“moRE” เปลี่ยนขยะเพิ่มมูลค่าสู่ธุรกิจสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เชิงยั่งยืน

23 ธ.ค. 2565 | 15:45 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ธ.ค. 2565 | 22:51 น.

“moRE” เปลี่ยนขยะจากเยื่อกาแฟ ที่จะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพิ่มมูลค่าสู่ธุรกิจสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เชิงยั่งยืน

จุดเริ่มต้นจากงานวิจัยในห้องแลป เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ในกลุ่มของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งเดิมดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับปิโตรเลียมและปิโตรเคมี แต่โจทย์ถูกปรับเปลี่ยนเมื่อ ปตท. เริ่มบุกตลาดธุรกิจค้าปลีก จนเปิดโรงคั่วกาแฟอเมซอน ซึ่งทำให้เกิดขยะจากสายการผลิตที่เรียกว่า เยื่อกาแฟ (Coffee Chaff) จำนวนมหาศาลมากถึง 17 ตันต่อปี ที่สำคัญจะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการเติบโตของอเมซอน แบรนด์ moRE จึงมองเห็นถึงโอกาส และเริ่มก่อร่างสร้างตัวจากจุดเริ่มต้นนี้

 

“moRE” เปลี่ยนขยะเพิ่มมูลค่าสู่ธุรกิจสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เชิงยั่งยืน

 

- จุดกำเนิด moRE

นายจิระวุฒิ จันเกษม นักวิจัยอาวุโส ฝ่ายวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพและวัสดุ สถาบันนวัตกรรม ปตท. (Project Leader โครงการ moRE) เล่าว่า เป็นโอกาสที่ดีที่ได้มีส่วนร่วมในการจัดการของเหลือใช้และปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมผ่านหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ด้วยการลดการทิ้งของเหลือใช้ และนำมาสร้างประโยชน์สูงสุด จนได้พัฒนาผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ด้วยวัสดุที่ต่อยอดจากเยื่อกาแฟ ผ่านมุมมองการต่อยอดวัสดุเหลือใช้ที่เรียกว่า “Waste is moRE” และสร้างสรรค์วัสดุหมุนเวียนที่เกิดจากการแปรรูปของเหลือใช้จากกระบวนการอุตสาหกรรมและการบริโภคให้เป็นของที่ใช้งานได้ใหม่อีกครั้ง จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์เชิงยั่งยืน

 

“moRE เริ่มต้นจากงานวิจัยเล็กๆ ในห้องแลป โดยที่เราพยายามจะมองให้ใหญ่ขึ้น เมื่อทำแล้วเรารู้สึกว่านี่คือนวัตกรรมของคนไทย ต้องการให้งานแบบนี้ออกไปแล้วมีส่วนช่วยประเทศ ช่วยโลก เมื่อทำเสร็จก็ต้องการขยายให้เกิดการใช้งานที่มากขึ้น เลยขยายออกมาเป็นแบรนด์ และธุรกิจมากขึ้น”

 

“moRE” เปลี่ยนขยะเพิ่มมูลค่าสู่ธุรกิจสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เชิงยั่งยืน

ทั้งนี้ คำว่า moRE มีที่มาจากวัตถุดิบตั้งต้นที่มาจากเยื่อกาแฟ โดยทำให้ฉุกคิดไปถึงกาแฟ ซึ่งก็คือคำว่า “มอคค่า” โดยเลือกหยิบ MO มาใช้ และนำมาผสมผสานกับคำว่ารีไซเคิล หรือรียูส ซึ่งเลือกนำ RE มาใช้ เพื่อเป็นแก่นในการเดินหน้าต่อ

 

หลังจากนั้นเมื่อ “คาเฟ่ อเมซอน” นำผลิตภัณฑ์จาก moRE ไปใช้ประโยชน์ จึงเป็นที่มาของการนำพลาสติกรีไซเคิลมาปรับใช้ผสมกับเยื่อกาแฟ ทำให้กลายมาเป็นวัสดุในเจนเนอร์ชันปัจจุบัน โดยมีการสร้างสรรค์ให้เกิดเป็น “หวายจากเยื่อกาฟ หรือ Coffee Rattan” ที่ผ่านการรีดจนเป็นเส้นและสามารถนำไปใช้งานทดแทนเส้นหวายจริงได้ และแผ่น Plascoff ซึ่งเป็นการผนวกระหว่างเยื่อกาแฟ และพลาสติกรีไซเคิล รวมถึงการผสมวัสดุอื่นที่ตั้งใจทดแทนการใช้แผ่นพลาสติกใหม่ที่ยังมีคุณสมบัติเหมือนเดิม

 

อย่างไรก็ดีจากความร่วมมือจากสถาบันนวัตกรรม ปตท. และบริษัท เอช จี เนกซ์ จำกัด ผู้ออกแบบ ผลิต และจัดจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ไม้ชั้นนำ “ฮูก” (HOOG) ทำให้เกิดการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีเข้ากับการออกแบบ จนเกิดเป็นคอลเล็กชันเฟอร์นิเจอร์ที่ผสมผสานวัสดุจากการแปรรูปขยะ หรือจะกล่าวก็คือทำให้ moRE มีครบทุกกระบวนการ มีวิธีการรับมือกับขยะตลอดทั้งเส้นทาง

“moRE” เปลี่ยนขยะเพิ่มมูลค่าสู่ธุรกิจสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เชิงยั่งยืน

- ต่อยอดสู่ขยะประเภทอื่น

อย่างไรก็ตาม moRE ไม่ได้หยุดนิ่งเพียงเท่านี้ ยังมองหาขยะประเภทอื่นๆ ที่จะสามารถนำมาแปรรูปให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าได้เช่นกัน โดยมองไปที่กล่องนมซึ่งจะมีส่วนของฟรอยด์ หรือฝาขวดที่มีการสกรีน หรือแก้ว เพราะปัจจุบันในไทยมีการรีไซเคิลขวด PET กันมาก แต่แก้วยังน้อย

 

การขับเคลื่อนแบรนด์ moRE มีแก่นหลักที่คำนึงถึงผู้ใช้งานและสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป โดยจะให้ความใส่ใจต่อ 3 เรื่องหลักประกอบด้วย

  1. ความยั่งยืน โดยมีการวางแผนตอบสนองต่อความต้องการและการใช้งานเฟอร์นิเจอร์ผ่านหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ให้ลูกค้าได้เลือกตามความต้องการ สามารถปรับเปลี่ยนได้หลากหลายผ่านตัวเลือกวัสดุ
  2. นวัตกรรม ซึ่งทีม moRE ได้วิจัยและพัฒนา เพื่อเพิ่มศักยภาพในการนำเศษขยะที่หลากหลายกลับมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด
  3. ความคิดสร้างสรรค์ โดยนำมาใช้ในการออกแบบวัสดุและผลิตภัณฑ์ รวมถึงทักษะการผลิต ให้เป็นมากกว่าความสวยงาม และนำไปใช้งานได้จริง

 

ก้าวต่อไปของ moRE นั้น มีแผนที่จะพัฒนาและเพิ่มวัสดุทดแทนที่ครอบคลุมกลุ่มขยะและของเหลือใช้ทุกรูปแบบมากขึ้น เช่น ขยะจากการเกษตรกรรม ขยะจากอุตสาหกรรมต่างๆ ขยะบรรจุภัณฑ์ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ และขยายรูปแบบของผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์การใช้งานของลูกค้าที่หลากหลาย ควบคู่ไปกับการสร้างอาชีพในสายงานการผลิต ทั้งทักษะงานไม้ เฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ความละเอียดประณีต และพัฒนางานฝีมือไปสู่ชุมชน

 

“moRE” เปลี่ยนขยะเพิ่มมูลค่าสู่ธุรกิจสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เชิงยั่งยืน

 

- สยายปีกสู่ต่างประเทศ

นอกจากนี้ ล่าสุด moRE ยังได้มีโอกาสไปทดลองทำตลาดที่ประเทศฝรั่งเศสในงาน “Maison & Objet” ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าที่เกี่ยวกับการดีไซน์ตกแต่งระดับโลก โดยนายเจตนัตว์ ศุภพิพัฒน์ กรรมการบริษัท เอช จี เนกซ์ จำกัด ระบุว่า ได้นำคอลเล็กชันที่มีชื่อว่า “The Primary” ไปจัดแสดง ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีมาก ผู้ชมงานให้ความสนใจในความคิดสร้างสรรค์ที่ผสมผสานกับการออกแบบที่เน้นย้ำในความยั่งยืน โดยเฉพาะลูกค้า และนักออกแบบต่างชาติที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมจึงให้ความสนใจมาก และยังได้ผลตอบรับทางธุรกิจเชิงบวก ได้รับความสนใจในการซื้อขายและพูดคุยในการเป็นตัวแทนในประเทศต่างๆ

 

“moRE” เปลี่ยนขยะเพิ่มมูลค่าสู่ธุรกิจสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เชิงยั่งยืน

 

อย่างไรก็ตาม แบรนด์ยังได้มีโอกาสเรียนรู้ช่องทางในการทำตลาดต่างประเทศว่า ควรต้องทำอย่างไรถึงจะสามารถเข้าถึงลูกค้าได้อย่างตรงจุด รวมถึงได้เห็นว่าผลิตภัณฑ์จากประเทศโลกที่ 3 เมื่ออยู่ในสายตาของกลุ่มลูกค้าจากประเทศโลกที่ 1 จะเป็นอย่างไร อีกทั้งนวัตกรรม และคุณภาพการผลิตยังเทียบเคียงกับผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ แต่ moRE นั้นครบวงจรมากกว่า  จากความสามารถในกาวิจัยและพัฒนาตั้งแต่วัสดุต้นทางไปจนผลิตภัณ์จากวัสดุเหลือใช้

 

moRE จึงเป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่นำเสนอถึงการรักษ์ธรรมชาติ และใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า อีกทั้งยังมองเห็นถึงโอกาสการเติบโตในอนาคตอีกด้วย

 

“moRE” เปลี่ยนขยะเพิ่มมูลค่าสู่ธุรกิจสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เชิงยั่งยืน