"กรมขนส่งทางบก"แพ้คดี ศาลสั่งให้ออกป้ายวงกลม ชดใช้ผู้ค้างชำระใบสั่งจราจร

20 ธ.ค. 2567 | 17:30 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ธ.ค. 2567 | 17:37 น.

ศาลปกครองกลางสั่ง“กรมขนส่งทางบก”ออกป้ายวงกลมภาษีรถ-ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน พร้อมดอกเบี้ย แก่ผู้ค้างชำระใบสั่งจราจร ชี้ตำรวจจราจรไม่ปฏิบัติตามก.ม. กรมขนส่งจึงไม่มีอำนาจชะลอออกป้ายเสียภาษีรถได้

วันนี้( 20 ธ.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษา ลงวันที่ 18 ธ.ค. 2567 พิพากษาให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่รับชำระค่าภาษีรถยนต์สำนักงานขนส่งกรุงเทพฯ พื้นที่ 5 (จตุจักร) ในฐานะนายทะเบียนกรมการขนส่งทางบก ออกเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีรถประจำปี พ.ศ. 2568 ให้แก่ นายอำนาจ แก้วประสงค์ ภายใน 3 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด 

และให้กรมขนส่งทางบก ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ นายอำนาจ แก้วประสงค์ เป็นเงินจำนวน 3,151.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาซึ่งออกตามความในมาตรา 7 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ทั้งนี้ไม่เกินอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ตามคำขอของผู้ฟ้องคดี ทั้งนี้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด 


ตามที่ นายอำนาจ แก้วประสงค์ ยื่นฟ้องกล่าวหาว่า กรมการขนส่งทางบก อธิบดีกรมการขนส่งทางบก สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 5 ฝ่ายทะเบียนสำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 5 นายทะเบียนตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกันละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมาย ในการปฏิเสธไม่ออกป้ายภาษีรถยนต์ (ป้ายวงกลม) ให้ โดยอ้างว่า นายอำนาจ ยังค้างชำระค่าปรับจากการกระทำความผิดตามกฎหมายจราจร 

ศาลปกครองให้เหตุผลว่า แม้จะเป็นความจริงว่า ระหว่างกรมขนส่งทางบก กับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กับ กรมการขนส่งทางบก ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการเชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก ลงวันที่ 8 ก.พ. 2566 

และในการปฏิบัติงานด้านจราจรของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีการจัดทำระบบฐานข้อมูล สำหรับใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายในแต่ละขั้นตอนต่างๆ เรียกว่า "ระบบบริหารจัดการใบสั่ง"  

แต่เมื่อข้อเท็จจริงที่ปรากฏในระบบ "ระบบบริหารจัดการใบสั่ง และที่ปรากฏในระบบฐานข้อมูลกลางของกรมขนส่งทางบก และที่หน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่รับชำระค่าภาษีรถยนต์ ใช้เป็นเหตุในการชะลอการออกหลักฐานการชำระภาษีรถประจำปี ให้แก่ผู้ฟ้องคดีปรากฏข้อเท็จจริง

แต่เพียงว่า นายอำนาน ยังคงค้างชำระค่าปรับใบสั่งจราจร ลงวันที่ 16 พ.ค.256 ในข้อหาขับรถเร็ว หรือ ต่ำกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2567 บริเวณถนนนบูรพาวิถี อ.บางปะกง จ. ฉะเชิงเทรา เป็นจำนวนเงินค่าปรับจำนวน 500 บาท โดยไม่ปรากฏพยานหลักฐานแสดง ให้เห็นว่า เจ้าพนักงานจราจรได้มีการออกหนังสือแจ้งการไม่ปฏิบัติตามใบสั่ง และค่าปรับ ที่ค้างชำระไปยังผู้ขับขี่ หรือ เจ้าของรถตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 14/2560 เรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยจราจร 

นอกจากนี้ ยังไม่พบหลักฐานไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ที่ส่งหนังสือแจ้งการไม่ปฏิบัติตามใบสั่ง ตามพ.ร.บ.จราจรทางบกพ.ศ. 2522 เก็บรักษาไว้ที่หน่วยงานในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรณีจึงเชื่อได้ว่า เจ้าพนักงานจราจรยังมิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายดังกล่าว ให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดไว้ 

เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่รับชำระค่าภาษีรถยนต์สำนักงานขนส่งกรุงเทพฯพื้นที่ 5 (จตุจักร) ในฐานะนายทะเบียนกรมการขนส่งทางบก จึงหาได้มีอำนาจในการชะลอการออกเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีรถ ให้แก่เจ้าของรถที่ค้างชำระค่าปรับจราจรแต่อย่างใด 

ดังนั้น การที่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่รับชำระค่าภาษีรถยนต์สำนักงานขนส่งกรุงเทพฯพื้นที่ 5 (จตุจักร) ตรวจสอบเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับรายการค่าปรับใบสั่งจราจรของเจ้าพนักงานจราจร ในระบบฐานข้อมูลกลาง ของกรมขนส่งทางบก แล้วออกใบเสร็จชำระเงินค่าภาษีประจำปี

พร้อมระบุข้อความว่า "ใช้แทนเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีได้ไม่เกิน 30วัน นับแต่วันที่ออกใบเสร็จรับเงิน" โดยไม่ออกเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีรถประจำปี พ.ศ. 2568 ให้แก่ นายอำนาจ จึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามระเบียบกรมการขนส่งทางบก ว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับทะเบียนและภาษีรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ พ.ศ. 2562 ที่กำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือ ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร นายอำนาจ จึงชอบที่จะได้รับค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่รับชำระค่าภาษีรถยนต์สำนักงานขนส่งกรุงเทพฯพื้นที่ 5 (จตุจักร)  

ดังนั้น กรมขนส่งทางบก ในฐานะหน่วยงานของรัฐต้นสังกัดต้องเป็นผู้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ นายอำนาจ เป็นเงินจำนวน 3,151.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาซึ่งออกตามความในมาตรา 7 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ทั้งนี้ไม่เกินอัตราร้อยละ 5 ต่อปี