“วรวุฒิ กาญจนกูล” มือพลิกโฉม สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน

17 ต.ค. 2565 | 17:30 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ต.ค. 2565 | 01:12 น.

“วรวุฒิ กาญจนกูล” มือพลิกโฉม สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน ส่องโอกาส บน วิกฤติรอบด้าน

ในช่วงปี 2555 - 2564 มูลค่าการลงทุนก่อสร้างโดยรวมของไทย มีสัดส่วนถึง 8.1% ของจีดีพีประเทศ ทั้งนี้ 'ตลาดบ้านสร้างเอง' ซึ่งครอบคลุม การสั่งสร้างบ้านผ่านบริษัทรับสร้างบ้านและผู้รับเหมาเป็นอีกหนึ่งกลไกที่ขับเคลื่อนหัวจักรเศรษฐกิจดังกล่าว จากมูลค่ามากกว่า 2 แสนล้านบาท ในแต่ละปีโดยเฉพาะในพื้นที่ภูมิภาค ที่มีอัตราการเติบโตของตลาดอย่างน่าสนใจ

 

การปิดฉาก 'งานรับสร้างบ้านและวัสดุ Expo 2022 สร้าง-เปลี่ยน-โลก' ซึ่งถูกจัดขึ้น โดยสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน (HBA) ด้วยยอดผู้เข้าชม ระยะเวลา 5 วัน จำนวน 12,000 คน พร้อมยอดขาย-จองปลูกสร้างบ้าน ภายในงาน มูลค่า 4,300 ล้านบาท ทุบสถิติสูงที่สุดในรอบ 18 ปี (ตั้งแต่จัดงานมา) เป็นอีกเครื่องสะท้อนได้ว่า การใช้จ่ายเพื่อ 'ที่อยู่อาศัย' ของผู้บริโภค กำลังฟื้นตัวแรง ,ทนทานต่อปัจจัยลบรุมเร้า และ มีบริบทตอบโจทย์ที่เปลี่ยนแปลงหรือไม่?

“วรวุฒิ กาญจนกูล” มือพลิกโฉม สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน

'ฐานเศรษฐกิจ' เจาะเบื้องหลังความสำเร็จดังกล่าวผ่านมุมมอง ผู้พลิกโฉมตลาดยุคใหม่ นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน “วรวุฒิ กาญจนกูล” ยุคแรกของวาระตำแหน่ง 3 ปี กับไทม์ไลน์ความท้าทายในหลายมิติ ตั้งแต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ,วิกฤติเศรษฐกิจถดถอย ,สงครามยูเครนต่อต้นทุนราคาวัสดุที่เปลี่ยนไป และการล็อคดาวน์กิจกรรมการขาย รวมถึงกฎหมายฉุกเฉินปิดตายแคมป์ก่อสร้างชั่วคราว และเทรนด์ความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องไล่ให้ทันพร้อมๆ กับการพัฒนายกระดับเวทีกลางดึงการมีส่วนร่วมในกลุ่มผู้ประกอบการ และการทำงานร่วมกับภาครัฐ และเอกชนเพื่อนำไปสู่การตั้งอยู่ของ 'ธุรกิจรับสร้างบ้าน' อย่างยั่งยืนและได้รับความเชื่อถือในวงกว้าง

 

 

++ ตีป้อมตลาดภูมิภาค ความสำเร็จด่านแรก

 

การเข้าสู่ปีที่ 18 โดยมีสมาชิกสมาคมฯ รวมทั้งสิ้น 134 บริษัท เพิ่มขึ้นถึง 20% โดยเฉพาะการเข้ามาของสมาชิกระดับภูมิภาค และยังมีบริษัทรับสร้างบ้าน ที่รอการตรวจรับอีกเป็นจำนวนมากนั้น กลายเป็นบันไดเสริมแกร่งให้กับตลาดธุรกิจรับสร้างบ้านในยุคนี้ ภายใต้ 3 เป้าหมาย ได้แก่ 1. ยกระดับสร้างความเชื่อมั่น 2. สร้างการมีส่วนร่วม และ 3.การพัฒนาอย่าง “ยั่งยืน”

 

เนื่องจากสัญญาณการผ่อนปรนมาตรการควบคุมโรคของรัฐ ซึ่งส่งผลให้การลงทุนเกี่ยวกับบ้านและรถยนต์ ฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2564 ทำให้ผู้บริโภคที่ชะลอแผนสร้างบ้านเอาไว้ เริ่มหันกลับมากล้าตัดสินใจสร้างบ้านใหม่อีกครั้ง แต่ภาพความไม่มั่นใจ ทั้งในแง่คุณภาพของงานก่อสร้าง ,ปัจจัยลบด้านต้นทุนก่อสร้าง และ ข้อพิพาทระหว่างลูกค้าและผู้รับเหมาที่เกิดขึ้นบ่อยขึ้น ทำให้สมาคมฯ ต้องรับงานหนัก    ปลดล็อคจุดบอดสำคัญ

ซึ่ง นายวรวุฒิ ระบุว่า ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา  สมาคมฯ ประสบความสำเร็จ ในการเพิ่มมูลค่าตลาด จากการเข้ามา และช่วยพัฒนาบริษัทท้องถิ่นไปสู่ บริษัทรับสร้างบ้านที่มีคุณภาพ ทั้งในโซนภาคอีสาน และภาคใต้ ทำให้ได้รับความสนใจจากลูกค้าใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคในภูมิภาค ต้องการใช้บริการ 'บริษัทรับสร้างบ้าน' มากขึ้น ต่างจากในอดีตที่มีเฉพาะใน กทม. และปริมณฑล เท่านั้น

 

"เราประสบความสำเร็จแง่การสร้างความรับรู้ในหมู่ผู้ประกอบการ และผู้บริโภคซึ่งการเข้ามาเป็นสมาชิกผู้รับเหมาจะถูกยกระดับ จากแกนกลาง มาตรฐานก่อสร้าง การขาย และส่งเสริมความรู้ นวัตกรรมใหม่ๆ ช่วยทำให้ภาพรวมผู้บริโภคให้ความเชื่อใจ และหันมาใช้บริการจากบริษัทของสมาคมฯ มากขึ้น "

 

++กระทุ้งรัฐหนุนอสังหาฯนำ ศก.

 

อย่างไรก็ตาม ในภาพใหญ่ธุรกิจนี้ ยังท้าทายอยู่อีกมาก โดยเฉพาะราคาวัสดุก่อสร้างที่พุ่งแรง เช่น เหล็ก ซีเมนต์ โลหะ ฯลฯ ทำให้ต้นทุนก่อสร้างสูง บวกกับปัญหา เงินเฟ้อ และดอกเบี้ย ทำให้กำลังซื้อกลุ่มบ้านต่ำกว่า 2.5 ล้านบาท ลดลงไป  นำมาซึ่งการปรับตัวใหม่ของบริษัทต่างๆ เปิดเซกเม้นท์บ้านระดับบน 10-20 ล้านบาท เพื่อรองรับ ความแข็งแกร่งของกลุ่มกำลังซื้อสูง อีกด้านกลายเป็นตัวเร่งการเติบโตช่วงท้ายของตลาดปี 2565 เพราะผู้บริโภคแห่จองสร้างบ้านเพื่อล็อคราคา ก่อนราคาบ้านจะปรับขึ้นสูงในปีหน้า โดยเฉพาะจากต้นทุนด้านค่าจ้างแรงงาน การขนส่ง หากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ยังยืดเยื้อ

 

ทั้งนี้ นายวรวุฒิ ระบุต่อว่า สิ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเติบโตของธุรกิจรับสร้างบ้าน ยังมาจาก กระบวนการ และระเบียบขั้นตอนทางราชการที่ล่าช้าซ้ำซ้อน โดยในแนวทางออกนั้น มีแนวคิดสอดคล้องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ใหญ่ ที่ต้องการให้ปลดล็อคกับดัก หนุนนำ อสังหาฯ เพื่อสร้างเศรษฐกิจยุคใหม่ เช่น การออกใบอนุญาตปลูกสร้างอิเล็กทรอนิกส์ , การขออนุญาตในแง่ต่างๆ โดยใช้มาตรฐานแกนกลางของกฎหมาย ไม่ใช่ใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่เป็นหลัก และให้รวมศูนย์ในรูปแบบ Onestop Service เพื่อลดค่าใช้จ่ายและร่นระยะเวลา ช่วยเหลือทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภค

 

"ปัญหาที่เจอกัน คือ กระบวนการขอปลูกสร้าง แต่ละขั้นตอน ที่ใช้เวลานานเกินไป และไม่เที่ยงตรง ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายหลายแง่ ทั้งด้านเศรษฐกิจ และภาษีหมุนเวียน โดยเห็นว่า หากรัฐบาลให้ความสำคัญอสังหาฯ และลดอุปสรรคดังกล่าว ตลาดบ้านสร้างเอง ก็จะเป็นส่วนสนับสนุนเศรษฐกิจได้ดี"

 

++โอกาสและจุดเปลี่ยนบ้านสร้างเอง

 

นายวรวุฒิ ประเมินภาพรวมตลาดธุรกิจรับสร้างบ้านในปี 2566 ว่า แม้จะยังไม่เห็นปัจจัยบวกมากนัก  แต่เชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจไทยจะเข้มแข็งได้แรงหนุน จากการกลับมาฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวไทยอย่างเต็มตัว สร้างเม็ดเงินสะพัดลงสู่ท้องถิ่น บวกการขยายตัวในภาคการส่งออก จะก่อเกิดแรงผลักกำลังซื้อในภาคอสังหาฯ

 

โดย 'ตลาดรับสร้างบ้าน' ยังมีโอกาสเติบโตที่ดี จากขนาดตลาดที่ใหญ่มาก โดยเฉพาะช่องว่างจากการปรับตัวเปลี่ยนโหมดของธุรกิจอสังหาฯ และเจ้าของที่ดิน หลังจากพบปัจจุบันดีเวลลอปเปอร์หันมาใช้โมเดล แบ่งแปลงแยกขายที่ดิน โดยให้ลูกค้าเลือกแบบบ้าน ก่อนใช้บริการบริษัทรับสร้างบ้านมารับช่วงต่อแทน เพื่อพัฒนา เป็นบ้านพักตากอากาศ และบ้านหลังที่ 2 ระดับบน มีความคึกคักสูงในทำเลที่ดินราคาสูง เช่น พัทยา และเขาใหญ่ นับเป็นตลาดที่น่าจับตามองในอนาคต เพราะพบดีเวลลอปเปอร์ยังขาดแคลนบริษัทรับเหมาเชื่อมต่อธุรกิจอยู่จำนวนมาก

 

"แม้เศรษฐกิจโดยรวมอาจยังมีปัญหา แต่ตลาดบ้านสร้างเองใหญ่มากเกือบ 2 แสนล้านบาท โดยธุรกิจรับสร้างบ้านเป็นสัดส่วนแค่ 10-20% เท่านั้น ที่มีโอกาสจะเติบโตได้อีก ขณะกลุ่มผู้บริโภคแข็งแกร่ง จากบทเรียนล็อกดาวน์ 2 ครั้ง แต่ยอดขายลดลงเพียง 5% เท่านั้น ก่อนกลับมาเติบโตกระโดดอย่างรวดเร็ว "

 

++'บ้านประหยัดพลังงาน' รัฐต้องอุ้ม

 

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญและจะเป็นตัวเร่งการตัดสินใจสร้างบ้านของผู้บริโภคยุคใหม่ ยังมาจาก เทรนด์ความต้องการเกี่ยวกับ 'บ้านประหยัดพลังงาน' จากต้นทุนค่าไฟฟ้าที่คนไทยแบกรับภาระมากขึ้น ซึ่งนายวรวุฒิ ฉายภาพทิ้งท้ายในบทสัมภาษณ์ไว้ว่า 'วิกฤติด้านพลังงาน' ของไทย กลายเป็นวาระแห่งชาติ และดันให้      ผู้อยู่อาศัยยุคใหม่ ต้องการบ้านที่มีการติดตั้งหลังคาโซลาร์เซลล์ เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เอง อย่างไรก็ตาม  ส่วนใหญ่ยังมีความกังวลด้านต้นทุนสูง

 

จึงเห็นว่า เมื่อในภาพใหญ่ระดับโลก รัฐบาลประกาศนโยบายเป้าหมาย : กำหนดให้ไทยเป็นกลาง ทางคาร์บอนแล้ว ก็ควรต้องเร่งออกนโยบายมาสนับสนุน 'บ้านพลังงานทดแทน' ด้วยเช่นกัน  เพื่อเปลี่ยนถ่าย จูงใจในฝั่งผู้บริโภค เช่น กระทรวงการคลังสนับสนุนผ่านนโยบายด้านภาษี หรือภาคธนาคารปล่อยสินเชื่อพิเศษ สำหรับบ้านสีเขียวเพื่อให้ต้นทุนถูกลงเป็นต้น

 

"ถ้ารัฐบาลออกนโยบายสนับสนุน คล้ายกับที่กำลังผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งมาตรการด้านภาษี และเงินสนับสนุนฝั่งผู้บริโภค เชื่อตลาดบ้านพลังงานทดแทนจะเกิดขึ้นได้จริง "

 

ทั้งนี้ สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน พร้อมที่จะเป็นเวทีกลางในการส่งเสริม สนับสนุนการประกอบธุรกิจรับสร้างบ้าน ทั้งในทางปฏิบัติและทางวิชาการ เพื่อยกระดับมาตรฐานคุณภาพสินค้า การบริการให้เป็นที่เชื่อถือและเป็นที่ยอมรับของภาครัฐ องค์กรธุรกิจต่าง ๆ ผู้บริโภคและประชาชนทั่วไป

 

หลังจากนำร่อง โครงการ “แบบบ้านประหยัดพลังงาน” หรือ “บ้านเบอร์ 5” ศึกษาร่วมกับ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน , การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ,บริษัท ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ – ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด เพื่อพัฒนาเป็นโมเดลต้นแบบ เพื่อให้ความรู้สมาชิก และเป็นสะพานเชื่อมต่อให้ในฝั่งผู้บริโภค ก้าวสู่การเปลี่ยนผ่านการปลูกสร้างบ้าน บนที่ดินของตนเองในรูปแบบใหม่อย่างยั่งยืน