ปิดจุดเสี่ยง - สร้างโอกาส ยุคโควิด 19 ของ SCG

02 ก.ย. 2564 | 13:15 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ก.ย. 2564 | 20:26 น.

เปิดเคล็ดลับธุรกิจยุคโควิค แบบฉบับ เอสซีจี “ปิดจุดเสี่ยง” และ “สร้างโอกาส” เผยมุมมองแม่ทัพใหญ่ รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส ชูหลักคิด หาโฟกัส ตัดสินใจไว และ ลงมือทำเร็ว

การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด 19 หลากสายพันธุ์ตั้งแต่ปลายปี 2562 นับเป็นจุดเริ่มต้นของการระบาด ล่าสุดกับการระบาดหนักของสายพันธุ์เดลต้าที่กระจายเชื้อได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ยากจะประเมินว่า “เมื่อใดการระบาดจะยุติลง” แต่ทว่า ทุกวิกฤตย่อมมีโอกาสแฝงอยู่เสมอ ดังนั้น “การเรียนรู้ที่จะอยู่กับโควิด 19”  และหาทางรอด จึงเป็นสิ่งที่ผู้คน ภาคธุรกิจ เริ่มให้ความสำคัญมากขึ้น เพื่อรับมือกับวิกฤตที่ยังมองไม่เห็นจุดจบนี้

 

“ความปลอดภัยของพนักงาน” ปัจจัยสำคัญ “ดันธุรกิจเดินหน้าต่อเนื่อง”

มีคำถามมากมาย ตั้งแต่เริ่มมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ว่า SCG อยู่ในภาคการผลิตและการบริการซึ่งมีระบบซัพพลายเชนที่หลากหลาย มีการจัดการให้ธุรกิจสามารถดำเนินการได้ต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในยุคโควิด 19 ได้อย่างไร

 

ที่ SCG ได้ปรับการทำงานเป็นรูปแบบ Hybrid Workplace แบ่งประเภทการทำงานเป็น 2 ส่วนหลัก คือ ให้พนักงานออฟฟิศ ทำงานจากที่บ้าน หรือ Work From Home ส่วนพนักงานในสายการผลิตที่ทำงานในโรงงาน แบ่งเป็น Critical กับ Non-Critical ตามมาตรการ Bubble and Seal แยกพนักงานออกเป็น 2 กลุ่ม เพื่อให้สามารถบริหารจัดการการผลิตสินค้าได้แม้จะมีผู้ติดเชื้อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

ปิดจุดเสี่ยง - สร้างโอกาส ยุคโควิด 19 ของ SCG

 

“เราบอกกับพนักงานทุกคนว่า วิกฤตครั้งนี้ส่งผลกระทบค่อนข้างลึก และมีผลกระทบในวงกว้าง สิ่งหนึ่งที่เราต้องพยายามทำให้มากที่สุด คือมองหาโอกาส โดยต้องยืดหยุ่นและปรับตัว (Resilience) ให้ทันต่อพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา”

 

“ปรับตัวไว” ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล พัฒนากระบวนการผลิต เชื่อมความต้องการลูกค้า

SCG มีประสบการณ์และเรียนรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมผู้บริโภคมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างลึกซึ้ง รู้ว่าผู้บริโภคต้องการอะไร เมื่อใดที่ต้องการใช้สินค้า จากเดิมที่ผู้บริโภคต้องการสินค้าและบริการเพื่อสร้างบ้านใหม่ สำนักงานใหม่ แต่ปัจจุบัน วิถีชีวิตการทำงานจากที่บ้าน ทำให้ SCG ยกระดับการทำธุรกิจไปสู่การผลิตสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในการปรับพื้นที่ในบ้านให้อยู่สบาย ขณะเดียวกันก็สามารถ Work From Home ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้ใช้ประโยชน์จากช่องทางออนไลน์ หรือระบบอีคอมเมิร์ซเข้ามาเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ลูกค้าในการเลือกและสั่งซื้อสินค้า

ปิดจุดเสี่ยง - สร้างโอกาส ยุคโควิด 19 ของ SCG

“เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยเราได้อย่างมากภายใต้สถานการณ์โรคระบาด เช่นในธุรกิจโลจิสติกส์ แทนที่จะต้องพึ่งพากับการติดต่อสื่อสารบนช่องทางปกติ เราสามารถทำทุกอย่างบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ช่วยวางแผน บริหารจัดการซัพพลายเชน ให้มีวัตถุดิบเข้าสู่กระบวนการผลิต ขณะเดียวกันก็สามารถขนส่งสินค้าไปมอบให้แก่ลูกค้าได้ทันต่อความต้องการ”

เตรียมความพร้อมองค์กร “ลุยนวัตกรรมสีเขียว” รับเทรนด์โลกเติบโตสูง

SCG หวังว่า ความต้องการของผู้บริโภคจะฟื้นตัวหลังจากนี้ โดยการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในสหรัฐอเมริกา ยุโรป รวมทั้งจีน ตั้งแต่ปลายปี 2563 ช่วยทำให้ธุรกิจเคมิคอลส์ซึ่งมีสัดส่วนรายได้ประมาณครึ่งหนึ่ง หรือ 50% ของรายได้ทั้งหมด ดำเนินธุรกิจไปได้อย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะในตลาดอาเซียน และมั่นใจว่าโครงการลงทุนในประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง

ปิดจุดเสี่ยง - สร้างโอกาส ยุคโควิด 19 ของ SCG

สำหรับธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ที่มีสัดส่วนรายได้ 30% ของรายได้ทั้งหมด แม้ว่าช่วงนี้จะได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อที่ชะลอตัว และมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาล เพื่อควบคุมและป้องกันการระบาดของเชื้อโควิด 19 SCG ก็ได้ยกระดับธุรกิจค้าปลีกในรูปแบบ Active Omni-Channel ที่นำเทคโนโลยีดิจิทัล เข้ามาช่วยเชื่อมต่อการซื้อสินค้าออนไลน์กับร้านค้า เพื่ออำนวยความสะดวกและตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในยุคอีคอมเมิร์ซ อย่างแท้จริง ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญด้านการพัฒนานวัตกรรมการก่อสร้างที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Green Manufacturing) และการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)

ปิดจุดเสี่ยง - สร้างโอกาส ยุคโควิด 19 ของ SCG

ด้านธุรกิจแพ็กเกจจิ้ง ที่มีสัดส่วนรายได้คิดเป็น 20% ของรายได้ทั้งหมด SCG ได้วางแผนการเติบโตไว้อย่างยั่งยืน ทั้งการลงทุนและพัฒนาบรรจุภัณฑ์อาหาร รวมทั้งนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ที่ตอบโจทย์เพื่อสุขภาพ

 

ขณะเดียวกันก็เดินหน้าในการลงทุนด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะสินค้าอัจฉริยะต่าง ๆ นวัตกรรมรถไฟฟ้า (EV) สินค้าสาธารณูปโภคพื้นฐาน สินค้าเพื่อสุขภาพและการอยู่อาศัยที่ดี โดยเฉพาะธุรกิจด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และไบโอพลาสติกที่เติบโตสูง เพื่อตอบรับเทรนด์และความต้องการของตลาดโลกที่เติบโตสูง

 

“ในช่วงวิกฤต เราต้องมีโฟกัส ตัดสินใจไว และ ลงมือทำเร็ว ขณะเดียวกันก็ต้องมองหาโอกาสจากวิกฤต เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว”

 

ทั้งนี้ เศรษฐกิจภาพรวมของประเทศไทยหลังยุคโควิดจะเติบโตได้ รุ่งโรจน์มีความหวังจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของภาคเกษตรกรรม ที่ต้องปรับตัวใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ภาคการเกษตรในฐานะที่เป็นเสาหลักของประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืน