เตือนภัยแอปดูดเงิน! ไม่คลิกลิงค์แปลกปลอมจากไลน์ กันเงินหายหมดบัญชี

28 เม.ย. 2566 | 16:58 น.
อัปเดตล่าสุด :28 เม.ย. 2566 | 17:01 น.

ด้าน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จับมือ เครือซีพี เตือนภัยต่อเนื่อง ฉีดไซเบอร์วัคซีน กระจายสื่อเตือนภัยทุกช่องทางเครือซีพี

ท่ามกลางมาตรการและการแจ้งเตือนภัยไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของเหล่ามิจฉาชีพที่มักจะปรับเปลี่ยนรูปแบบหลอกลวงผู้เสียหายอยู่ตลอดเวลา  สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  และ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ได้ร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง  เพื่อสื่อสารให้ประชาชนทั่วประเทศรู้เท่าทันกลโกงรูปแบบต่างๆ ของมิจฉาชีพได้อย่างรวดเร็วและไม่ตกเป็นเหยื่อเพิ่มขึ้น  

กรณีล่าสุด ผู้เสียหายได้ตกเป็นเหยื่อแอปพลิเคชั่นดูดเงิน ที่แม้จะโอนเงินเข้าบัญชีของตัวเอง แต่กลับถูกมิจฉาชีพใช้กลโกงทางเทคโนโลยี ล่อลวงให้คลิกลิงค์ในไลน์แปลกปลอม จนเสียหายมูลค่านับล้านบาท โดยนายเอ  (นามสมมติ) ได้เปิดเผยว่า ถูกมิจฉาชีพหลอกลวงจากการส่งข้อความ หรือ SMS มาในกลุ่มข้อความเดียวกับของธนาคารนั้นๆ  พร้อมแจ้งว่า มีผู้เข้าสู่ระบบธนาคารจากอุปกรณ์อื่น หากไม่ได้ดำเนินการด้วยตนเอง โปรดต่อติดทันทีที่  ksecurity.xv-line.cc  ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อและกดเข้าลิงค์ดังกล่าว  โดยพบว่าเป็นบัญชีไลน์ที่มิจฉาชีพนำสัญลักษณ์ของธนาคารนั้นมาใช้ในการหลอกลวง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ  และหลอกลวงว่าบัตรเครดิตไม่ปลอดภัย จำเป็นต้องเปลี่ยนรหัสและเปลี่ยนบัญชีเงินฝาก

ทั้งนี้ผู้เสียหายได้โอนเงินออกจากบัญชีธนาคารหนึ่ง  จำนวน 1,200,000 บาท ไปยังบัญชีอีกธนาคารหนึ่งซึ่งเป็นบัญชีของตนเอง  โดยใช้รหัสเดิม 2 ครั้ง และเปลี่ยนรหัส  พร้อมกับรีเซตเครื่องตามที่มิจฉาชีพบอก ต่อมาเมื่อเปิดเครื่องโทรศัพท์ กลับไม่ได้รับข้อความแจ้งเปลี่ยนรหัส และเมื่อตรวจสอบเงินในแอพของธนาคารพบว่า ยอดเงิน 1,200,000 บาท สูญหายไป  ทั้งที่ผู้เสียหายโอนเงินเข้าสู่บัญชีเงินฝากของตนเอง ไม่ได้โอนเข้าสู่บัญชีอื่น จึงไม่คิดว่าจะถูกควบคุมโทรศัพท์ได้  

ด้านพ.ต.ต.วรพรต ตาลแก้ว สว.(สอบสวน) กก.1 บก.สอท.3  เปิดเผยว่า  ค่าเฉลี่ยของคดีแอปพลิเคชั่นดูดเงินก่อนจะมี พ.ร.ก. ปราบอาชญากรรมไซเบอร์บังคับใช้นั้น อยู่ที่ประมาณ 20-30 เรื่องต่อวัน แต่หลังจากที่ พ.ร.ก. ปราบอาชญากรรมไซเบอร์ บังคับใช้แล้วนั้น ธนาคารได้มีการเพิ่มมาตรการทำให้คดีในแต่ละวันลดลงไปค่อนข้างมากคงเหลือประมาณ 10 เรื่องต่อวัน ส่งผลให้ความเสียหายก็ลดลงตามไปด้วย  

“จากกรณีดังกล่าวจุดร่วมของการหลอกเงิน คือ มิจฉาชีพมักจะเล่นกับความกลัว พยายามหลอกให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นเพื่อมาดูดข้อมูล ควบคุมโทรศัพท์ของเรา มีทั้งแบบข่มขู่ หลอกด้วยการให้สิทธิประโยชน์ เพื่อให้ตกหลุมพราง อย่างกรณีเคสที่โอนไปเข้าบัญชีเงินฝากทั้งที่เป็นบัญชีของตนเอง เป็นการดักจับข้อมูลเลขบัญชี PIN เบอร์โทรศัพท์ รหัสผู้เสียหาย เมื่อมิจฉาชีพได้ไปก็สามารถทำการนำเงินออกจากบัญชีได้เหมือนกัน จึงอยากเตือนประชาชนในการป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ใช้สมาร์ทโฟนทุกคน  โดยทางตำรวจได้พยายามสร้างความตระหนักรู้ และสร้างการรับรู้ให้ทั่วถึงประชาชนทุกกลุ่ม พร้อมกับการป้องกันที่จะมีการวางแผนทั้งระยะสั้นและระยะยาว สิ่งสำคัญต้องสร้างการรับรู้ตั้งแต่เยาวชน เพื่อไม่ให้ตื่นตระหนกและให้ตระหนักว่าเรื่องนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน”

ด้านโครงการร่วมผลิตสื่อไซเบอร์วัคซีน ขยายช่องทางประชาสัมพันธ์ระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติและเครือซีพีที่ได้ระดมสรรพกำลังของบริษัทในเครือฯ ทั้ง ซีพีเอฟ  ซีพีออลล์  ทรู แม็คโคร โลตัส สถานีข่าว TNN และช่อง True4U ในการร่วมประชาสัมพันธ์กลโกงของอาชญกรรมไซเบอร์ในทุกช่องทางการสื่อสารอย่างเต็มศักยภาพนั้น ได้มีการเผยแพร่อย่างต่อเนื่อง อาทิ ส่ง SMS เตือนภัย 18 กลโกงจากมิจฉาชีพออนไลน์ผ่านคือทรูมูฟ เอช รวม 37 ล้านเลขหมาย การสื่อสารกระจายวัคซีนไซเบอร์ผ่านกลุ่มธุรกิจของเครือซีพีทั้งค้าปลีกและค้าส่ง ด้วยการเผยแพร่ข่าวสารผ่านสื่อภายในลักษณะต่างๆ ในร้านเซเว่น – อีเลฟเว่นกว่า 13,000 สาขาประเทศ แม็คโคร 152 สาขา และโลตัสมากกว่า 2,000 สาขา  รวมไปถึงการเผยแพร่ข่าวสารผ่านทางสถานีข่าว TNN  ทั้งในรูปแบบรายการข่าวทางโทรทัศน์  และในออนไลน์ 

ทั้งนี้หากพบเหตุการณ์น่าสงสัยที่อาจเกิดจากกลลวงของมิจฉาชีพ อย่ารีบหลงเชื่อ และโทรปรึกษาได้ที่สายด่วน บช.สอท. 1441 หรือ โทร 08-1866-3000 ขณะที่ผู้เสียหายสามารถแจ้งความผ่านระบบออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com