ดร.สุวิทย์ แนะ“อุ๊งอิ๊ง”ใช้ความกล้าหาญทางการเมือง ปลดล๊อคไทย”3 วาระวิกฤต“

16 ส.ค. 2567 | 15:34 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ส.ค. 2567 | 16:07 น.

ดร.สุวิทย์ โพสต์ ”ไม่มีพื้นที่ว่างสำหรับฝันเล็กๆ” ของการเป็นผู้นำประเทศในชั่วโมงนี้ ประเทศไทยต้องการผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ ขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า ระบุไทยอ่อนแอถึงที่สุดแล้ว แนะ “อุ๊งอิ๊ง” ใช้ความกล้าหาญทางการเมือง “ปลดล๊อค” ประเทศไทย ใน ”3 วาระวิกฤต“

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  โพสต์ เฟซบุ๊ก ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ Dr. Suvit Maesincee  โดยมีเนื้อหาระบุว่า  “ไม่มีพื้นที่ว่างสำหรับฝันเล็กๆ” ของการเป็นผู้นำประเทศในชั่วโมงนี้

ประเทศต่างๆในโลกศตวรรษที่ 21 มิได้ถูกนิยามโดยแนวคิดหรือระบอบการปกครองอีกต่อไป แต่จะถูกนิยามโดยภาพลักษณ์ที่ประชาคมโลกมีต่อประเทศนั้นๆ

ดร.สุวิทย์ แนะ“อุ๊งอิ๊ง”ใช้ความกล้าหาญทางการเมือง ปลดล๊อคไทย”3 วาระวิกฤต“

เราจึงต้องตอบคำถามให้ได้ว่า เราคือใคร อะไรที่ทำให้ประเทศมีอัตลักษณ์ เอกลักษณ์ มีขีดความสามารถในการแข่งขัน มีอำนาจต่อรอง มีศักดิ์ศรีและอยู่ในจอเรดาร์โลก อาจกล่าวได้ว่า นี่คือ “ศตวรรษแห่งการค้นหาตัวเอง” ของแต่ละประเทศ

ประเทศไทยจึงต้องการผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ ขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า เตรียมความพร้อมที่จะรับมือกับพลวัตโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเสี่ยง ภัยคุกคาม และวิกฤติในหลากหลายรูปแบบ

ผู้นำประเทศหลายต่อหลายท่านในอดีต ก็มีวิสัยทัศน์ที่สอดรับกับเงื่อนไข โอกาส ข้อจำกัดและบริบทของสังคมไทยและพลวัตโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ณ ขณะนั้น

“ยุคโชติช่วงชัชวาล” ในสมัยของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นตัวอย่างที่ดี  ในห้วงเวลาดังกล่าว โลกต้องเผชิญกับวิกฤตพลังงาน โชคดีที่ประเทศไทยมีการขุดพบแหล่งก๊าซธรรมชาติ นำไปสู่การพัฒนา Eastern Seaboard พัฒนาพื้นที่มาบตาพุด อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ฯลฯ นี่คือวิสัยทัศน์ของผู้นำที่สามารถพลิกวิกฤตเป็นโอกาสให้กับประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม

ในยุคต่อมา เราเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองในภูมิภาคอินโดจีน พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ จึงใช้โอกาสนี้ประกาศวิสัยทัศน์ “เปลี่ยนสนามรบ เป็นสนามการค้า”  ซึ่งเป็นความเฉลียวฉลาดในการใช้ Soft Power กับประเทศเพื่อนบ้านในลักษณะ win-win

- ในมิติทางเศรษฐกิจ ทำให้เราสามารถขยายฐานการผลิต และตลาดที่แผ่กว้างออกไปในอินโดจีนและอาเซียนได้

- ในมิติทางการเมือง เป็นการตอกตะปูฝาโลงให้กับ “ทฤษฎีโดมิโน” ที่ว่าระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์จะลามสู่ประเทศไทย

ในยุคต่อมา พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ได้แสดงวิสัยทัศน์ของการเป็น “เสือตัวที่ห้าของเอเชีย” แต่ในที่สุด ก็ไปไม่ถึงฝั่งฝัน เพราะสะดุดขาตัวเองจากการดำเนินนโยบายการเงินการคลังที่ผิดพลาด จนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งในที่สุด

มาสู่ยุคของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ที่ได้วาดฝัน “โมเดลประเทศไทยในโลกที่หนึ่ง” ไว้ 7 ประการ ประกอบด้วย

1. มีความภาคภูมิใจในความเป็นชาติและวัฒนธรรมของตน

2. มีบทบาทสำคัญในเวทีระดับภูมิภาคและระดับโลก

3. มีโครงสร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง

4. เป็นผู้นำโลกในบางอุตสาหกรรม

5. เป็นสังคมที่เต็มเปี่ยมด้วยความสร้างสรรค์ นวัตกรรม และการเรียนรู้

6. มีผู้ประกอบการที่แข็งแกร่งสามารถแข่งขันในเวทีโลก

7. เป็นประเทศที่มีสภาพแวดล้อมทางกายภาพและสังคมที่ดี

น่าเสียดายที่ยังไม่ทันสานฝัน รัฐบาลทักษิณก็ถูกปฏิวัติรัฐประหาร

และเมื่อไม่นานมานี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ได้ผลักดัน Thailand 4.0–วิสัยทัศน์ที่มุ่งการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมไทยให้สอดรับกับพลวัตโลก โดยเน้นการเติบโตเชิงคุณภาพ การสร้างกลไกเศรษฐกิจที่เน้นความสมดุล ความยั่งยืน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

หนึ่งในโมเดลเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมภายใต้ Thailand 4.0 ก็คือ BCG Economy Model

จะเห็นได้ว่า ผู้นำประเทศในแต่ละยุคที่ผ่านมา มีวิสัยทัศน์ที่ทำให้พวกเราเกิดความเชื่อมั่น มีความหวัง มีกำลังใจ เกิดความฮึกเหิม เกิดความภาคภูมิใจในความเป็นชาติไทย

เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 16 สิงหาคม 2567 สภาผู้แทนราษฏรได้ลงมติเห็นชอบแต่งตั้ง นส. แพทองธารเป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยคะแนนเห็นด้วย =319 ไม่เห็นด้วย=141 และงดออกเสียง=27

โจทย์ที่ท้าทายของว่าที่นายกรัฐมนตรีท่านใหม่ คือ จะพลิกฟื้นและขับเคลื่อนประเทศไทยอย่างไร ในท่ามกลางพลวัตทางภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์โลกที่เชี่ยวกราก และต้องเผชิญกับความเสี่ยงในหลากหลายมิติ ภัยคุกคามไม่ตามแบบ และวิกฤตเชิงซ้อนที่ถาโถมเข้ามาอย่างหนักหน่วงและไม่หยุดยั้ง

ประเทศไทยอ่อนแอถึงที่สุดแล้ว ในฐานะผู้นำประเทศ ท่านต้องใช้ความกล้าหาญทางการเมือง “ปลดล๊อค” ประเทศไทย ใน ”3 วาระวิกฤต“ (Critical Agenda)

1. ลดทอนความขัดแย้ง เปลี่ยนจากการเผชิญหน้าเป็นการหันหน้าเข้าหากัน ปลุกจิตสำนึกของความเป็นชาติ โดยยึดผลประโยชน์ชาติเป็นสำคัญ

2. ทำกระบวนการยุติธรรมให้ยุติธรรม กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย ยึดมั่นในนิติรัฐ นิติธรรม

3. ไม่ประนีประนอมกับคอร์รัปชันที่มีอยู่ดาษดื่นทุกหย่อมหญ้า

3 วาระวิกฤตดังกล่าวเป็นการ “ซ่อม เสริม สร้าง” ฐานรากของประเทศ (National Foundation) ให้กลับมามั่นคงแข็งแรงอีกครั้งหนึ่ง

หากทำ 3 วาระวิกฤตนี้สำเร็จ วาระการขับเคลื่อนประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การขจัดความยากจนและความเหลื่อมล้ำ การพัฒนาคน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ จะกลายเป็นเรื่องที่ไม่ยาก แม้จะเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาอยู่บ้าง

No Room for Small Dreams สำหรับการเป็นผู้นำประเทศในชั่วโมงนี้ครับ