เจาะลึก 'แพทองธาร'"แถลงนโยบาย: 9 สัญญาณความเครียดที่ซ่อนอยู่

13 ก.ย. 2567 | 16:44 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ก.ย. 2567 | 16:51 น.

การแถลงนโยบายต่อรัฐสภาของ “นางสาวแพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 12 กันยายน 2567 เป็นที่จับตามองของคนทั่วประเทศ เพราะต่างเฝ้ารอฟังคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี ในการนำเสนอเจตนารมณ์ ยุทธศาสตร์ และนโยบายของรัฐบาล ที่จะขับเคลื่อนประเทศ ให้ก้าวไปข้างหน้า

สปอตไลท์จึงจับจ้องไปที่ “แพทองธาร ชินวัตร” ในฐานะผู้นำรัฐบาล

ตลอด 1 ชั่วโมงเศษ หลายคนอาจจะชื่นชมในความตั้งใจและความพยายามในการนำเสนอนโยบายอย่างเต็มที่ แต่หลายคนก็อาจจะหงุดหงิดใจ กับการอ่านข้อมูลแบบถูกบ้าง ผิดบ้าง

เจาะลึก \'แพทองธาร\'\"แถลงนโยบาย:  9 สัญญาณความเครียดที่ซ่อนอยู่

ดร.ธีรพันธ์ โล่ห์ทองคำ หรืออาจารย์ธี นักวิชาการอิสระด้านกลยุทธ์การสื่อสาร ผู้เชี่ยวชาญในวงการการสื่อสารและยังมีความรู้ด้านจิตวิทยา ได้วิเคราะห์แลกเปลี่ยนมุมมองกับ “ฐานเศรษฐกิจ” การแถลงนโยบายต่อรัฐสภาของ “แพทองธาร ชินวัตร” อย่างน่าสนใจ

เว้นวรรค คล่องแคล่ว ภาพประกอบน่าสนใจ

ดูจากมวลรวม ถือว่านายกฯ พูดแถลงนโยบายใช้ได้ดีพอสมควร คือ

1. ในแง่ของวัยวุฒิที่ยังน้อย ประสบการณ์น้อย การพูดในห้องประชุมทางการครั้งแรก และเป็นเรื่องนโยบายภาพใหญ่ของประเทศ เป็นเรื่องยากของผู้ที่ไม่มีประสบการณ์เลย และไม่เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร์ (สส.) มาก่อน ไม่เคยเข้ามาในรัฐสภา ด้วยบริบท ด้วยบรรยากาศต่างๆ ย่อมต้องตื่นเต้น สำหรับการทำครั้งแรกด้วยวัยขนาดนี้ถือว่าดีในระดับหนึ่ง

2. การพูด เว้นวรรคตอน ถือว่าใช้ได้ มีความชัดเจน  คล่องแคล่ว ระหว่างพูดมีการใช้สื่อ (ภาพ) ประกอบ ทำให้เรื่องยาวๆ ดูไม่น่าเบื่อ ถือว่าทีมงานเตรียมมาดี และมีการซักซ้อมมาพร้อม

เครียด กังวล เกร็ง ขาด eye contact

ในอีกด้าน มีสิ่งที่บ่งบอกถึง “ความเครียด” (Stress) และ "วิตกกังวล" (Panic) อย่างเห็นได้ชัดเจน คือ  

1. มีการกระแอมบางช่วง ซึ่งบ่งบอกว่า พูดไม่ออก กังวล เครียด  และแก้ปัญหาโดยการหันไปจิบน้ำ และกลับมาพูดใหม่ ซึ่งหากเป็นผู้ที่มีประสบการณ์สูง จะหันมากล่าว “ขอโทษ” และพูดต่อ

2. ค่อนข้างร้อนรนในบางช่วง ดูได้จากเสียงที่ตะกุกตะกัก

3. ด้านภาษาพูด Tone of voice ไม่มีน้ำเสียงหนัก เบา ดูเป็นการอ่านมากเกินไป

เจาะลึก \'แพทองธาร\'\"แถลงนโยบาย:  9 สัญญาณความเครียดที่ซ่อนอยู่

4. การพูดคำนั้นๆซ้ำ ซึ่งการพูดซ้ำเป็นการบ่งบอกว่า คำแรกนั้นผิด ทำให้ผู้ฟังรับรู้ว่า ท่อนแรกพูดผิด  และผู้ฟังอาจจะคิดได้ว่า ทั้งๆที่อ่าน ทำไมยังพูดผิด ซึ่งบางคำความหมายไม่ได้แตกต่าง  มีความหมายเดียวกัน ก็สามารถปล่อยผ่านไปได้ ไม่จำเป็นต้องพูดซ้ำ  เช่น คำว่า “วินัยการเงิน” กับ “วินัยทางการเงิน” , “รัฐบาลจะส่งเสริม” กับ “รัฐบาลจะเร่งส่งเสริม” ซึ่งหากเป็นตัวเลขผิดก็ควรพูดซ้ำ แต่กรณีข้อความที่มีความหมายเหมือนกัน ก็ไม่จำเป็นต้องพูดซ้ำ    

5. ผู้พูดมีอาการเกร็งกับเนื้อหามากไป  กังวลเรื่องของเนื้อหามากเกินไป  ซึ่งความกังวลหรือการเกร็งในลักษณะนี้ สามารถเกิดขึ้นได้ ทำให้เกิดการพูดผิด พูดซ้ำ หรือเว้นวรรคตอนผิด เช่น ผู้ประกอบ  กิจการ ฯลฯ

6. มีเสียงกลืนน้ำลายในบางช่วง แสดงว่าการพูดมีอาการติดขัด และมีความเครียด กังวลสูง

7. การพูดคำผิด หรือเนื้อหาไม่ครบถ้วน เช่น ภูมิปัญญา (อ่านเป็น ภู – มิ – ปัญ – ญา)  ซึ่งเป็นคำที่ใช้โดยทั่วไป การควบคุมโรคไม่ติดต่อ ซึ่งคนทั่วไปอาจะเข้าใจว่า “โรคไม่ติดต่อแล้วจะไปควบคุมทำไม” ซึ่งสาระสำคัญที่แท้จริงคือ การควบคุมโรคไม่ติดต่อ (เรื้อรัง) เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ฯลฯ เป็นโรคที่คนไทยป่วยจำนวนมาก ทำให้ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลสูง เป็นต้น  

8. ขาดภาษากาย (Body Language)  ในการสื่อสาร และขาด eye contact

9. การเรียบเรียงข้อมูลของทีมงาน ส่งผลต่อความเข้าใจของผู้ฟัง เช่น ประเด็น Soft Power ในเนื้อหามีการพูดถึง ศิลปะการแสดงไทย ดนตรีไทย ผสมผสานกับศิลปะร่วมสมัย และสุราชุมชน ... อาจสร้างความเข้าใจที่ผิดได้ ซึ่งผู้เรียบเรียงมีส่วนสำคัญต่อภาพลักษณ์ของนายกรัฐมนตรี

ดร.ธีรพันธ์ โล่ห์ทองคำ

ข้อเสนอแนะ

ในฐานะนักวิชาการด้านกลยุทธ์การสื่อสาร ย่อมไม่พลาดที่จะ เสนอแนะแนวทางในการจัดการเมื่อต้องอยู่ในภาวะวิกฤต ได้แก่

  1. ต้องฝึกซ้อม ทำความเข้าใจกับเนื้อหา เพื่อให้เกิดความคุ้นชิน หากติดขัดคำไหน สามารถ short note  และฝึกอ่าน ให้ชินกับคำนั้นๆ  ขณะที่การ “ก้มอ่าน” ถือเป็นความปลอดภัยระดับหนึ่ง แต่การฝึกซ้อมจะช่วยให้เชื่อมั่น และลดการอ่านได้มากขึ้น   
  2. ด้วยเนื้อหาของข้อมูลที่ค่อนข้างมาก และบางเรื่องขาดความรู้ความเข้าใจ ทำให้โอกาสผิดพลาดสูง จึงต้องพยายามฝึกฝน หาข้อมูลและทำความเข้าใจให้มากยิ่งขึ้น
  3. ฝึกความเชื่อมั่นให้มากขึ้น เช่นในช่วงท้าย ที่นายกฯ สรุปจบ ซึ่งเป็นคำพูดที่นายกฯ คุ้นเคย และใช้ตลอดในช่วงหาเสียง ทำให้มีความเชื่อมั่น ที่จะนำเจตนารมณ์มาใช้ จึงพูดได้คล่องแคล่ว เชื่อมั่น และผ่อนคลาย (relax)

เจาะลึก \'แพทองธาร\'\"แถลงนโยบาย:  9 สัญญาณความเครียดที่ซ่อนอยู่

หากต้องให้คะแนนนายกรัฐมนตรีหญิงที่อายุน้อยที่สุดของไทย กับการแถลงนโยบายคณะรัฐมนตรี เป็นครั้งแรก

อาจารย์ธี กล่าวว่า "ขอให้ 7-8 คะแนนจาก 10 คะแนน เพราะถือว่า ทำได้ดีในระดับหนึ่งกับการปฏิบัติภารกิจ ภายใต้วัยวุฒิ และประสบการณ์ที่จำกัด กับการพูดในที่สาธารณะ (Public Speaking)"

 

ยกแรก ถือว่า สอบผ่าน...