อว. และ วว. ร่วมประชุมหารือกับหน่วยงานชั้นนำออสเตรเลีย สร้างเครือข่ายนานาชาติ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ด้วยนวัตกรรม

19 ธ.ค. 2565 | 14:21 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ธ.ค. 2565 | 21:39 น.

อว. และ วว. ร่วมประชุมหารือกับ องค์การวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งเครือจักรภพ (CSIRO) และสถาบัน Plant Breeding Institute เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานวิจัยและพัฒนาด้านการเทคโนโลยี

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สร้างความร่วมมือเครือข่ายนานาชาติ ด้านนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ นำคณะ วว. และ อว. ร่วมประชุมหารือกับ องค์การวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งเครือจักรภพ (CSIRO) และ สถาบัน Plant Breeding Institute หน่วยงานสังกัดมหาวิทยาลัยแห่งซิดนีย์ (University of Sydney) ประเทศออสเตรเลีย เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การดำเนินงานวิจัยและพัฒนาด้านการเทคโนโลยี ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม การดำเนินงานตามแนวทาง BCG ของผลิตภัณฑ์พลาสติก เทคโนโลยีด้านพืชสวนเกษตรและไม้ดอกไม้ประดับ อาทิ The Commonwealth Scientific and Industrial Research Organisation (CSIRO), Westmead Research Hub (CSIRO), Plant Breeding Institute (USYD) รวมถึงแนวทางการดำเนินงานระหว่างกันในอนาคต เพื่อนำสู่การพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป

 


คณะผู้บริหาร อว. และ วว. เดินทางหารือหน่วยงานชั้นนำในประเทศออสเตรเลีย เมื่อเร็วๆ นี้ นำโดย ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในฐานะประธานคณะกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (กวท.) ร่วมด้วย ศ.(วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ดร.รจนา ตั้งกุลบริบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ (ศนก.) ดร.บุณณณิดา โสดา ผู้อำนวยการกองวิเทศสัมพันธ์ (กวส.) สำนักผู้ว่าการ วว. และดร.อนันต์ พิริยะภัทรกิจ นักวิจัยอาวุโส ศนก. 


 

โดยการเดินทางครั้งนี้ คณะได้ประชุมร่วมกับ Professor Grant Brinkworth, Principal Research Scientist, CSIRO Health and Biosecurity และเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการ The Westmead  Innovation Quarter, Westmead Research Hub โอกาสนี้  ผู้ว่าการ วว.  ได้นำเสนอภาพรวมการดำเนินงาน วว. และการขับเคลื่อนด้านนโยบาย BCG โดยเฉพาะการหารือความร่วมมือในการพัฒนางาน Clinical Trial ในผลิตภัณฑ์อาหารเสริม (Supplementary Food) รวมถึงความร่วมมือในอนาคตด้านการพัฒนาโปรตีนทางเลือกจากพืช Plant-Based Protein ซึ่งเป็นการต่อยอดความเชี่ยวชาญของ วว. ด้านการสกัดสมุนไพรและผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ
 


นอกจากนี้คณะยังได้เข้าหารือกับ Ms.Andrea Sosa-Pintos, IPPIN Senior Program Manager และตัวแทนจากองค์การวิจัยวิทยาศาสตร์ และอุตสาหกรรมแห่งเครือจักรภพ (CSIRO) ซึ่งได้นำทีมปัญญาประดิษฐ์ (AI), ทีมเกษตรสมัยใหม่และทีมพลาสติกเข้าร่วมหารือ เพื่อถกในประเด็น การเกษตรสมัยใหม่ และความร่วมมือทางด้านพลาสติก 



โดยทีม CSIRO กำลังจะเปิดตัวโครงการ Indo-Pacific Plastics Network (IPPN) สำหรับภูมิภาคแม่โขงในต้นปี 2566 ซึ่ง วว. ได้แจ้งความประสงค์จะเข้าร่วมกับโครงการนี้ สำหรับประเด็นความร่วมมือที่เป็นไปได้ คือ ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิคจากทาง CSIRO ในการพัฒนาโมเดลทางธุรกิจของการจัดการขยะในประเทศไทยแบบครบวงจร การแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญระหว่างกัน 

 


ทั้งนี้ คณะได้พบ Professor Richard Tetrowan ผู้อำนวยการสถาบัน Plant Breeding Institute หน่วยงานสังกัดมหาวิทยาลัยแห่งซิดนีย์ (University of Sydney) และ Professor Robert Park หัวหน้าทีมวิจัยโครงการ Rust ได้นำคณะร่วมหารือ พร้อมนำเยี่ยมชมโครงการวิจัย Rust และโครงการวิจัยการเกษตรและเพาะปลูกพืชผลของสถาบันฯ ซึ่งมีภารกิจส่งเสริมงานวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืชเพื่อสร้างผลประโยชน์ ผลกำไร และความยั่งยืนของผลิตผลทั้งทางพืชสวนเกษตรและไม้ดอกไม้ประดับด้วยเทคโนโลยีที่ดีที่สุด
 

งานวิจัยมุ่งเน้นการปรับปรุงพันธุ์ของธัญพืช พืชตระกูลถั่ว พืชสวน รวมถึงการพัฒนาคุณภาพอาหาร ระบบการทำสวน (Farming System) การใช้ดิจิตัลในการเกษตร และการปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและธรรมชาติ ซึ่งการดำเนินการของสถาบัน Plant Breeding Institute ของมหาวิทยาลัยซิดนีย์ มีความสอดคล้องกับภารกิจทางด้านการวิจัยการเกษตรของสถาบันฯ จึงได้แสดงความสนใจในการแสวงหาความร่วมมือ หรือโครงการวิจัยร่วมไปยังสถาบันฯ ก่อนเดินทางกลับ
 


 

ก่อนเดินทางกลับทางคณะ ยังได้สำรวจตลาดผลิตภัณฑ์ไม้ดอกไม้ประดับ ณ Sydney Flower Market  ซึ่งเป็นตลาดไม้ตัดดอกที่ใหญ่ที่สุดของประเทศออสเตรเลีย ดอกไม้ที่จำหน่ายในออสเตรเลียส่วนใหญ่ร้อยละ 50 จำหน่ายในตลาดแห่งนี้ จากการสำรวจพบว่า ออสเตรเลียสามารถปลูกไม้ตัดดอกและมีผลผลิตตลอดทั้งปี โดยผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากที่สุดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึงพฤษภาคม
 


โดยดอกไม้ที่เป็นที่นิยมปลูกส่วนใหญ่ ได้แก่ ดอกกุหลาบ คาร์เนชั่น เยอบีร่า เบญจมาศ ลิลลี่ เป็นต้น โดยผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่จะเน้นการใช้บริโภคภายในประเทศ นอกจากนี้ประเทศออสเตรเลียยังได้มีการนำเข้าไม้ตัดดอกโดยมีประเทศคู่ค้าที่สำคัญคือ เคนย่า มาเลเซีย และจีน ทั้งนี้ตลาดไม้ตัดดอกมีแนวโน้มนำเข้าไม้ตัดดอกเพิ่มมากขึ้น



โดยปัจจุบันประเทศไทยได้ส่งออกดอกกล้วยไม้ให้กับประเทศออสเตรเลียมากที่สุด คิดเป็น ร้อยละ 95 ของมูลค่าการส่งออกไม้ตัดดอกไทยมาออสเตรเลีย ในปี 2562 นอกจากนี้ยังพบว่าในปี 2563 ไทยได้เริ่มมีการส่งออกกุหลาบมายังออสเตรเลียด้วย ซึ่งแนวโน้มการขยายตลาดไม้ตัดดอกของไทยมาสู่ออสเตรเลีย ถือว่ามีความน่าสนใจและสามารถขยายต่อไปให้อนาคต



การเดินทางไปร่วมประชุมกับ องค์การวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งเครือจักรภพ (CSIRO) ประเทศออสเตรเลีย และสถาบัน Plant Breeding Institute หน่วยงานสังกัดมหาวิทยาลัยแห่งซิดนีย์ (University of Sydney) ในครั้งนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานวิจัยและพัฒนาด้านการเทคโนโลยีด้านเกษตร นับเป็นอีกก้าวสำคัญในเชิงรุกในการสร้างความร่วมมือเครือข่ายนานาชาติด้านนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ เพื่อหาแนวทางการดำเนินงานระหว่างกันในอนาคต สู่การพัฒนาชุมชนยั่งยืน พร้อมทั้งสร้างโอกาสด้านการตลาดในต่างประเทศของผู้ประกอบการ SMEs ต่อไป