ในศตวรรษที่ 21 โลกที่เราอาศัยอยู่มีการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ และมีวิวัฒนาการอย่างไม่หยุดยั้ง ในเวลาเดียวกันเราก็กำลังเผชิญสภาพภูมิอากาศที่กำลังแปรปรวนทั่วโลก ในส่วนของประเทศไทย จากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศที่ไทยกำลังเผชิญ ทั้งปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งที่มาเยี่ยมเยียนทุกปี และดูเหมือนว่าจะมาเร็วขึ้น และอยู่กับเรานานขึ้น เหล่านี้คือคำตอบว่า นี่คืออีกหนึ่งความท้าทายที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ
ทั้งนี้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งในประเทศไทย จากข้อมูลอุทกวิทยาของ 22 ลุ่มน้ำหลักของไทยย้อนหลัง 10 ปี ทั้งในแง่ปริมาณน้ำฝน น้ำท่า แหล่งน้ำต้นทุน คุณภาพน้ำ ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และการใช้น้ำในภาคครัวเรือน และอื่นๆ ในปี 2554 ไทยต้องเผชิญกับพายุลูกใหญ่ถึง 5 ลูก ซึ่งเวลานั้นปริมาณน้ำฝนและน้ำท่ามีปริมาณสูงสุดจนทำให้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ แต่มาในปี 2557 จนถึง 2558 ปริมาณน้ำฝนและน้ำท่ากลับลดลงต่ำสุด จนทำให้เกิดปัญหาภัยแล้ง
จากความผันผวนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และถี่ขึ้นข้างต้น สะท้อนว่าการบริหารจัดการน้ำในวันนี้ถือเป็นวาระสำคัญระดับชาติอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม และต้องทำการบ้านเรื่องการบริหารจัดการน้ำหนักยิ่งขึ้น ซึ่งหากเราสามารถประเมินความเสี่ยงวิกฤติน้ำได้ก่อนล่วงหน้าก็จะช่วยลดความเสียหายลงได้
เพื่อให้ทันกับสถานการณ์ สำหรับการบริหารจัดการน้ำในยุค 4.0 กรม ชลประทานได้มองเห็นเหตุการณ์ต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น และค้นหาแนวทางแก้ไขอย่างเป็นระบบครบวงจร จึงเป็นที่มาของการก่อตั้งศูนย์บัญชาการเพื่อประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในชื่อ “ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ” หรือ Smart Water Operation Center : SWOC
สำหรับ SWOC คือศูนย์บัญชาการประมวลผล วิเคราะห์สถานการณ์น้ำโดยนำข้อมูลเกี่ยวกับน้ำมาพยากรณ์สถานการณ์น้ำ การจัดสรรน้ำ การเฝ้าระวัง และเตือนภัยเกี่ยวกับน้ำ โดยคีย์เวิร์ดสำคัญคือ การนำเทคโนโลยีด้านข้อมูลมาใช้งาน
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะมีมาสักระยะหนึ่งแล้วควบคู่กับการทำงานกรมชลประทาน โดยนำข้อมูลจากการพยากรณ์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาประมวลและคาดการณ์สถานการณ์น้ำ ที่ผ่านมากรมชลประทานมีวิวัฒนาการ โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้งานมากขึ้น รวมทั้งนำมาใช้ในการบริหารจัดการเครื่องมืออุปกรณ์ที่กรมชลประทานมีอยู่
“ช่วงฤดูน้ำหลากจะเห็นว่าเจ้าหน้าที่ของเราทำงาน 24 ชั่วโมง เพื่อนำเอาข้อมูลทุกที่ที่ถูกต้องมาแจ้งเตือนภัยให้กับพี่น้องประชาชนว่า สถานการณ์น้ำ ณ วันนี้เป็นอย่างไร และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำข้อมูลเหล่านี้ไปบอกกับผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อให้พี่น้องประชาชน ได้เตรียมย้ายสิ่งของเพื่อเตรียมรับมือและลดผลกระทบที่อาจสร้างความเสียหายให้น้อยที่สุด”
ด้านดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า SWOCเป็นศูนย์กลาง หรือเซ็นเตอร์ในการมุ่งเป้าสู่การเป็นชลประทานอัจฉริยะ เดิมการปิด-เปิดบานระบายน้ำจะใช้คน แต่อนาคตทุกอย่างจะเป็นระบบอัตโนมัติหมด เช่น การวัดปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ จะใช้คนสั่งการเพียง 1-2 คน มีสถานีวัดความชื้น พอรู้ว่าความชื้นในดินลดลงก็ปิด-เปิดบานระบายน้ำโดยระบบออโตเมติก ซึ่งจะนำไปติดตั้งในพื้นที่ต่างๆ โดยคำนวณตามหลักวิชาการด้านวิศวกรรมว่า จะใช้กี่ตัว กี่แห่ง ในสถานีใดบ้างในประตูระบายน้ำต่างๆ ทำให้ประหยัดน้ำ โดย SWOC จะเป็นศูนย์บัญชาการในการประสานงาน ภายใต้สโลแกน “ถูกต้อง รวดเร็ว ตรงเป้า”
อนึ่ง SWOC บริหารจัดการน้ำโดยการใช้ข้อมูลและเทคนิคทางวิชาการด้านน้ำ จากการบูรณาการด้านข้อมูล กับหน่วยงานต่างๆ มาบริหารจัดการ ภายใต้สโลแกนการทำงานที่เรียกว่า “FAST” ประกอบไปด้วย F : Fusion database หรือรวมศูนย์ข้อมูล, A : Accurate technique (ถูกต้องตามหลักวิชาการ), S : Speedy process (กระบวนการทำงานที่รวดเร็ว) และ T : Targeted solution (บรรลุผลตรงเป้าหมาย)
ทั้งนี้จากการทำงานของ SWOC ที่ผ่านมา สามารถช่วยแก้ปัญหา ลดวิกฤติเรื่องน้ำของประเทศอย่างต่อเนื่อง เพราะการมีข้อมูลที่รอบด้านและครบทุกมิติเรื่องน้ำมีประโยชน์ในการสนับสนุนการตัดสินใจในการบริหารจัดการน้ำของผู้บริหารด้านน้ำระดับประเทศได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ รวดเร็ว น่าเชื่อถือ และทันเหตุการณ์
อย่างไรก็ดี แม้ว่าการมีศูนย์ SWOC จะไม่ได้ทำให้ปัญหาน้ำท่วม และน้ำแล้งหมดไปจากประเทศไทย แต่การมีศูนย์ SWOC ก็จะเป็นอีกทางออกหนึ่งของการแก้ไขปัญหาน้ำได้อย่างยั่งยืน และช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนได้ไม่มากก็น้อย