thansettakij
“CP ALL EDUCATION FORUM 2025” เปิดโลก AI สร้างคนเก่ง คนดี มีความสามารถ รับโลกอนาคต 

“CP ALL EDUCATION FORUM 2025” เปิดโลก AI สร้างคนเก่ง คนดี มีความสามารถ รับโลกอนาคต 

08 เม.ย. 2568 | 04:38 น.
อัปเดตล่าสุด :08 เม.ย. 2568 | 04:50 น.

“CP ALL EDUCATION FORUM 2025” เปิดโลก AI ผ่านมุมมอง CP ALL Education Way - การเรียนรู้ที่เติบโตไปพร้อมโลกอนาคต  (The Future of Education) 3 แนวทางสร้างคนผ่านการศึกษา ด้วยการสร้างคนเก่ง ดี มีความสามารถ ก้าวทันโลก พร้อมไปต่อในอนาคต

การเข้ามาของเทคโนโลยี AI หรือปัญญาประดิษฐ์ เป็นความท้าทายความสามารถในการแก้ปัญหาของมนุษย์ ที่กำลังถูกพูดถึงอย่างมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะภาคการศึกษา ที่มุ่งผลักดันประเทศไทยไปสู่แข่งขันในโลกอนาคตที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และงาน “CP ALL EDUCATION FORUM 2025” ได้พูดถึงการใช้ AI พร้อมเจาะลึกเกี่ยวกับการสร้างคนที่จะใช้ AI ได้อย่างน่าสนใจ
 

นายยุทธศักดิ์ ภูมิสุรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่ กล่าวบนเวทีสัมนา “CP ALL EDUCATION FORUM 2025: สร้างคนเก่ง คนดี มีความสามารถ ผ่านการศึกษายุค AI” ซึ่งจัดโดย บมจ.ซีพี ออลล์ ร่วมกับ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) วิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ (PAT) และโรงเรียนสาธิตสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ โดยฉายถึงมุมมอง CP ALL Education Way - การเรียนรู้ที่เติบโตไปพร้อมโลกอนาคต  (The Future of Education) มี 3 แนวทางสร้างคนผ่านการศึกษา ด้วยการสร้างคนเก่ง ดี มีความสามารถ ก้าวทันโลก พร้อมไปต่อในอนาคต ดังนี้

  1. สร้างคน “เก่ง” เก่งคิดวิเคราะห์ (Critical Thinking) เก่งเทคโนโลยี (AI & Digital Skills) และเก่งเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) 
  2. สร้างคน “ดี” เก่งอย่างเดียวไม่พอ โลกอนาคตต้องการคน “ดี” ที่มาจาก DNA  ซึ่งเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนรวมถึงครู อาจารย์ทุกท่านที่ต้องร่วมกันปลูกฝังจริยธรรม ความซื่อสัตย์  ความรับผิดชอบต่อส่วนรวม ความเห็นอกเห็นใจ และเข้าใจผู้อื่น พลังแห่งความดีนี้จะทำให้เยาวชนเติบโตเป็นคนที่ “คิดดี พูดดี ทำดี กล้าคิด กล้าพูด กล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง” 
  3. สร้างคน “มีความสามารถ” พร้อมปรับตัว พร้อมเชื่อมโลก ผ่านรูปแบบการเรียนรู้ Work-based Education ซึ่งผสานการเรียนรู้กับการทำงานจริง เพื่อให้ผู้เรียนมีทักษะและความพร้อมในการก้าวสู่การทำงานทันทีหลังสำเร็จการศึกษา (Ready to work)  



การเรียนรู้ในรูปแบบของซีพี ออลล์ คือเอาลูกค้าเป็นศูนย์กลาง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของลูกค้าตลอดเวลา รู้จักใช้เทคโนโลยีช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ เพื่อช่วยให้คนทำงานง่ายขึ้น ไม่ล้ำสมัยแต่ไม่ล้าสมัย ทั้งเดินหน้าคิดค้นนวัตกรรม รู้จักสงสัยและตั้งคำถามแล้วใช้ PDCA หรือ Plan-Do-Check-Act หรือวางแผน ปฏิบัติ ตรวจสอบ ปรับปรุงให้ดีขึ้นอยู่ตลอดเวลา “From By Chance to By Design” จากกระบวนการทดลองบางสาขา สู่การออกแบบอย่างเป็นระบบ 

เพื่อให้ทุกสาขา ทุกเวลา ให้บริการเหมือนกัน ทำให้เป็น Knowledge Management หรือ KM เพื่อรวบรวมองค์ความรู้และให้ทุกคนสามารถเข้าถึง "องค์ความรู้" พร้อมสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ผ่านการพัฒนา "คน" ให้พร้อมอยู่ร่วมกับ AI ยกตัวอย่าง ในอดีตคนวิ่งแข่งกับม้า คนกลัวม้า ก็หาวิธีคุมม้า ปัจจุบันคนกลัว AI จึงคิดหาวิธีคุม AI               

นายยุทธศักดิ์ กล่าวว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่า AI หรือเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงโลกอย่างรวดเร็ว และมักจะได้ยินคำว่า AI เต็มไปหมด ยิ่งมีโควิด-19 การใช้เทคโนโลยียิ่งเร็วขึ้น เหมือนกราฟชันขึ้นอยู่ตลอดเวลา ทุกองค์กรจึงต้องการคนเรียนรู้เร็ว ปรับตัวได้เร็ว ที่สำคัญคือ มีความรับผิดชอบต่อสังคม 

"ในอดีตองค์กรต้องการคนเก่ง แต่วันนี้องค์กรต้องการคนที่เรียนรู้เร็ว ปรับตัวได้ไว และมีความรับผิดชอบต่อสังคม เราเชื่อว่า AI ไม่ได้มาแทนคนและเป็นเพียงแค่เครื่องมือ แต่คนต้องใช้  AI ให้เป็น เราต้องพัฒนาผู้สร้างและผู้ใช้ AI และนั่นคือเหตุผลที่ซีพี ออลล์ สร้างแนวทางการศึกษา ผสานการทำงานของคน+AI และเทคโนโลยี เกิดเป็นนวัตกรรม เพื่อเตรียมคนให้พร้อมรับมือกับโลกที่ไม่หยุดนิ่ง”

ด้านรศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) กล่าวว่า ทุกวันนี้คนเรามักเผชิญกับระบบการศึกษา 2 เรื่องคือ 1.The grade intrusion และ 2.The Super Creation ซึ่งเป็นหน้าที่ของภาคการศึกษาที่จะสร้างคนให้สอดคล้องกันเพื่อพัฒนา Innovation Investment การลงทุนด้านนวัตกรรมต่างๆ โดยนำเทคโนโยลยี AI เข้ามาขับเคลื่อนศักยภาพของคน ด้วย  "Vaccine" ได้แก่ 

1. V : Visionary ที่วิสัยทัศน์ ที่สามารถมองไกลอย่างมีประสิทธิภาพ 2. A : Attention มีความมุ่งมั่น ความเอาใจใส่ในการสร้างคน 3. C : Chemical Thinking สร้างคนให้สามารถคิดวิเคราะห์แยกแยะได้ 4. C : Creative Thinking การมีความคิดสร้างสรรค์ 5. In : Innovation การใช้นวัตกรรมในการขับเคลื่อน 5.E : Empathy การสร้างคนให้มีความเอื้อเฟื้อ ความเห็นอกเห็นใจ เป็นคนดี นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญทั้ง Hard Skills และ Soft Skills โดยทั้งหมดนี้คือแนวทางการสร้างคนของสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์

"ตอนนี้ การใช้เทคโนโลยี AI ยังไม่มี Security หรือแม้กระทั่งมาตรฐาน คนที่จะใช้ AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพต้องเรียนรู้และให้ความสำคัญกับ 1.Dynamic Learning ต้องรู้จักความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคมประกอบกัน 2. Dynamic Teaching สำหรับครูและอาจารย์ 3.Dynamic Curriculum ต้องมีหลักสูตรที่ปรับปรุงได้ตลอดเวลา 4.Dynamic Technology โดยเฉพาะการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีที่จะต้องพัฒนาอยู่ตลอดเวลา และต้อง เอ๊ะ!Management ต้องสร้างคนที่คิดเป็นทำเป็น เรียนและฝึกงานควบคู่กันไปอย่างเข้มข้น"

ด้าน ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กล่าวว่า ประเทศไทยต้องเร่งการขับเคลื่อนด้วย Big Data แต่ยังไม่มีใครทำ และต้องรองรับกับระบบ Cloud Computing เชื่อมโยงข้อมูลและเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลง การเข้ามาของ AI ที่รวดเร็วมาก และกำลังเกิดขึ้นจริงในอนาคตอันใกล้ กับระบบการศึกษา การใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งทุกคนต้องเรียนรู้ว่า AI ใช้อย่างไร การการเรียนรู้แบบ literacy เช่น การใช้ Chat GPT ไม่ว่าจะในธุรกิจไหนในอนาคต คนที่จะใช้เทคโนโลยี หรือใช้ AI คือสิ่งที่ขาดไม่ได้ เพราะถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะผลักดันธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว

"การใช้เทคโนโลยีหรือ  AI เข้าไปอยู่ในภาคการศึกษา ภาคอุตสาหกรรม และสังคมรวมถึงโลกอนาคต เราต้องอัพสกิลและปรับเพื่อใช้คนขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศเราให้เดินหน้าไปได้ ถ้าไม่ทำจะเปลี่ยนแปลงประเทศไม่ทัน"

ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวว่า ต้องเข้าใจว่าเทคโนโลยีต่างๆ ล้วนมาจากการใช้ของผู้คน การพัฒนาให้เด็กเติบโตขึ้นมาควบคู่ไปกับการใช้งานของเทคโนโลยี ต้องสร้างการใช้นวัตกรรมร่วมด้วยและใช้งานได้จริง รวมถึงการสร้างจริยะธรรมของความเป็นมนุษย์  เพื่อให้ประเทศไทยแข่งขันในอนาคตอย่างชาญฉลาดในโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็ว

นายมนัส อ่อนสังข์ (พี่ลาเต้) บรรณาธิการข่าวการศึกษาและแอดมิดชั่น เว็บไซต์ Dek-D.com กล่าวว่า AI เหมือนตัวช่วยที่เข้ามาปิดจุดอ่อนของการศึกษาไทย เช่น การแนะแนวการศึกษาของเด็กไทย การแนะนำวิธีสอบสัมภาษณ์ แม้กระทั่งการจัดทำ Portfolio เพราะตลอด 10 ปีที่ผ่านมา การศึกษาไทยค่อนข้างอ่อนเรื่องการแนะแนวด้วยหลายปัจจัย บางโรงเรียนตั้งแต่ชั้น ม.1-6 มีครูแนะแนวแค่คนเดียว 

"เรียกได้ว่า AI เป็นปรากฏการณ์ที่ตรงกับจริตของเด็กไทย โดยเฉพาะคนที่การชอบถามมากกว่าการหาข้อมูลด้วยตัวเอง คนที่ไม่กล้าถามครูหรือตัวบุคคลจะถามกับ AI ทำให้รู้มากกว่าที่เคยรู้ แต่การใช้ AI ก็เป็นดาบ 2 คม บางคนใช้ AI ปลอม Portfolio เข้ามหาวิทยาลัยก็มี และมหาวิทยาลัยตรวจสอบไม่พบ กระทั่งถูกจับได้ในกระบวนการสุดท้ายจนต้องเรียกสอบใหม่ทุกคน ดังนั้นการใช้ AI ต้องตรวจสอบด้วยคน และใช้วิจารณญาณของคนด้วย"

อย่างไรก็ตาม สังคมไทยทุกเพศทุกวัยควรรู้จักการใช้ AI ในขั้นพื้นฐาน เพราะ AI ไม่ใช่เรื่องของเด็กเพียงอย่างเดียวแต่เป็นจุดเชื่อมโยงเพื่อใช้ในทุกภาคส่วน ซึ่งสามารถใช้ข้อมูลในการสนับสนุนได้ในทุกภาคส่วนของการศึกษา และแน่นอน กระทรวง อว.ก็ผลักดันเรื่องนี้และหลายมหาวิทยาลัยก็เปิดการเรียนการสอนเรื่องนี้เฉพาะ อีก 3-4 ปี การใช้เทคโนโลยี AI จะไปไกลมาก