ราคาน้ำมันดิบผันผวนต่อเนื่อง จากสงครามที่ยืดเยื้อ และการตั้งเพดานราคาน้ำมันดิบรัสเซีย

22 ธ.ค. 2565 | 05:23 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ธ.ค. 2565 | 20:40 น.

สงครามยูเครนที่จะยืดเยื้อเข้าสู่ฤดูหนาว และผลกระทบจากการตั้งเพดานราคาน้ำมันดิบของกลุ่ม G7 และออสเตรเลียต่อรัสเซีย และการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางต่าง ๆ ทั่วโลก จะส่งผลให้ราคาน้ำมันผันผวนต่อเนื่องในปี 2565 จนถึงปี 2566

ทิศทางการเมืองและเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงทันทีที่ประธานาธิบดีรัสเซีย นาย Vladimir Putin สั่งเปิดฉากรุกรานยูเครนภายใต้ชื่อปฏิบัติการ Special Operation ในวันที่ 24 ก.พ. 65 ทหารกว่า 2 แสนนาย พร้อมรถถังและรถหุ้มเกราะจำนวนมากรุกคืบอย่างรวดเร็วจู่โจมเมือง Kyiv เมืองหลวงของยูเครน เสียหายอย่างรุนแรงผลักดันให้ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent เพิ่มขึ้นจากระดับ 90 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล สู่ 128 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ภายในระยะเวลา 1 เดือน อย่างไรก็ดี การต่อต้านอย่างเข้มแข็งของยูเครนด้วยขีปนาวุธทันสมัยสนับสนุนโดยชาติตะวันตกทำลายเครื่องบินรบและรถถังรัสเซียจำนวนมาก ทำให้สงครามยืดเยื้อข้ามปี
 

รัสเซียหันมาใช้พลังงานเป็นอาวุธด้วยการลดการส่งออกและขู่ว่าจะยุติการส่งมอบพลังงานให้ยุโรป ทำให้ราคาพลังงานทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกันสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรประกาศคว่ำบาตรพลังงานรัสเซียบางส่วนเพื่อจำกัดรายได้ในการทำสงครามของรัสเซีย ทั้งนี้ สหภาพยุโรป กลุ่มชาติอุตสาหกรรมชั้นนำทั้ง 7 ชาติ (G7) และออสเตรเลีย กำหนดเพดานราคาน้ำมันที่ขนส่งทางเรือของรัสเซียที่ระดับ 60 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล มีผลวันที่ 5 ธ.ค. 65 บริษัทเดินเรือ บริษัทประกันภัยสำหรับการขนส่งน้ำมันทางทะเลภายใต้สหภาพยุโรปและกลุ่ม G7 จะทำธุรกรรมการขนส่งน้ำมันดิบรัสเซียทางทะเลได้ต่อเมื่อราคาไม่เกินเพดาน 

 

 

อย่างไรก็ดี แม้สหภาพยุโรปยังไม่มีกำหนดคว่ำบาตรก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย แต่ทว่ารัสเซียกลับลดปริมาณส่งมอบลงเพื่อบีบคั้นทางสหภาพยุโรปให้ชำระเงินเป็นสกุลรูเบิล สหภาพยุโรปมีแผนยุติการพึ่งก๊าซฯ รัสเซียโดยหันไปนำเข้า LNG จากสหรัฐฯ และการ์ตา รวมทั้งก๊าซฯ ที่ขนส่งทางท่อจากนอร์เวย์ และเร่งเก็บสำรองก๊าซฯ ให้พอใช้ช่วงฤดูหนาว ล่าสุดข้อมูลของ Gas Infrastructure Europe แสดงระดับปริมาณสำรองก๊าซฯ ของสหภาพยุโรป ณ วันที่ 8 ธ.ค.65 อยู่ที่ 89.4% ของความจุ (สูงกว่าที่สหภาพยุโรปกำหนดให้เก็บ 80% ของความจุในเดือน พ.ย.65)  
 

ราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นก่อปัญหาเงินเฟ้อ นอกจากนี้ อุปทานธัญพืชที่รัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ชะงักงันจากสงครามทำให้วิกฤติพลังงานและอาหารทวีความรุนแรงขึ้น ก่อนที่กลางเดือน มิ.ย. 65 จะเกิดข้อตกลงให้ดำเนินการส่งออกได้ ภาวะเงินเฟ้อทะยานขึ้นทำให้ธนาคารกลางเร่งควบคุมเงินเฟ้อโดยเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยสู่ 5% ภายในไตรมาส 3/66 จากระดับต้นปี 2565 ในช่วง 0-0.25% อัตราดอกเบี้ย Fed ที่สูงขึ้น ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น นอกจากนี้ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้สหรัฐฯ ต้องระบายน้ำมันดิบในคลังสำรองปิโตรเลียมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) แก่โรงกลั่นในประเทศเพื่อบรรเทาราคาขายปลีกให้แก่ผู้บริโภค โดยระบายปริมาณ 180 ล้านบาร์เรล ในช่วงเดือน พ.ค.-ธ.ค. 65  

 

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) คาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) โลกปี 2565 เพิ่มขึ้น 3.2% จากปีก่อนหน้า ปรับลดอย่างมากจากคาดการณ์เมื่อต้นปี 2565 ที่จะเพิ่มขึ้น 3.9% จากปีก่อนหน้า และปรับคาดการณ์ GDP โลกปี 2566 เพิ่มขึ้น 2.7% จากปีก่อนหน้า หลังอัตราดอกเบี้ย ราคาพลังงาน และต้นทุนทางการเงินสูงขึ้นกดดัน อุปสงค์น้ำมัน ลดทอนผลกำไรของบริษัท ด้านจีน แม้รัฐบาลจะผ่อนปรนมาตรการ Zero-COVID หลังการประท้วงครั้งใหญ่ในเดือน พ.ย. 65  ผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดส่งผลให้จีนนำเข้าน้ำมันดิบในเดือน ม.ค.- พ.ย. 65 ลดลง 1.4% จากปีก่อนหน้า อยู่ที่ 10.06 ล้านบาร์เรลต่อวัน ใกล้เคียงเท่ากับปริมาณนำเข้าในปี 63 
 

IEA ประเมินอุปสงค์น้ำมันโลกในปี 2565 เพิ่มขึ้น 2.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปีก่อนหน้า (ปรับลดลงจากคาดการณ์เดิมตอนต้นปี 2565 ที่มองว่าเพิ่มขึ้น 3.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปีก่อนหน้า) และในปี 2566 จะเพิ่มขึ้นอีก 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 101.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงกว่าปี 2562 ที่ COVID-19 เริ่มระบาด 
 

ตลาดน้ำมันปี 2566 มีแนวโน้มผันผวนสูงจากอุปทานน้ำมันตึงตัวหลังมาตรการคว่ำบาตรน้ำมันดิบรัสเซียที่เริ่มในวันที่ 5 ธ.ค.65 (คว่ำบาตรน้ำมันสำเร็จรูป วันที่ 5 ก.พ.66) อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ ผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรบางส่วนแก่เวเนซุเอลา จะทำให้เวเนซุเอลาสามารถผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นจากระดับ 6.9 แสนบาร์เรลต่อวัน  ณ ปัจจุบัน มาอยู่ในระดับ 7.2 แสนบาร์เรลต่อวัน ในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ซึ่งจะช่วยคลายภาวะอุปทานตึงตัว 
 




 

ด้าน OPEC และพันธมิตร (OPEC+) ยังคงควบคุมการผลิตน้ำมันดิบตามข้อตกลงเดิม (ลดปริมาณการผลิต 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่เดือน พ.ย.65 จนถึงสิ้นปี 2566) โดยการประชุมครั้งถัดไปจะจัดขึ้นในวันที่ 4 มิ.ย.66 ทั้งนี้ Argus รายงานปริมาณการผลิตของ OPEC+ ในเดือน ต.ค.65 อยู่ที่ 38.47 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำกว่าโควตาการผลิตประมาณ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน
 

ให้ติดตามสงครามยูเครนที่จะยืดเยื้อเข้าสู่ฤดูหนาว และผลกระทบจากการตั้งเพดานราคาน้ำมันดิบของกลุ่ม G7 และออสเตรเลียต่อรัสเซีย รวมถึงการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันผันผวนต่อเนื่องในปี 2565 จนถึงปี 2566
 

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ของ PRISM ประเมินราคาน้ำมันดิบ Dubai ปี 2566 ในช่วง 80 - 90 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล 
 

ทีมวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษํท ปตท. จำกัด (มหาชน)