กรมส่งเสริมสหกรณ์ แจง กรณีสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูอุบลฯ ไม่ได้รับเงินสวัสดิการ

07 มิ.ย. 2566 | 16:10 น.
อัปเดตล่าสุด :07 มิ.ย. 2566 | 16:33 น.

กรมส่งเสริมสหกรณ์ แจง กรณีสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูอุบลฯ ไม่ได้รับเงินสวัสดิการ ตามที่ปรากฎเป็นข่าวว่า “สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูอุบลฯ โวยไม่ได้รับเงิน 5 โครงการสวัสดิการหลัง สหกรณ์จังหวัดสั่งหยุดจ่าย”

จากกรณีดังกล่าว สำนักงานสหกรณ์จังหวัดอุบลราชธานี ได้ตรวจสอบพบว่าสหกรณ์ออมทรัพย์ครูอุบลราชธานี จำกัด จัดสวัสดิการหรือตั้งกองทุนสวัสดิการต่าง ๆ โดยมีสวัสดิการ 5 สวัสดิการ ได้แก่ (1) สวัสดิการสงเคราะห์สมาชิก และครอบครัวสมาชิก โครงการ 1 หรือ ส.ค.ส. 1 (2) โครงการสวัสดิการ ส.ค.ส. 2 (3) โครงการสวัสดิการ ก.ส.ค. (4) โครงการสวัสดิการ ก.น.ส. และ (5) โครงการสวัสดิการ ร่มเกล้าไทรทอง ซึ่งหลักเกณฑ์การจ่ายเงินแก่สมาชิกที่เข้าร่วม โครงการสวัสดิการ ทั้ง 5 โครงการนั้น มีลักษณะเข้าข่ายธุรกิจประกันชีวิต ซึ่งสหกรณ์ฯ ไม่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินธุรกิจ ลักษณะเช่นนี้ หากฝ่าฝืนจะมีความผิดตามกฎหมายพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535

สหกรณ์จังหวัดอุบลราชธานี ในฐานะรองนายทะเบียนสหกรณ์ ปฏิบัติการแทนนายทะเบียนสหกรณ์ จึงมีคำสั่งนายทะเบียนสหกรณ์ ที่ (อบ) 22/2566 สั่ง ณ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 สั่งให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูอุบลราชธานี จำกัด ชุดปัจจุบัน ระงับการจ่ายเงินสวัสดิการโครงการทั้ง 5 ไว้ก่อน เพื่อให้คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ภาค 5 ซึ่งเป็นหน่วยงานตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 วินิจฉัยว่าสวัสดิการทั้ง 5 โครงการดังกล่าวเข้าลักษณะธุรกิจประกันชีวิตหรือไม่ และการดำเนินการตามระเบียบดังกล่าวจะผิดกฎหมายหรือไม่อย่างไร เพื่อจะได้นำแนวทางตามข้อหารือไปแนะนำให้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูอุบลราชธานี จำกัด ถือปฏิบัติให้ถูกต้องต่อไป

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า สหกรณ์ออมทรัพย์ครูอุบลราชธานี จำกัด ได้ขอหารือแนวทางการจ่ายคืนเงินแก่สมาชิกที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งสำนักงานสหกรณ์จังหวัดฯ ได้มีหนังสือตอบข้อหารือแล้วว่า หากคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ภาค 5 มีคำวินิจฉัยว่าสหกรณ์ฯ ไม่สามารถดำเนินการตามสวัสดิการได้ สหกรณ์ฯ สามารถถอนเงินสวัสดิการของสมาชิกที่โอนเข้าเป็นทุนสำรองของสหกรณ์ได้เป็นไปตามแนวทางที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้เคยให้แนวทางการจ่ายคืนเงินที่รับบริจาคเข้ากองทุนสำรองของสหกรณ์ว่าการนำเงินสมทบของสมาชิกเข้ากองทุนสำรอง ไม่ถือเป็นเงินอุดหนุน และไม่เป็นเงินที่มาจากการจัดสรรกำไรสุทธิประจำปี สหกรณ์จึงสามารถถอนเงินของผู้เข้าร่วมโครงการจากทุนสำรองคืนให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้ โดยไม่ต้องห้ามตามมาตรา 61 แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม สำหรับวิธีปฏิบัติทางบัญชีสหกรณ์ต้องโอนกลับบัญชีทุนสำรองกับบัญชี...(ที่รับเงินบริจาคมาครั้งแรก) ซึ่งสหกรณ์ได้บันทึกไว้เมื่อโอนทุนดังกล่าวเข้าทุนสำรองของสหกรณ์ และเมื่อสหกรณ์จ่ายเงินคืนให้กับสมาชิกให้บันทึกลดยอดบัญชี...(ที่รับเงินบริจาคมาครั้งแรก) และให้สหกรณ์เปิดเผยข้อมูลไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงิน ซึ่งขณะนี้สหกรณ์ฯ ยังไม่ได้มีการจ่ายคืนเงินบริจาคแก่สมาชิก เนื่องจากรอคำวินิจฉัยจากคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ภาค 5 มีคำวินิจฉัย

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ที่ผ่านมา สหกรณ์จังหวัดอุบลราชธานี ได้เข้าร่วมประชุมใหญ่วิสามัญของสหกรณ์ออม ทรัพย์ครูอุบลราชธานี จำกัด ณ ห้องประชุมสหกรณ์ฯ เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง และเหตุผลในการมีคำสั่งให้สหกรณ์ฯ ระงับ โครงการดังกล่าวให้แก่ผู้แทนสมาชิกได้รับทราบ เพื่อให้ผู้แทนสมาชิกได้เข้าใจ และนำข้อมูลไปถ่ายทอดทำความเข้าใจแก่ สมาชิกในสังกัดต่อไป

หลังจากนี้ สหกรณ์ฯ อาจจะจัดให้มีสวัสดิการแก่สมาชิกทุกคนอย่างทั่วถึง โดยต้องพิจารณาจากฐานะของ สหกรณ์ฯ และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต และต้องไม่ขัดต่อระเบียบ ข้อบังคับของสหกรณ์ และกฎหมายอื่นด้วย

 

กรมส่งเสริมสหกรณ์ แจง กรณีสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูอุบลฯ ไม่ได้รับเงินสวัสดิการ

กรมส่งเสริมสหกรณ์ แจง กรณีสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูอุบลฯ ไม่ได้รับเงินสวัสดิการ

กรมส่งเสริมสหกรณ์ แจง กรณีสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูอุบลฯ ไม่ได้รับเงินสวัสดิการ

กรมส่งเสริมสหกรณ์ แจง กรณีสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูอุบลฯ ไม่ได้รับเงินสวัสดิการ

กรมส่งเสริมสหกรณ์ แจง กรณีสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูอุบลฯ ไม่ได้รับเงินสวัสดิการ