็ไม่ควรรีบเข้าไปสำรวจตรวจสอบความเสียหายโดยทันที ควรรอให้น้ำแห้งสนิทสัก 3-5 วันเสียก่อน เพื่อลดความเสี่ยงเลี่ยงอันตรายจากสัตว์เลื้อยคลาน, ไฟฟ้าดูด, เศษแก้วของมีคม และเชื้อโรคที่ปะปนมากับน้ำ เป็นต้น

วิธีตรวจเช็ค และซ่อมแซมบ้านหลังน้ำท่วม

ที่สำคัญก่อนเข้าสำรวจบ้าน ควรจัดเตรียมอุปกรณ์ที่จะต้องใช้ในการทำงานให้พร้อม เช่น ไฟฉาย เครื่องมือตรวจสอบกระแสไฟฟ้ารั่ว ไม้ยาวสำหรับเขี่ยเศษขยะกองใบไม้ และแต่งตัวให้รัดกุม เช่น สวมกางเกงขายาว รองเท้าผ้าใบพื้นยาง สวมหมวกนิรภัย สวมถุงมือยางกันไฟดูด เป็นต้น

การสำรวจบริเวณรอบบ้าน

การสำรวจบ้าน ควรเริ่มจากบริเวณรอบ ๆ ตัวบ้านก่อนเป็นลำดับแรก ตามด้วยตัวบ้านภายนอก จากนั้นจึงเข้าสำรวจภายในบ้าน ไล่เรียงไปทีละห้องพร้อมกับการถ่ายภาพ จดบันทึกรายการซ่อมแซม โดยอาจจะทำสัญลักษณ์ลงบนผังพื้นบ้านเพื่อระบุตำแหน่งด้วยก็ได้

 

เมื่อน้ำลด…ดินรอบบ้านมักจะยุบตัวลง บางส่วนไหลไปกับกระแสน้ำ ทำให้เกิดโพรงข้างบ้าน, สนามหญ้า และไม้พุ่มเตี้ย รวมถึงไม้ยืนต้นบางส่วนสำลักน้ำตาย และท่อระบายน้ำทิ้งอุดตันจากเศษขยะและตะกอนดินที่ถูกน้ำพัดพามาทับถมกัน

วิธีตรวจเช็ค และซ่อมแซมบ้านหลังน้ำท่วม

การแก้ไขปัญหาควรกำจัดเศษขยะบนพื้นดิน และซากต้นไม้ที่ตายออกก่อน จากนั้นลอกท่อระบายน้ำ ตักตะกอนดินออกจากท่อ ต่อด้วยการทำแนวกำแพงกันดินปิดล้อมพื้นที่เพื่อกั้นกักเก็บดินเดิมเอาไว้และเพื่อปิดโพรงข้างบ้านเนื่องจากอาการดินยุบตัว หรืออาจเลือกใช้การฉีดโฟมซีเมนต์ ซึ่งมีลักษณะเป็นของเหลวให้ไหลไปเติมเต็มช่องว่างใต้บ้าน แล้วจึงถมดินเพิ่มเพื่อทดแทนดินเดิมที่หายไป โดยเจ้าของบ้านสามารถตกแต่งบริเวณรอบบ้านเพิ่มเติมด้วยบล็อกทางเดิน หรือปูหญ้าเทียมแทนการปลูกหญ้าจริง เนื่องจากดูแลรักษาง่าย ซ่อมแซมง่าย และค่าใช้จ่ายไม่สูง

 

โครงสร้างและงานระบบอาคาร

เมื่อน้ำลด…อาจพบว่าโครงสร้างเสา คาน พื้น ผนังบ้าน รั้วมีรอยแตกร้าวลึก ล้มเอียง ทรุดตัว ขอแนะนำให้ปรึกษาแนวทางการซ่อมแซมกับวิศวกรโยธา และว่าจ้างทีมช่างที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางเข้ามาดำเนินการ เช่นเดียวกับงานซ่อมแซมที่เกี่ยวข้องกับกระแสไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นปั๊มน้ำ เครื่องคอมเพลสเซอร์แอร์ ปลั๊กไฟ โคมไฟ หากตรวจสอบพบว่ามีกระแสไฟฟ้ารั่ว ให้ปรึกษาและว่าจ้างช่างไฟฟ้าเข้ามาดำเนินการซ่อมแซม ไม่ควรลงมือทำเองเพราะมีอันตรายถึงเสียชีวิตได้

วิธีตรวจเช็ค และซ่อมแซมบ้านหลังน้ำท่วม

วัสดุกรุผิวอาคาร

เมื่อน้ำลด…วัสดุปูพื้นภายในบ้านเสื่อมสภาพการใช้งาน หลุดร่อน, ผนังบ้านเปื้อนคราบดิน ชื้น สีโป่งพองหลุดร่อน และมีตระไคร่น้ำ, ฝ้าเพดานยิปซั่ม บวม เปื่อย เป็นเชื้อรา, และ บานประตู หน้าต่างไม้จริง บวม บิดโก่ง เสียรูป ทำให้เปิดปิดยาก การแก้ไขควรรอให้ความชื้นลดลงเสียก่อน จากนั้นถอดบานประตู หน้าต่างไม้ออก นำไปไสตัดแต่งแก้ไขการบิดโก่งตัว แล้วทาน้ำยาเคลือบไม้นำกลับมาใช้งานใหม่ได้ แต่อาจจำเป็นต้องเปลี่ยนบานพับ มือจับ ลูกบิด กลอน รางเลื่อน ในกรณีที่เป็นสนิมจนไม่สามารถนำกลับมาใช้งานได้ ต่อด้วยการขัดล้างคราบดิน สีทาผนังที่โป่งพอง และตระไคร่น้ำออก พร้อม ๆ กับการขัดล้างพื้นบ้าน และรื้อวัสดุปูพื้นที่หลุดร่อน หากน้ำท่วมถึงระดับฝ้าเพดาน ก็ควรรื้อฝ้าเพดานยิปซั่มทิ้งทั้งหมด

 

จากนั้นทาน้ำยาฆ่าเชื้อรา และน้ำยาป้องกันตะไคร่น้ำบนผนังบ้านทั้งภายในและภายนอก แล้วทาสีจริงทับอีกชั้น ขณะที่พื้นควรเลือกใช้กระเบื้องเซรามิกปูแทนวัสดุเดิม เนื่องจากทนต่อการแช่น้ำเป็นเวลานานได้เป็นอย่างดี ส่วนฝ้าเพดานควรเปลี่ยนมาใช้ไฟเบอร์ซีเมนต์บอร์ด หรือปล่อยโล่งไม่ติดตั้งแผ่นฝ้าดานแต่ก็จะต้องเดินสายไฟให้เรียบร้อย

 

สำหรับบ้านที่ประสบกับปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก อาจลองพิจารณาทางเลือกใหม่เป็นการออกแบบก่อสร้างบ้านหลังใหม่แทนบ้านเดิม โดยใช้แนวคิดการยกใต้ถุนสูงแบบเรือนไทยมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบเพื่อรับมือกับน้ำท่วม อาทิ ยกตัวบ้านชั้นล่างให้สูงพ้นระดับน้ำท่วม, ย้ายตำแหน่งระบบถังบำบัด ถังเก็บน้ำ ที่เคยฝังอยู่ใต้ดินจะถูกนำขึ้นมาตั้งไว้บนดินที่ใต้ถุนบ้าน, ปั๊มน้ำ และคอมเพลสเซอร์แอร์ ที่เคยวางไว้บนพื้นในระดับดินอาจทำการต่อขายกสูงให้พ้นระดับน้ำท่วม เพื่อให้ง่ายในการดูแล แต่บ้านที่ยกใต้ถุนสูงในลักษณะนี้จะเสียพื้นที่ใช้สอยชั้นล่างถ้าไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร และมีการใช้งานที่ไม่เหมาะกับกลุ่มผู้สูงวัยสักเท่าไหร่

วิธีตรวจเช็ค และซ่อมแซมบ้านหลังน้ำท่วม