กระเทียมไทย โดดเด่นเรื่องกลิ่นและยังเป็นสมุนไพรหากใช้อย่างถูกวิธี แต่เนื่องจากอายุการจัดเก็บกระเทียมอยู่ได้ไม่นาน เกษตรกรส่วนใหญ่จึงเลือกขายกระเทียมสด ซึ่งถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง สหกรณ์การเกษตรแม่สะเรียง จำกัด จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่เป็นแหล่งกระเทียมที่ดีที่สุดจึงต่อยอดด้วยการผลิตกระเทียมผง อัดแคปซูล สร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นกว่า 8 เท่าตัว
ดังนั้นสหกรณ์การเกษตรแม่สะเรียง ได้เข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรแปรรูปกระเทียมเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า โดยได้รับสนับสนุนงบประมาณจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อใช้ลงทุนเปลี่ยนเครื่องจักร รวมทั้งได้นำผลผลิตกระเทียมส่งทดสอบแปรรูปเป็นกระเทียมผง สู่ขั้นตอนผลิตกระเทียมอัดเม็ด กระเทียมแคปซูล รวมทั้งมีโรงเรือนมาตรฐาน กระบวนการผลิตกระเทียมแคปซูลมีคุณภาพผ่านการรับรองมาตรฐาน GMP สร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคมากขึ้นภายใต้แบรนด์ “ใจกระเทียม”
สำหรับแนวทางดังกล่าวนอกจากจะพัฒนาการผลิตกระเทียมให้มีปริมาณและสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ช่วยแก้ปัญหาราคาตกต่ำ และช่วยให้สมาชิกสหกรณ์มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยมีเป้าหมายเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตกระเทียมปลอดภัย 100 ไร่ ปริมาณผลผลิต 2,027 ตัน ให้สมาชิก 115 ราย รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการแปรรูปกระเทียม 161 ตัน ให้กับสมาชิกที่รวบรวม 30 ราย สำหรับปีการผลิต 2563 และเป็นการดำเนินการต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563-2571
“ผลผลิตกระเทียมที่ได้จะมีพ่อค้ามารับซื้อในราคาต่ำ สหกรณ์ฯ จึงมีแนวทางช่วยสมาชิกด้วยการรวบรวมผลผลิตซื้อจากสมาชิกและนำบางส่วนนำมาแกะกลีบที่เหลือนำมาทำความสะอาด มัดจุกบ้าง ตัดหัวคัดเกรดบ้าง แต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จ”
นางสาวไขศรี กองแก้ว ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรแม่สะเรียง จำกัด จ.แม่ฮ่องสอน อธิบายให้เห็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ต้องมีการยกระดับจากการแปรรูปขั้นต้นเพื่อนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เพิ่มมูลค่ามากขึ้น
สอดคล้องกับความเห็นของนางอภิรดี เมืองชัย เกษตรกร ผู้ปลูกกระเทียม อ.แม่สะเรียง ที่เห็นว่าการขายกระเทียมผ่านพ่อค้าคนกลาง ทำให้เกษตรกรกำหนดราคาเองไม่ได้
“ถ้าพ่อค้าบอกกิโลกรัมละ 10 บาท ต้องขายตามนั้น แต่ปีนี้รู้สึกว่าราคาดีขึ้นมาก เพราะมีสหกรณ์ฯ เข้ามาช่วยเหลือเพื่อพยุงราคาสูงขึ้น โดยขายได้กิโลกรัมละ 21-21.50 บาท” นางอภิรดี กล่าว
หากมองความแตกต่างของการแปรรูปกระเทียมจะเห็นว่า กระเทียมของสมาชิกสหกรณ์ฯ ที่อยู่ในมาตรฐาน GAP ขายแห้งได้กิโลกรัมละ 40 บาท แต่เมื่อนำมาบดเป็นผงจะอยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 4,000 บาท โดยกระเทียมแห้ง 1 ตัน สามารถบดได้ผงกระเทียมได้ 80 กิโลกรัม
การส่งเสริมการแปรรูปกระเทียมได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมสหกรณ์มาอย่างต่อเนื่อง โดยนายนรินทร์ศักดิ์ พินิตธรรมกูล สหกรณ์จังหวัดแม่ฮ่องสอน เล่าให้ฟังว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้สนับสนุนอุปกรณ์ การแปรรูปกระเทียม เช่น อุปกรณ์การแกะกลีบกระเทียม การบด การบรรจุแคปซูล จนสหกรณ์ผลิตสินค้าออกสู่ตลาดได้ รวมทั้งกรมฯ ได้ส่งเสริมด้านการตลาดทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ผ่านการเชื่อมโยงเครือข่ายสหกรณ์แต่ละจังหวัด ประสานการวางจุดจำหน่าย และการสร้างซูเปอร์มาร์เก็ตในสหกรณ์
ขณะที่ จุดเด่นกระเทียมที่เพาะปลูกในอำเภอแม่สะเรียง คือ เป็นสีม่วง เพราะแม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดสุดท้ายที่พระอาทิตย์ตกทำให้กระเทียมในอำเภอแม่สะเรียงได้รับแสงแดดยาวกว่าพื้นที่อื่น โดยพื้นที่ในอำเภอแม่สะเรียง ปลูกกระเทียมมานาน เฉพาะสมาชิกสหกรณ์ฯ มี 250 ไร่ ผลผลิตที่ได้ 800-1,000 ตัน ปลูกในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย.และเก็บเกี่ยวปลายเดือน มี.ค.-ต้น เม.ย.