ส่องขุนพล-นโยบายพรรคน้องใหม่“ไทยสร้างไทย”

07 ก.ค. 2564 | 16:44 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ก.ค. 2564 | 00:05 น.
3.9 k

ส่องขุนพล-นโยบายพรรคน้องใหม่ “ไทยสร้างไทย” : รายงานหนังสือพิมพ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3694 หน้า 12 ระหว่างวันที่ 11-14  ก.ค.2564 

พรรคน้องใหม่ “ไทยสร้างไทย” ได้จัดประชุมผู้บริหารพรรค ตัวแทนสาขา ตัวแทนสมาชิกประจำเขต และ สมาชิกพรรคทั่วประเทศ กว่า 300 เขต ผ่านระบบ Zoom เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2546 ที่ผ่านมา

 

เป็นการ “เปิดตัวแกนนำ-เปิดพันธกิจ-เปิดนโยบายพรรค” ได้อย่างยิ่งใหญ่ อลังการ ภายใต้ชื่องาน “ไทยสร้างไทย เดินหน้าสร้างประเทศไทย”

 

พรรคไทยสร้างไทย นอกจากจะมี คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นประะธานพรรคแล้ว ยังมีแกนนำคนสำคัญทั้ง ดร.โภคิณ พลกุล นายพงศกร อรรณนพพร นายวัฒนา เมืองสุข นายต่อพงศ์ ไชยสาส์น น.ต.ศิธา ทิวารี และ สมาชิกพรรคเลือดใหม่ 

 

ที่สำคัญมีบรรดา “อดีต ส.ส.” และ “นักการเมืองท้องถิ่น” ที่เป็นตัวแทนภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคตะวันออก ภาคใต้ และ กรุงเทพมหานคร ร่วมเปิดตัวในครั้งนี้ด้วย 

 

สาคร พรหมภักดี อดีต ส.ส.สกลนคร หลายสมัย ส่งเสียงมาจากทางฝั่งภูพาน ว่า “...พรรคไทยสร้างไทย สร้างประเทศไทย ภายใต้การนำของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นารีขี่ม้าขาว นายกรัฐมนตรีหญิงของชาวอีสาน...” 

 

ขณะเดียวกันก็มี “อดีตคนพรรคเพื่อไทย” หลายคนโผล่หน้ามาประกาศความพร้อมในการร่วมสร้างพรรคใหม่

 

ส่วน “ขุนพลภาคเหนือ” ของพรรคไทยสร้างไทย ก็ไม่ใช่ใครอื่นไกล เขาคือ “สามารถ แก้วมีชัย” อดีต ส.ส.เชียงราย หลายสมัย ที่เพิ่งลาออกจากรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เมื่อไม่นานมานี้ ด้วยเหตุไม่พอใจเรื่องคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ที่ส่งผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ครั้งที่ผ่านมา

 

สำหรับ “ขุนพลภาคอีสาน” มี “พงศกร อรรณนพพร” จับมือ “ต่อพงษ์ ไชยสาส์น” ทายาท ประจวบ ไชยสาส์น ร่วมเดินสายขยายฐานสมาชิกพรรค มีทั้งเลือดใหม่ เลือดเก่า


 

พื้นที่ขอนแก่น บ้านเกิดของ พงศกร อรรณนพพร ได้วางตัวลูกชาย พชรกร อรรณนพพร ลง ส.ส.เขต ไว้แล้วคนหนึ่ง ส่วนลูกสาวและน้องชาย ที่เป็น ส.ส.อยู่ตอนนี้ คงเป็นเรื่องในอนาคต

 

ทองหล่อ พลโคตร อดีต ส.ส.มหาสารคาม พรรคไทยรักไทย เป็นอีกคนที่เข้าร่วมงานการเมืองกับ “คุณหญิงหน่อย” แม้จะพ่ายศึกนายก อบจ.มามาดๆ แต่ ทองหล่อ มีฐานคะแนนหนาแน่นในเขต อ.เมืองมหาสารคาม

 

ขณะที่ ฟาริดา สุไลมาน อดีต ส.ส.สุรินทร์ หลายสมัย ในปี 2554 เคยย้ายมาสังกัดภูมิใจไทย แต่พ่ายแพ้ศึก การเลือกตั้งในปี  2562  “เพื่อไทย” ไม่ส่งเธอลง ครั้งนี้จึงอาสามาร่วมงานกับพรรคไทยสร้างไทย

 

อดีต ส.ส.อีสาน ไม่ว่าไทยรักไทยหรือเพื่อไทย หลายคนก็ได้บทเรียนจากเลือกตั้งปี 2562 เมื่อสวมเสื้อพลังประชารัฐ ที่มีภาพเป็นตัวแทนพรรค คสช.

 

พื้นที่ยโสธร  วิสันต์ เดชเสน อดีต ส.ส.หลายสมัย ที่ร้างสนามไป เพราะไม่มีที่ยืนในพรรคเพื่อไทย เมื่อ “คุณหญิงหน่อย” สร้างพรรคใหม่ จึงส่งลูกชาย สรวิชญ์ เดชเสน มาลงสนาม เพราะมั่นใจ “แบรนด์สุดารัตน์” คนอีสานยังให้การต้อนรับ

 

ภาคตะวันออก ประวัฒน์ อุตตะโมต อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ และอดีต ส.ส.จันทบุรี หลายสมัย ลาออกจากพรรคเพื่อไทย มาเป็น “แม่ทัพบูรพา” ให้พรรคไทยสร้างไทย โดยรับผิดชอบพื้นที่ ตราด จันทบุรี ระยอง และ ชลบุรี
ส่วน “สมรภูมิเมืองหลวง” พื้นที่กรุงเทพมหานคร ฐานที่มั่นของ “คุณหญิงหน่อย” ก็มีอดีต ส.ส.กทม. หลายคนมาร่วมงาน รวมถึง “เลือดใหม่” ที่พรรคไทยสร้างไทยปั้นขึ้นมา

 

และที่น่าสนใจคือ แมน เจริญวัลย์ อดีตรองประธานสภา กทม. และ อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม.เขต 14 พรรครวมพลังประชาชาติไทย ก็หันมาร่วมร่วมงานกับ “คุณหญิงหน่อย” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

ต่อนี้ไปก็คงได้เห็น “พรรคไทยสร้างไทย” ทยอยเปิดตัวสมาชิกพรรค และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคแต่ละภาคกันอีก 
 

                                   นโยบายพรรคไทยสร้างไทย

8 นโยบายพรรคไทยสร้างไทย

 

สำหรับนโยบายเบื้องต้นของ พรรคไทยสร้างไทย ที่เปิดออกมานั้น คุณหญิงสุดารัตน์ ประกาศว่า มีนโยบายที่จะสร้างฐานรายได้ใหม่ให้คนไทย บน “ศักยภาพของประเทศไทย ในบริบทของโลกใหม่” และ เยาวชนไทยต้องได้เป็น “พลเมืองของโลก” ได้ เพื่อที่จะไปคว้าโอกาสของโลกยุคใหม่มาสร้างอนาคตให้ตัวเอง โดยมีเป้าหมายที่สำคัญ ดังนี้

 

1.คนวัยทำงานต้องได้รับโอกาส บนศักยภาพสูงสุดของประเทศไทย 

 

2.ประเทศไทยต้องเป็นศูนย์กลางผลิตอาหารปลอดภัยขายคนทั้งโลก 

 

3.ประเทศไทยต้องเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว ของคนทั่วโลก 

 

4.ประเทศไทยต้องเป็นศูนย์บริการด้านสุขภาพ และWellness ระดับโลก 

 

5.ประเทศไทยต้องเป็น ศูนย์กลางการเดินทางและการขนส่งของโลก ซึ่งพรรคไทยสร้างไทยกำลังศึกษา “โครงการคลองไทย”อย่างจริงจัง 

 

6.ประเทศไทยต้องเป็นสถานที่ ที่บริษัทTech และ Startup จากทั่วโลกอยากมาตั้งบริษัท

 

7.ผู้สูงวัยต้องได้รับการดูแลให้มีสุขภาพแข็งแรง และมีเงินพอที่จะเลี้ยงชีพ ด้วย “กองทุนบำนาญประชาชน” สำหรับผู้ที่เกษียณจากการทำงาน โดยไม่มีรายได้และสวัสดิการอื่น จะได้รับการดูแลเดือนละ 3,000 บาท

 

8.ประชาชนทุกวัยมีรายได้ ดำรงชีพได้ ก็ควรต้องต่อเติม ต่อยอด ด้วยการออมผ่าน “สลากการออม” หรือ “หวยบำเหน็จ”