"เลือกตั้ง อบจ. 2568" ยังไม่จบ กกต.เผยมี 4 เขตต้องจัดเลือกตั้งใหม่

03 ก.พ. 2568 | 11:20 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ก.พ. 2568 | 11:34 น.
3.4 k

กกต. สรุปสถิติตัวเลขผลเลือกตั้ง อบจ.ทั่วประเทศ พบประชาชนแห่ใช้สิทธิ์กว่า 56% โดย 'ลำพูน-นครนายก-พัทลุง' นำโด่งทะลุ 70% ขณะที่ 4 เขตต้องเลือกตั้งใหม่

กกต.เผยตัวเลขการใช้สิทธิเลือกตั้ง อบจ.2568 ทั่วประเทศ ชี้ประชาชนตื่นตัวใช้สิทธิกว่า 56% 'ลำพูน-นครนายก' นำโด่งทะลุ 70% ขณะที่ 4 เขตต้องเลือกตั้งใหม่เหตุคะแนนไม่เลือกใครสูงกว่าผู้สมัคร

 

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดแถลงข่าวสรุปผลการใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) วันนี้ (3 กุมภาพันธ์ 2568) เวลา 09.30 น  ณ สำนักงาน กกต. โดยเป็นการเปิดเผยตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการ หลังจากการจัดการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

 

ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดตรวจสอบความถูกต้องก่อนรายงานต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งต่อไป

สำหรับภาพรวมการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) ใน 47 จังหวัดทั่วประเทศ

 

  • มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งสิ้น 27,991,587 คน
  • มีประชาชนออกมาใช้สิทธิ 16,362,185 คน คิดเป็นร้อยละ 58.45 โดยแบ่งเป็น
    • บัตรดีจำนวน 14,272,694 ใบ คิดเป็นร้อยละ 87.23
    • บัตรเสียจำนวน 931,290 ใบ คิดเป็นร้อยละ 5.69
    • บัตรไม่เลือกผู้สมัครรายใดจำนวน 1,158,201 ใบ คิดเป็นร้อยละ 7.08

ในส่วนของการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) ซึ่งมีการจัดการเลือกตั้งในทุกจังหวัดรวม 76 จังหวัด

  • มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งสิ้น 47,124,842 คน
  • มีผู้มาใช้สิทธิ 26,418,754 คน คิดเป็นร้อยละ 56.06 แบ่งเป็น
    • บัตรดี 23,131,324 ใบ คิดเป็นร้อยละ 87.56
    • บัตรเสีย 1,488,086 ใบ คิดเป็นร้อยละ 5.63
    • บัตรไม่เลือกผู้สมัครรายใด 1,799,344 ใบ คิดเป็นร้อยละ 6.81

 

ข้อมูลที่น่าสนใจพบว่า จังหวัดที่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งนายก อบจ. สูงสุด 5 อันดับแรก ส่วนใหญ่เป็นจังหวัดในภูมิภาค

 

  • จังหวัดลำพูนมีผู้มาใช้สิทธิสูงที่สุดถึงร้อยละ 73.43
  • รองลงมาคือจังหวัดนครนายกร้อยละ 73.00
  • จังหวัดพัทลุงร้อยละ 72.56
  • จังหวัดนราธิวาสร้อยละ 68.42
  • จังหวัดมุกดาหารร้อยละ 68.03

 

สะท้อนให้เห็นถึงความตื่นตัวของประชาชนในการมีส่วนร่วมทางการเมืองท้องถิ่น โดยเฉพาะในจังหวัดขนาดกลางและขนาดเล็ก

 

ขณะที่การเลือกตั้งสมาชิกสภา อบจ. จังหวัดที่มีประชาชนออกมาใช้สิทธิสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่

  1. จังหวัดพะเยาร้อยละ 61.68
  2. จังหวัดเลยร้อยละ 58.04
  3. จังหวัดเพชรบุรีร้อยละ 57.44
  4. จังหวัดยโสธรร้อยละ 56.72
  5. จังหวัดชัยนาทร้อยละ 56.63 

 

ประเด็นสำคัญที่ กกต. ให้ความสนใจเป็นพิเศษคือ การพบว่ามี 4 เขตเลือกตั้งที่จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยแบ่งเป็น 2 กรณี

  • กรณีแรกคือไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากผู้สมัครมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 50 (20) แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 จำนวน 1 เขตเลือกตั้ง ได้แก่ จังหวัดชัยนาท อำเภอวัดสิงห์ เขตเลือกตั้งที่ 1
  • กรณีที่สองคือได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งไม่มากกว่าคะแนนเสียงที่ไม่เลือกผู้ใด จำนวน 3 เขตเลือกตั้ง ประกอบด้วย
    • จังหวัดสุพรรณบุรี อำเภอเมืองสุพรรณบุรี เขตเลือกตั้งที่ 1
    • จังหวัดตรัง อำเภอเมืองตรัง เขตเลือกตั้งที่ 2
    • จังหวัดสุโขทัย อำเภอศรีสัชนาลัย เขตเลือกตั้งที่ 4 

 

สำหรับการดำเนินการในพื้นที่ที่ต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ทั้ง 4 เขตเลือกตั้งนั้น กกต. ได้กำหนดให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทั้ง 4 จังหวัด ต้องประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายใน 7 วันนับแต่วันเลือกตั้ง

 

และดำเนินการรับสมัครใหม่ในเขตเลือกตั้งดังกล่าว โดยกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ต้องไม่เกิน 45 วันนับแต่วันที่ประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่

 

นอกจากนี้ กกต. ยังได้เตรียมความพร้อมในการตรวจสอบการทุจริตการเลือกตั้งอย่างเข้มงวด โดยได้ระดมเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครในการสังเกตการณ์และรับเรื่องร้องเรียนตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม

 

ด้านการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน กกต. ได้จัดให้มีช่องทางการติดตามข้อมูลข่าวสารการเลือกตั้งและผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการหลากหลายช่องทาง ทั้งทางเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง www.ect.go.th แอปพลิเคชัน Smart Vote ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบ iOS และ Android

 

นอกจากนี้ยังสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด หรือสายด่วน 1444 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง