KEY
POINTS
เริ่มนับถอยหลังได้แล้ว สำหรับการลุ้นชะตากรรมของ “44 สส.ก้าวไกล” ที่ร่วมลงชื่อเสนอร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา เพื่อยกเลิก ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
คดีที่ต้องลุ้นคือ ความผิดตามประมวล “จริยธรรมร้ายแรง” ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
ล่าสุดมีไทม์ไลน์ออกมาจากทาง ป.ป.ช.แล้วว่า ขณะนี้จะนำไปสู่การแจ้งข้อกล่าวหา และตัดสินคดีได้เมื่อไหร่
1-2 เดือนแจ้งข้อหา 44 สส.
นายสาโรจน์ พึงรำพรรณ เลขาธิการ ป.ป.ช. เปิดเผยเมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2568 ว่า ขณะนี้ได้ตั้งคณะกรรมการไต่สวน ซึ่งจะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการไต่สวนดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐาน โดยตามขั้นตอนนั้น เมื่อคณะกรรมการไต่สวน รวบรวมพยานหลักฐานเสร็จสิ้นแล้ว จะพิจารณาว่ามีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะแจ้งข้อกล่าวหาหรือไม่
หากมีหลักฐานเพียงพอ ก็จะแจ้งข้อกล่าวหา แต่หากไต่สวนแล้วพบว่า การกระทำนั้นไม่มีความผิด ก็จะสรุปสำนวนว่า ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ก่อนจะเสนอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณา
ส่วนจะมี สส.คนไหนที่คาดว่าจะถูกแจ้งข้อกล่าวหานั้น นายสาโรจน์ กล่าวว่า เป็นรายละเอียดในสำนวน ไม่สามารถยืนยันได้ และตนในฐานะเลขาธิการ ป.ป.ช. ก็ไม่เห็นว่า จะมีบุคคลใดเข้าข่าย หรือ ไม่เข้าข่ายที่จะถูกแจ้งข้อกล่าวหา หรือ สุดท้ายแล้วจะไม่มีมูล เหล่านี้เป็นข้อเท็จจริงในสำนวน ไม่สามารถให้ข้อมูลได้
“การแจ้งข้อกล่าวหาจะใช้เวลาอีกไม่นาน เพราะการไต่สวนรวบรวมพยานหลักฐานที่ได้รับรายงานมานั้น ดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานค่อนข้างที่จะครบถ้วนแล้ว แต่เมื่อสรุปสำนวนเสนอคณะกรรมการไต่สวน ก็เป็นดุลพินิจของคณะกรรมการไต่สวน ว่าหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาไปทางใดทางหนึ่งแล้วหรือไม่ แต่ส่วนตัวเชื่อว่า ใช้เวลาอีกไม่นาน”
เมื่อถามว่าภายในปีนี้จะได้เห็นการชี้มูลความผิด 44 สส. ที่ถูกร้องเรียนหรือไม่ นายสาโรจน์ ตอบว่า ตามความเห็นของตน หากไต่สวนครบถ้วน และมีพยานหลักฐานชัดเจน ก็สามารถที่จะพิจารณาได้ ภายใน 1-2 เดือนนี้
แต่การพิจารณานั้น ไม่ได้หมายความว่า จะไปถึงขั้นตอนชี้มูล เพราะตามขั้นตอน จะต้องมีการแจ้งข้อกล่าวหาก่อน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาได้ชี้แจง ซึ่งหากมีการชี้แจงแล้ว ก็จะมีการสรุปสำนวน และพิจารณาว่า คำชี้แจงฟังขึ้นหรือไม่ เพื่อพิจารณาว่าข้อกล่าวหามีมูล หรือไม่มีมูล
ทั้งนี้ตามกรอบระยะเวลาภาพใหญ่ คาดว่าอาจจะชัดเจนภายในปีนี้ หากไม่มีข้อเท็จจริงที่จะต้องไปดำเนินการเพิ่มเติมมาก
ย้อนวิบากกรรม 44 สส.
ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2567 ว่า การกระทำของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และ พรรคก้าวไกล โดย สส.จำนวน 44 คน ที่เสนอร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ..เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง
นำไปสู่คำสั่ง "ยุบพรรคก้าวไกล" พร้อมสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรค 11 คน เป็นเวลา 10 ปี
ดาบสองที่ตามมาคือ มีการนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เป็น “สารตั้งต้น” ยื่นคำร้องให้ ป.ป.ช. สอบเอาผิด “จริยธรรมร้ายแรง” กับ นายพิธา และ สส.พรรคก้าวไกล รวมจำนวน 44 คน ที่ยื่นร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าว
โทษตัดสิทธิการเมืองตลอดชีวิต
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2561 ได้เริ่มมีการประกาศใช้ มาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ซึ่งกำหนดให้บังคับใช้กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) สมาชิกวุฒิสภา (สว.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ด้วย
หากป.ป.ช.สรุปสำนวนคดี 44 สส.ก้าวไกล แล้วมีมติให้ส่งฟ้องเอาผิด ต้องส่งฟ้องไปที่ศาลฎีกา
และหากศาลฎีกามีคำพิพากษาว่า ผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์ หรือกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าว ให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต และ เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่เกิน 10 ปี และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ
สำหรับ สส.อดีตพรรคก้าวไกล ปัจจุบันเข้าสังกัดอยู่กับพรรคประชาชน
...มานับถอยหลังลุ้นกันว่า ป.ป.ช.จะมีมติแจ้งข้อกล่าวหาแบบ “เหมาเข่ง” หรือ รายบุคคล หรือ จะมี “ตีตก” คำร้องของผู้กล่าวหา
++++++
“สุชาติ”นั่งประธาน ป.ป.ช.คนใหม่
เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2568 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ลงมติ 5 ต่อ 2 เสียง เลือก นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข กรรมการ ป.ป.ช.เป็นประธาน
ทั้งนี้ การลงมติเลือก ประธาน ป.ป.ช.คนใหม่ ดังกล่าว เป็นการลงคะแนนลับ ขั้นตอนต่อไปจะมีการเสนอชื่อให้ประธานวุฒิสภา นําความกราบบังคมทูลเพื่อทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป
แต่ในระหว่างรอโปรดเกล้าฯ ให้ นายวิทยา อาคมพิทักษ์ กรรมการ ป.ป.ช. ทำหน้าที่ประธาน ป.ป.ช. ต่อไปก่อน
ส่วน นายเอกวิทย์ วัชชวัลคุ กรรมการ ป.ป.ช. ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นประธาน ป.ป.ช. อีกราย ได้คะแนน 2 เสียง
ปัจจุบัน กรรมการ ป.ป.ช. มี 7 คน ประกอบด้วย นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข, นายวิทยา อาคมพิทักษ์, นางสุวณา สุวรรณจูฑะ, นายเอกวิทย์ วัชชวัลคุ, นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์, นายภัทรศักดิ์ วรรณแสง และ นายประภาศ คงเอียด