คลายล็อกดาวน์ - คืนเม็ดเงิน ศก. "ลลิล" ลุ้น อสังหาฯฟื้นไตรมาส 4

04 ต.ค. 2564 | 12:23 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ต.ค. 2564 | 19:36 น.

" ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ " คาด ไตรมาส 4 กำลังซื้ออสังหาฯเพิ่ม ฟื้นภาพรวมธุรกิจ ยืนเป้ายอดขาย 7 พันล้าน หลังเห็นสัญญาณบวก "คลายล็อคดาวน์ " กระจายวัคซีน- ส่งออกเดินหน้า และท่องเที่ยวเริ่มฟื้น

นายชูรัชฏ์ ชาครกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ (LALIN) ผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์คุณภาพภายใต้คอนเซ็ปต์ ‘บ้านที่ปลูกบนความตั้งใจที่ดี’ เปิดเผยว่า การผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ของภาครัฐที่ประกาศปรับลดระยะเวลาเคอร์ฟิว พร้อมผ่อนคลาย 10 กิจการให้กลับมาเริ่มดำเนินงานได้อีกครั้ง ภายใต้มาตรการด้านสาธารณสุขที่เข้มข้นและจะส่งผลบวกต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้อย่างแน่นอน 

 

นอกจากนี้มีความพยายามในการผลักดันให้นักท่องเที่ยวกลับมาเดินหน้าได้เต็มที่มากขึ้น โดยการกำหนดแผนพื้นที่นำร่อง ลดเวลากักตัวในการเดินทางเข้าไทย สำหรับผู้ที่มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์มาแล้วอย่างน้อย 14 วัน ให้กักตัวอย่างน้อย 7 วัน รวมทั้งขยายระยะเวลารับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Special Tourist Visa (STV) เพิ่มอีก 1 ปี 

 

ล้วนเป็นการเตรียมความพร้อมสู่การเปิดประเทศเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้เดินหน้า ภายหลังจากเกิดการระบาดระลอก 4 ของโควิด-19 ในประเทศไทย ส่งผลให้ภาพรวมทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นทั้งภาคเศรษฐกิจและประชาชนเริ่มปรับตัวดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด หากภาครัฐเดินหน้าอัดฉีดเม็ดเงินเพิ่ม 1 ล้านล้านบาท  เพื่อพยุงและผลักดันกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจเกิดการฟื้นตัว ซึ่งจะช่วยให้กลไกธุรกิจกลับมาทำงานได้อย่างมีศักยภาพดังเช่นประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรปและเอเชียที่ได้ดำเนินการมาแล้ว และกลับมาใช้ชีวิตตามปกติแล้ว

" ภาพรวมเศรษฐกิจดูเหมือนจะเริ่มขยับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น โดยทาง ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ ก็ยังคงเดินหน้าแผนในการดำเนินธุรกิจอย่างรัดกุม เพื่อรักษาเสถียรภาพทางธุรกิจให้แข็งแกร่งอยู่เสมอ “บริษัทฯ มีการประเมินสถานการณ์เพื่อนำมาปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ ทั้งจากการ Lean องค์กร รวมทั้งปรับกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพิ่มขึ้น โดยนำระบบ IT มาใช้ทั่วทั้งองค์กร ส่งผลให้การทำงานเกิดความคล่องตัวยิ่งขึ้นให้สอดรับกับยุคปัจจุบันอย่างเหมาะสม รวมถึงการขยายธุรกิจในการเปิดตัวโครงการใหม่ที่ต้องทำอย่างถูกเวลาตอบโจทย์กำลังซื้อที่มีอยู่จริงในตลาด " 

 

 

ด้านการบริหารสภาพคล่องทางการเงินก็เป็นเรื่องที่บริษัทฯ ให้ความสำคัญเช่นกัน ซึ่งได้เตรียมแผนสำรองไว้โดยมีวงเงินสินเชื่อกับธนาคารรวม  2,600  ล้านบาท มีวงเงินหุ้นกู้คงเหลืออีก 2,000 ล้านบาท รวมทั้งมีเงินสดสำรองภายในบริษัทฯ ที่ยังเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน ทั้งยังมุ่งเน้นพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยให้สามารถเติมเต็มไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค และได้นำระบบเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในทุกส่วนขององค์กร รวมทั้งการใช้ดิจิทัลมาร์เกตติ้งที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้าโดยตรง เนื่องจากในปัจจุบันผู้บริโภคมีความต้องการทราบข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็วมากยิ่งขึ้น

ด้านภาพรวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของไทยในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2564 นั้น นายชูรัชฏ์ ประเมินสถานการณ์ดังกล่าวว่า “จากตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19ที่ลดลง ประกอบกับแผนเร่งรัดในการกระจายวัคซีนของภาครัฐสู่พื้นที่ยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจทำให้ยอดผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นตลอดช่วงที่ผ่านมา ล้วนส่งสัญญาณบวกต่อความเชื่อมั่นภาพรวมเศรษฐกิจและธุรกิจอสังหาฯ ไทยอย่างชัดเจน ทั้งนี้หากไทยยังคุมตัวเลขผู้ติดเชื้อให้ลดลงอย่างต่อเนื่องก็จะยิ่งทำให้ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วยิ่งขึ้น เมื่อกลไกหลักของประเทศกลับมาทำงาน กำลังซื้อก็จะเริ่มกลับมาเช่นกัน ซึ่งเชื่อว่าไตรมาสสุดท้ายของปีจะเป็นช่วงที่คุ้มค่าอย่างมากสำหรับผู้บริโภค เพราะนอกจากผู้ประกอบการน่าจะจัดโปรโมชันพิเศษให้ลูกค้า รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่ยังทรงตัวในระดับต่ำ ทั้งยังมีมาตรการรัฐเข้ามาเสริมทั้งด้านการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองสำหรับผู้ที่ซื้อบ้านหรือคอนโดมิเนียมราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทที่จะสิ้นสุดปลายปีนี้ก็จะเป็นอีกปัจจัยในการกระตุ้นการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคเช่นกัน”

 

ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งปีแรก 2564 ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ มียอดรับรู้รายได้แล้ว 3,200 ล้านบาท หรือคิดเป็น 53% ของเป้ารับรู้รายได้ทั้งปีที่ 6,000 ล้านบาท และมั่นใจว่าจะสามารถทำผลงานได้ตามเป้าหมาย และยังยืนเป้าขายที่ 7,000  ล้านบาท ซึ่งเกิดจากการตลาดที่เน้นลูกค้า Real Demand เป็นหลัก มีการใช้ Data ในส่วนของ Customer Insight ในการวางกลยุทธ์การตลาด โดยในไตรมาส 4  บริษัทฯวางแผนเปิดตัว 2 โครงการใหม่ในโซนนนทบุรี และโซนสุวรรณภูมิ นายชูรัชฏ์ กล่าวสรุป