ล็อกดาวน์กทม.-ปริมณฑล สะเทือน ตลาดรับสร้างบ้าน หวั่นติดลบซ้ำปี 63

08 ก.ค. 2564 | 09:29 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ก.ค. 2564 | 16:40 น.

ล็อกดาวน์ กทม. ปริมณ ฑล ฉุดแนวโน้ม ‘ตลาดบ้านสร้างเอง’ ส่อหดตัวซ้ำปี 63 ด้านธุรกิจรับสร้างบ้าน ลุ้นยอดขาย - เซ็นสัญญาไม่เข้าเป้า ด้าน 3 บริษัทใหญ่ เร่งปรับกลยุทธ์กระจายความเสี่ยง นายกสมาคมฯ ประเมิน มาตรการปิดแคมป์ไม่ชัด 1 เดือน มูลค่าตลาดหายวูบราว 5 พันล้านบาท

ตลาดบ้านสร้างเอง 1 ในเซกเตอร์ ของภาคอสังหาริมทรัพย์ไทย สนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ จากมูลค่าโดยรวมทั่วประเทศต่อปี สูงราว 2 แสนล้านบาท (ประเมินจากบ้านจดทะเบียนใหม่) ขณะพื้นที่หลัก กทม.-ปริมณฑล 5 หมื่นล้านบาท 10% เกิดขึ้นผ่านกลุ่มบริษัทธุรกิจรับสร้างบ้านนับร้อยราย ซึ่งแม้เป็นตลาดที่ไม่หวือหวามากนัก แต่อยู่ในอัตราขยายตัวทุกปี

 

อย่างไรก็ตาม จากพิษเศรษฐกิจ และสถานการณ์โควิด-19 ที่ยืดเยื้อ ทำให้เมื่อปี 2563 ตลาดหดตัวลง 5%  ขณะครึ่งปีแรก 2564 เดินเครื่องดี จากกลุ่มลูกค้าเฉพาะ มีที่ดินเอง - วางแผนการเงินมาล่วงหน้าแล้ว ทำให้ผู้ประกอบการหลายใหญ่ ยังคงรักษายอดสั่งจองไว้ได้

 

แต่ล่าสุด การประกาศล็อกดาวน์ พ่วงมาตรการสั่งปิดแคมป์ ห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานก่อสร้างในพื้นที่ ภายใต้ยอดผู้ติดเชื้อโควิดทะลุหลัก 6 พันราย เศรษฐกิจดิ่งลงอีกระลอก และข้อจำกัดทางสังคมนั้น ได้ส่งแรงกระเพื่อมใหญ่ ต่อธุรกิจดังกล่าวอีกครั้ง โดย นายวรวุฒิ กาญจนกูล นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน เผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แม้ในราชกิจจาฯ พรก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 25 พบการก่อสร้างบ้านพักอาศัยส่วนตัว ไม่ได้นับรวม ครอบคลุมให้หยุดก่อสร้างเหมือนโครงการขนาดใหญ่ แต่ประกาศดังกล่าว ได้สร้างความตระหนก-สับสน ให้กับทั้งหน่วยราชการ, คนงาน, เจ้าของบ้าน และผู้ประกอบการ เกิดภาวะช็อกไปชั่วขณะหนึ่ง และบางส่วนเพิ่งกลับมาเดินหน้าธุรกิจได้อีกครั้ง 

 

แต่อย่างไรก็ตาม คำสั่งที่ระบุ ห้ามเคลื่อนย้ายแรงงาน ระยะ 1 เดือน ทำให้การสั่งจอง - เซ็นต์สัญญาก่อสร้างบ้านหลังใหม่ของทั้งตลาด ไม่สามารถทำได้ ประเมินความเสียหายตลาดบ้านสร้างเองในพื้นที่ต่อ 30 วัน ที่ 5 พันล้านบาท ไม่นับรวมผลกระทบต่อซัพพลายเชนเกี่ยวพัน  ส่วนยอดจากสมาชิก อาจหายไปประมาณ 1 พันล้านบาท ฉุดการเติบโต ที่คาดไว้ว่าทั้งปี ยอดขายรวมจะกลับมาอยู่ที่ระดับ 1.2 หมื่นล้านบาท คาดหากสถานการณ์โควิดยังไม่จบ ตลาดอาจติดลบซ้ำอีก 10% 

 

ที่สำคัญ นายวรวุฒิ กล่าวว่า บิ๊กอีเว้นท์ของตลาด ซึ่งปกติจะจัดขึ้นทุกปี ปีละ 2 ครั้งภายใต้ “งานรับสร้างบ้าน Focus” ส่อแววไม่สามารถจัดได้สักครั้ง เนื่องจากปีนี้ หลังจากงานแรก เดือน มี.ค. ถูกยกเลิกไป กำหนดจัดใหม่ เดือน ส.ค. ที่เมืองทองธานี แต่ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าว ถูกจัดเป็น รพ.สนามของรัฐ และรัฐเพิ่งต่อสัญญาเช่าพื้นที่ใหม่ คาดหากเดือน ต.ค. ผู้ติดเชื้อยังเพิ่มขึ้น ปีนี้คงต้องงดทั้งหมด สูญยอดขายต่อครั้งราว 3 พันล้านบาท 

 

“ล็อกดาวน์ 30 วัน คงอยู่ในภาวะพอทนไหว เพื่อช่วยตัดตอนการแพร่เชื้อให้จบเร็วสุด แต่หากคำสั่งล็อกดาวน์ยืดเยื้อ ขณะแผนวัคซีนยังมีปัญหา ผู้คนไม่กล้ากลับมาใช้ชีวิตปกตินั้น มีผลต่อเศรษฐกิจแน่ เราคงไม่ต่างจากธุรกิจอื่นๆ ที่ถูกสั่งปิดอยู่ไม่ไหว ก็ล้ม ประเมินปีนี้อาจแย่กว่าปี 63”

ล็อกดาวน์กทม.-ปริมณฑล สะเทือน ตลาดรับสร้างบ้าน หวั่นติดลบซ้ำปี 63

ด้านเบอร์ใหญ่ธุรกิจรับสร้างบ้าน นางสาวพรรัตน์ มณีรัตนะพรผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและผู้อำนวยการฝ่ายขาย บริษัท แลนดี้ โฮม (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า ตราบใดที่กำลังซื้อยังไม่ฟื้นตัว ธุรกิจทุกภาคส่วน มีผลกระทบมากน้อยแตกต่างกัน ส่วนตลาดรับสร้างบ้านเอง สัญญาณอาจดีกว่าภาคอสังหาฯ บ้านจัดสรร-คอนโดฯ เล็กน้อย เพราะมีกลุ่มลูกค้าเฉพาะ 

 

อย่างไรก็ตาม แม้มาตรการล็อกดาวน์ไม่ได้กระทบโดยตรง แต่ขณะนี้มีโรงงานวัสดุก่อสร้างบางแห่ง ถูกสั่งปิดจากการติดเชื้อ ทำให้ต้องหาแผนสำรอง เร่งเจรจากับซัพพลายเออร์ อื่นๆ เพื่อสั่งซื้อวัสดุในทุกหมวดงาน กระจายความเสี่ยงได้ระดับหนึ่ง พร้อมสร้างความมั่นใจให้ลูกค้า ถึงมาตรการความปลอดภัย ปลอดเชื้อ ในการส่งแรงงานเข้าไปสร้างบ้าน และหันไปเน้น กิจกรรมขายออนไลน์ และภายในโชว์รูมแทน โดยเอางบพิเศษ มาให้ส่วนลดโปรโมชั่นเต็มที่ ทั้งนี้ ด้วยความน่าเชื่อถือของบริษัท, นวัตกรรม  CAP+ และแบบบ้านหลากหลาย คาดว่าจะทำยอดขายได้ตามเป้า 2.4 พันล้านบาท 

 

“ยอมรับว่ายอดขายปีนี้เหนื่อยกว่าทุกปี ตรงที่สถานการณ์มีความไม่แน่นอนสูง ต้องคอยปรับกลยุทธ์ตลอดเวลา  ไม่สามารถวางแผนอีเว้นท์ล่วงหน้าได้นานๆ อีกทั้งธนาคารปล่อยสินเชื่อยากขึ้น แต่ในวิกฤติก็พอมีโอกาสอยู่ ต้องแก้กันไป ครึ่งปีแรกยอดสั่งจองยังตามเป้า” 

 

ขณะบริษัทเก่าแก่ บริษัท ซีคอน จำกัด ซึ่งปีนี้ ตั้งเป้ายอดจองสร้างบ้าน 1.7 พัน ล้านบาทนั้น นายมนู ตระกูลวัฒนะกิจ กรรมการผู้จัดการบริษัท ระบุว่า แม้ครึ่งปีแรก ตัวเลขยังได้ตามเป้าหมายที่ 800 ล้านบาท แต่เริ่มมีความกังวล และต้องลุ้นว่ายอดรายได้จะเข้าเป้าหรือไม่ จากที่ประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นปี 2563 มาได้ เนื่องจาก งานแฟร์ใหญ่ 6 งานต่อปี  ปีนี้เพิ่งเปิดบูธ ทำโปรโมชั่นให้ลูกค้าได้แค่ 2 งานเท่านั้น ลุ้นอีก 4 งานที่เหลือ เช่น บ้านและสวน, Home Focus ว่าจะสามารถจัดได้หรือไม่ แต่แนวโน้มเสี่ยงเลื่อนสูง กระทบแน่นอน 

 

ทั้งนี้ บริษัทเดินหน้าปรับกลยุทธ์ ไปสู่มาร์เก็ตติ้งออนไลน์ ซึ่งได้ผลค่อนข้างดี เนื่องจากเป็นตลาดเรียลดีมานด์ เซกเม้นท์กลาง-บน ช่วยประคอง ทดแทนธนาคารรีเจ็กต์สินเชื่อลูกค้ากลุ่มล่าง 

 

“คงต้องลุ้นว่ายอดจองจะเข้าเป้าหรือไม่ แต่ยอดรับรู้รายได้ในมือ พอประคองตัวได้อยู่ อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่า การก่อสร้างบ้านในกลุ่มรับสร้างบ้าน ยังไม่พบโควิดระบาดในไซต์งาน แต่เงื่อนไขที่ ศบค.โยนไม้ต่อให้กรมโยธาฯ อาจทำให้ตลาดเกิดความยุ่งยากขึ้น”

ส่วน บริษัท ปทุมดีไซน์ ดีเวล ลอป จำกัด หรือ ศูนย์รับสร้างบ้านพีดีเฮ้าส์ โดย นายพิศาล  ธรรมวิเศษ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ เผยว่า ทันทีที่รัฐบาลใช้มาตรการสูงสุด ในการสั่งล็อกดาวน์ห้ามเคลื่อนย้ายแรงงาน ได้สร้างความวิตกกังวล - สับสน ทั้งในกลุ่มผู้ประกอบการ และ ผู้บริโภค จนทำให้ลูกค้าบางส่วน ตัดสินใจเลื่อนแผนสร้างบ้านใหม่ออกไป ส่งผลบริษัทได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่ต้องการปลูกสร้างบ้าน ในพื้นที่ กทม.-ปริมณฑล ติดต่อขอชะลอเซ็นต์สัญญาว่าจ้าง เพื่อรอดูสถานการณ์ก่อน 

 

ทั้งนี้ จากประสบการณ์วิกฤติก่อนหน้า 7-8 ปี บริษัทจึงเดินหน้าขยายสาขาไปยังต่างจังหวัด กลุ่มหัวเมืองรอง 2-3 สาขา ได้แก่ พิจิตร นครนายก และราชบุรี เพื่อหวังลดความเสี่ยง หากเกิดวิกฤติกำลังซื้อบางพื้นที่หดตัว และหาทางเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายให้มากขึ้น มั่นใจจะช่วยส่งเสริมให้ยอดขายเข้าเป้า 1.1 พันล้านบาท แม้มูลค่าตลาดรวมปีนี้อาจหดตัวก็ตาม


หน้า 20 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,694 วันที่ 8 - 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2564