SWOC “นวัตกรรม สายน้ำ” ป้องกัน-พัฒนา-แก้ไขปัญหา-นำพาสุข

05 ธ.ค. 2564 | 11:13 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ธ.ค. 2564 | 18:18 น.

SWOC “นวัตกรรม สายน้ำ” ป้องกัน-พัฒนา-แก้ไขปัญหา-นำพาสุข

ทุกภาคส่วนและประชาชนล้วนมีความต้องการใช้น้ำในหลากหลายกิจกรรม ดังนั้นการบริหารจัดการน้ำจึงเป็นเรื่องสำคัญ แต่ปัจจุบันการบริหารจัดการน้ำที่มีแนวโน้มความผันผวนสูงมากกว่าในอดีต แล้วทางออกประเทศไทยจะต้องทำอย่างไร
 
วันนี้กรมชลประทานจะนำมาเจาะลึกและทำความรู้จักกับ “ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ”  ( Smart Water Operation Center  : SWOC) ที่จะนำพาประเทศไทยก้าวสู่การบริหารจัดการน้ำในรูปแบบใหม่ที่จะเป็นรากฐานนำไปสู่การจัดการน้ำอย่างยั่งยืนในอนาคต
 
สำหรับการทำงานด้านบริหารจัดการน้ำของศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ หรือ SWOC ประกอบด้วย 3 กระบวนการทำงานหลักคือ 1.การเป็นศูนย์รวมข้อมูลด้านการบริหารจัดการน้ำ ไม่ว่าจะเป็นน้ำฝน น้ำท่า น้ำในอ่างเก็บน้ำ 2.การเป็นศูนย์วิเคราะห์ข้อมูล และช่วยสนับสนุนข้อมูลให้แก่ผู้บริหารในการประกอบการตัดสินใจ ทั้งในด้านสถานการณ์น้ำ และการจัดการความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ 3.การนำเสนอข้อมูลแบบบูรณาการ ทั้งจากส่วนแสดงผล การติดตามสถานการณ์น้ำแบบเรียลไทม์ และจากกล้องวงจรปิดในจุดสำคัญต่าง ๆ 

ทั้งนี้ตัวอย่าง ความสำเร็จภายใต้การบริหารจัดการโดย SWOC เช่น “บางระกำโมเดล” ที่มีพายุโซนร้อนเข้าโจมตีถึง 3 ลูกในปี 2560 แต่ SWOC มีการคาดการณ์สถานการณ์เอาไว้ล่วงหน้า จึงได้กำหนดพื้นที่รองรับน้ำเอาไว้ 265,000 ไร่ รวมถึงการจัดจราจรน้ำ การระบายน้ำ และการผันน้ำ ทำให้น้ำไม่ท่วมในปีดังกล่าว 
 
อีกตัวอย่างคือ กรณี “พายุโซนร้อนปลาบึก” เข้าภาคใต้ของไทย ในช่วงปลายปี 2561 SWOC ได้ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) เฝ้าสังเกตการณ์มาตั้งแต่พายุเริ่มก่อตัว เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์พื้นที่เสี่ยงภัยล่วงหน้า ทำให้ผู้บริหารมีข้อมูลที่ถูกต้องเพียงพอต่อการตัดสินใจ ทำให้สามารถชะลอความเสียหายที่เกิดขึ้นมากกว่าที่คาดคิด

SWOC “นวัตกรรม สายน้ำ” ป้องกัน-พัฒนา-แก้ไขปัญหา-นำพาสุข

นายประพิศ  จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทานมีการตั้งศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำเพื่อบริหารจัดการน้ำ ทั้งเพื่อการป้องกัน และการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับน้ำ โดยข้อมูลจากทุกแหล่ง จากทั่วทุกภาค จะมารวมเป็นข้อมูลเดียวที่ SWOC โดยจะมีการพยากรณ์ปริมาณฝน รวมถึงการพยากรณ์อากาศในช่วงหน้าแล้งในอนาคต เป็นต้น

“นอกจากการใช้ SWOC ในการบริหารจัดการน้ำแล้ว จากที่เรามีเทคโนโลยีที่ทันสมัยก็ได้นำมาใช้ในเรื่องการพัฒนาแหล่งน้ำ จะเห็นว่าในพื้นที่ใดที่เรามีการพัฒนาอยู่  ผู้บริหารสามารถเข้าไปดูข้อมูลได้ และตัดสินใจได้ว่า โครงการต่าง ๆ ที่เราทำ 3 ปี 5 ปี จะแล้วเสร็จทันตามแผนหรือไม่ อย่างไร และต่อไปในอนาคตจะเห็นว่ากรมชลประทานกำลังทำอะไร ที่ไหน แล้วเมื่อไหร่จะเสร็จ เสร็จแล้วจะมีปริมาณน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้นมาเท่าไหร่ ซึ่งจะสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ และสอดคล้องกับภารกิจที่กรมชลประทานทำอย่างนี้เป็นต้น” 

นอกจากการบริหารจัดการน้ำแล้ว SWOC ยังมีอีกหนึ่งจุดเด่นที่น่าสนใจคือ ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการรายงานสถานการณ์น้ำใกล้ตัว ใกล้บ้าน หรือในชุมชนของตนเองมายัง SWOC ได้แบบเรียลไทม์ ผ่านแอพพลิเคชั่น SWOC PR ซึ่งเป็นหนึ่งในฟังก์ชั่นการทำงานของ SWOC MODEL และอีกหนึ่งช่องทางคือ สายด่วน 1460 ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนในทุกพื้นที่สามารถโทรศัพท์มาสอบถาม รวมทั้งรายงานสถานการณ์น้ำได้ตลอดเวลา

แน่นอนว่าในอนาคตทิศทางการจัดการน้ำของไทยนั้นยังจำเป็นต้องรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่คาดไม่ถึงที่มีอีกมาก ดังนั้นการมีศูนย์ SWOC ในวันนี้คืออีกก้าวสำคัญที่ทำให้เรามั่นใจในเรื่องความมั่นคงด้านน้ำให้กับประเทศไทย