เปิดเบื้องหลัง "บิ๊กป้อม-ธรรมนัส สุริยะ-จุรินทร์"รอดศึกซักฟอก

18 ส.ค. 2564 | 13:36 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ส.ค. 2564 | 20:36 น.

เปิดเบื้องหลัง "บิ๊กป้อม-ธรรมนัส-สุริยะ-จุรินทร์" รอดศึกซักฟอก : รายงาน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,706 หน้า 12 วันที่ 19 - 21 สิงหาคม 2564

ญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ (ซักฟอก) รัฐมนตรีเป็นรายบุคคล นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้าน พร้อมด้วย หัวหน้าพรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้ยื่นต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 64 ที่ผ่านมา 

 

โดยบุคคลที่เจอ “แจ็คพอต” ประกอบด้วย 

 

1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม

 

2. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข

 

3. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม

 

4. นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์

 

5. นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน

 

และ 6. นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

 

นายสมพงษ์ ผู้นำฝ่ายค้าน  ระบุว่า เรื่องที่จะอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นข้อบกพร่องของรัฐบาลที่ปฏิบัติงาน ส่วนใหญ่เกี่ยวกับการบริหารจัดการวัคซีน การแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และปัญหาด้านเศรษฐกิจ 

 

ส่วนที่ไม่มีรายชื่อของ บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี อยู่ในการอภิปรายฯ ครั้งนี้ด้วยนั้น นายสมพงษ์ ชี้แจงว่า เป็นเพราะประเด็นที่ตั้งเป้าหมายไว้ เน้นเกี่ยวกับเรื่องของโควิด-19 ปัญหาเศรษฐกิจและการทุจริต ดังนั้นจึงพุ่งเป้าไปที่ 6 รัฐมนตรี และฝ่ายค้านมั่นใจว่า หลังการอภิปรายจะนำไปสู่การฟ้องร้องในคดีอาญาเช่นทุกครั้ง

 

วิปรัฐล็อกซักฟอก 3 วัน

 

สำหรับปฏิทินการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีนั้น เมื่อดูไทม์ไลน์ของคณะกรรมการประสานงานร่วมสภาผู้แทนราษฎร ฝ่ายรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ที่กำหนดไว้ จะเปิดให้อภิปรายฯ จำนวน 3 วัน 

 

โดยปฎิทินต่างๆ ระหว่างเดือนส.ค.-ก.ย. 64 เป็นดังนี้

 

1. ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณ ในวาระที่ 2-3 ระหว่างวันที่ 18-19 ส.ค. 64

 

2. ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ในวาระที่ 2 ในวันที่ 25 ส.ค. 64 แต่รอหารือกับสมาชิกวุฒิสภาอีกครั้ง

 

3. อภิปรายไม่ไว้วางใจ ในวันที่ 31 ส.ค.-2 ก.ย. 64 แต่รอหารือกับผู้แทนคณะรัฐมนตรี และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อีกครั้ง

 

4. การลงมติร่างรัฐธรรมนูญ ในวาระที่ 3 ในวันที่ 10 ก.ย. 64 

 

ส่วนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณ ในวาระที่ 2-3 มีขึ้นระหว่างวันที่ 18-20 ส.ค. 64

 

เบื้องหลัง 4 รมต.รอด

 

หลังการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคลของฝ่ายค้าน เกิดประเด็นขึ้นว่า ทำไมไม่มีชื่อของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้

 

นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน ได้ออกมาชี้ถึงกรณีที่พรรคก้าวไกล ออกอาการไม่พอใจ ที่การอภิปรายฯ ครั้งนี้ ไม่ปรากฏชื่อของ พล.อ.ประวิตร ว่า ในการอภิปรายครั้งนี้ คิดอยู่เหมือนกันว่าจะเกิดปัญหา เลยหารือกันว่า การกำหนดตัวผู้อภิปราย หรือเรื่องที่เกี่ยวข้อง ก็จะมาคุยกันและตัดสินใจร่วมกัน นี่เป็นแนวทางเดียวที่ทำให้เกิดความขัดแย้งน้อยที่สุด และเดินหน้าต่อไปได้ ไม่มีระบบใดที่ดีไปกว่าการใช้กระบวนการกลุ่ม ซึ่งหากไม่เคารพกระบวนการกลุ่มก็คงทำงานต่อไปไม่ได้

 

เปิดเบื้องหลัง \"บิ๊กป้อม-ธรรมนัส สุริยะ-จุรินทร์\"รอดศึกซักฟอก

 

“ในที่ประชุม บางพรรคยังมีเสนอชื่อ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม แต่พอมาดูนํ้าหนักและหลักฐานแล้ว มีไม่มากพอ สุดท้ายรายชื่อจึงตกไป รวมถึงในรายของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ ก็ไม่มีหลักฐานใหม่ที่ต่างจากเดิม ก็ตกไปเหมือนกัน  เช่นเดียวกับ พล.อ.ประวิตร ที่ข้อมูลยังเบาบาง 

 

“เราไม่ได้ตัดเฉพาะ พล.อ. ประวิตร แต่ตัด นายสุริยะ และ นายจุรินทร์ด้วย ทั้งนี้ พรรคก้าวไกลมุ่งมั่นตั้งใจเราก็เข้าใจ แต่เมื่อกระบวนการกลุ่มเห็นอย่างนี้ ท่านจะยอมรับหรือไม่ยอมรับก็เลยมีปัญหาขึ้นมา 

 

ส่วนหากเพิ่มชื่อ พล.อ.ประวิตร ก็ต้องเพิ่มชื่อ นายสุริยะ และ นายจุรินทร์ ให้อีกพรรคหนึ่งด้วย หรือจะคิดว่าเป็นเอกสิทธิ์ กลุ่มอย่ามายุ่ง ถ้าแต่ละพรรคเสนอมา 2-3 คน แบบไม่มีข้อจำกัด อาจจะเป็น 10-20 คน” 

 

ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวด้วยว่า การอภิปรายครั้งนี้เน้นหนักไปที่ความผิดใหม่ที่เห็นได้ชัด คือ เรื่องโควิด-19 เรื่องเศรษฐกิจ และ ทุจริตในบางเรื่อง ดังนั้น บุคคลที่บางพรรคเสนอมาก็ต้องตกไป และเมื่อสรุปได้แล้วอาจมีความพอใจ หรือไม่พอใจ กันบ้าง เพราะหากไม่มีข้อจำกัดเลยเสนอใครมาอภิปรายหมดก็ไม่ใช่ เพราะคุณภาพรวม สำหรับพรรคที่เป็นผู้นำก็ต้องคิด”

 

พท.ปัดดีลฝ่ายรัฐบาล

 

แม้ นายสุทิน จะยอมรับว่า ประธานวิปรัฐบาล คือ นายวิรัช รัตนเศรษฐ ได้ประสานมาพูดคุย ก็ ถือเป็นเรื่องธรรมดา ที่มีการโทรมาล็อบบี้ แต่ไม่มีการดีลกันแน่นอน

 

“พรรคเพื่อไทย เป็นพรรคใหญ่สร้างเนื้อสร้างตัวมาขนาดนี้ ที่ผ่านมาเราเป็นรัฐบาลมาตั้งกี่สมัย ถ้าหากจะมาแลกกับความชํ้าใจของสมาชิกมันไม่คุ้ม ยิ่งต้องไปร่วมรัฐบาลที่สังคมไม่ยอมรับ คงเหมือนฆ่าตัวตาย โอกาสยังมีอีกเยอะ เรื่องอะไรที่จะต้องเอาชื่อเสียงไปแลก”

ส่วนที่ไม่ชื่อ พล.อ.ประวิตร และ ร.อ.ธรรมนัส เพราะอนาคตหากพล.อ.ประยุทธ์ ลาออกจากการเป็นนายกฯ พรรคพลังประชารัฐ และพรรคเพื่อไทย จะจับมือกันตั้งรัฐบาลเป็นไปได้หรือไม่ นายสุทิน กล่าวว่า เป็นการสร้างวิมานที่ยากมาก

“ร.อ.ธรรมนัส มีคนอยากอภิปรายเยอะ แต่สุดท้ายก็ไม่เห็นมีใครเสนอชื่อ เพราะเพิ่งจะอภิปรายผ่านมา และเขาได้ตอบแล้ว ซึ่งครั้งนี้ยังไม่มีอะไรใหม่” นายสุทิน ระบุ 

 

ปชป.ไม่ห่วง“เฉลิมชัย”

 

ด้านพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้มีการประชุม ส.ส.ของพรรค โดยมี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค รวมถึง นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ในฐานะเลขาธิการพรรคเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง

 

นายจุรินทร์ เปิดเผยถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่ นายเฉลิมชัย ถูกยื่นอภิปรายด้วยว่า นายเฉลิมชัยมีข้อมูลครบถ้วนอยู่แล้ว ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง มั่นใจว่าจะสามารถชี้แจงและตอบคำถามได้ทุกประเด็น ซึ่งเป็นโอกาสดี ที่จะได้ตอบฝ่ายค้านเพื่อแสดงผลงานอีกด้วย เพราะที่ผ่านมาตลอดระยะเวลา 2 ปี กระทรวงเกษตรฯ ก็เป็นกระทรวงที่มีผลงาน เป็นที่ประจักษ์

 

ขณะที่ข้อหาที่ฝ่ายค้าน ตั้งประเด็นต่อนายเฉลิมชัยนั้น ส่วนตัวเห็นจากญัตติแล้ว ไม่มีอะไรกังวล พร้อมยํ้าว่า มั่นใจว่าตอบได้ทั้งหมด โดยพรรคประชาธิปัตย์พร้อมที่จะสนับสนุนเพราะมั่นใจในตัวเลขาธิการพรรค ส่วนจะมีการตั้งคณะทำงานสนุบสนุนทั้งในและนอกสภา หรือไม่นั้น นายจุรินทร์ ระบุว่า “ไม่จำเป็น เชื่อว่าท่านดูแลตัวเองได้อยู่แล้ว”