นับถอยหลัง 3 วัน ศาลรัฐธรรมนูญชี้ชะตา“นายกฯเศรษฐา” รอด-ไม่รอด

12 ส.ค. 2567 | 16:05 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ส.ค. 2567 | 16:35 น.

นับถอยหลังเหลือเวลาอีกเพียง 3 วันเท่านั้น ที่ศาลรัฐธรรนูญนัดชี้ชะตา“นายกฯเศรษฐา”ว่าจะรอด-ไม่รอด ในคดีผิดจริยธรรมตั้ง "พิชิต ชื่นบาท" นั่ง รมต. หาก“รอด”รัฐบาลได้ไปต่อ แต่ถ้าไม่รอด “เศรษฐา” และ ครม.ทั้งคณะต้องพ้นจากตำแหน่ง

KEY

POINTS

 

  • จากวันนี้ จนถึง14 ส.ค.2567 เหลือเวลาอีกเพียงแค่ 3 วันเท่านั้น ที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดชี้ชะตา "นายกฯ เศรษฐา" ในคดีผิดจริยธรรมตั้ง "พิชิต" นั่ง รมต. 
  • หาก “เศรษฐา” รอด รัฐบาล และ ครม.ทั้งคณะ ยังได้ “ไปต่อ” และอาจมีการปรับ ครม.ตามมา เพราะพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค จ้องเสนอชื่อคนเป็น รมต.แทนตำแหน่งที่วางอยู่
  • แต่ถ้า “เศรษฐา” ไม่รอด ต้องพ้นจากตำหน่งนายกฯ จะส่งผลให้ ครม.ไปทั้งคณะ ต้องเลือกนายกฯ กันใหม่ในสภาฯ แรงกระเพื่อมทางการเมือง ย่อมเกิดขึ้นอย่างแน่นอน 
     

วันพุธที่ 14 สิงหาคม 2567 นี้ หรือ เหลือเวลาอีกเพียง 3 วัน เท่านั้น ที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัยในเวลา 15.00 น. เพื่อชี้ชะตา เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ว่า จะ “รอด” หรือ “ไม่รอด” 

ในคดีที่ประธานวุฒิสภาส่งคำร้องของสมาชิกวุฒิสภา (สว.)  จำนวน 40 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5 ) หรือไม่

จากกรณี นายเศรษฐา ได้นำความกราบบังคมทูลเพื่อโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่รู้ หรือ ควรรู้อยู่แล้วว่า นายพิชิต ขาดคุณสมบัติ หรือ มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเคยถูกศาลฎีกามีคำสั่งจำคุกเป็นเวลา 6 เดือน

ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เป็นบุคคลที่กระทำการอันไม่ซื่อสัตย์สุจริต และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืน หรือ ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา สิ้นสุดลงได้  

84 วันปิดฉากคดีเศรษฐา

ก่อนหน้านี้ ศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมาย และมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวน ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง 

โดยหากคู่กรณีประสงค์จะแจ้งแถลงการณ์ปิดคดี ให้ยื่นเป็นหนังสือต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 67 ประกอบข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ 2562 ข้อ 24 ภายในวันพุธที่ 31 ก.ค. 2567 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ในวันที่ 14 ส.ค. เวลา 09.30 น. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้กำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ประชุมปรึกษาหารือ และลงมติ ก่อนอ่านคำวินิจฉัย ในเวลา 15.00 น. 

 คดีนี้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” รับคำร้องเฉพาะในส่วนของ เศรษฐา ทวีสิน ไว้วินิจฉัย เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2567 แต่ไม่สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ 

หากนับจากวันที่ศาลรับคำร้องไว้วินิจฉัย จนถึงวันที่ศาลนัดตัดสินคือ 14 ส.ค. 2567 รวมระยะเวลาดำเนินกระบวนการพิจารณาของศาล ใช้เวลา 84 วัน

                           นับถอยหลัง 3 วัน ศาลรัฐธรรมนูญชี้ชะตา“นายกฯเศรษฐา” รอด-ไม่รอด

ย้อนมติศาลรับคำร้อง“เศรษฐา”

ย้อนไป เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2567 ซึ่งเป็นวันที่ศาลรับคำร้องไว้วินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย ประกอบด้วย นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ นายอุดม รัฐอมฤต และ นายสุเมธ รอยกุลเจริญ 

ขณะเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ไม่สั่ง นายเศรษฐา หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ  โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย ประกอบด้วย นายปัญญา อุดชาชน นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม นายวิรุฬห์ แสงเทียน และ นายจิรนิติ หะวานนท์ 

9 ตุลาการศาลรธน.คดีเศรษฐา

สำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน ประกอบด้วย 

1.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ

2.ปัญญา อุดชาชน 

3.อุดม สิทธิวิรัชธรรม 

4.วิรุฬห์ แสงเทียน 

5.จิรนิติ หะวานนท์ 

6.นภดล เทพพิทักษ์ 

7.บรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ 

8.อุดม รัฐอมฤต 

9.สุเมธ  รอยกุลเจริญ

                                        นับถอยหลัง 3 วัน ศาลรัฐธรรมนูญชี้ชะตา“นายกฯเศรษฐา” รอด-ไม่รอด

เปิดโฉมพยานคู่กรณี

สำหรับคดีนี้ ฝ่าย 40 สว.ซึ่งเป็นผู้ร้อง ได้ส่งพยานบุคคล 3 ปาก ซึ่งเป็น ส.ว. 3 คน (ขณะนั้น)  ประกอบด้วย นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม นายสมชาย แสวงการ และ นายประพันธุ์ คูณมี 

ขณะที่ นายเศรษฐา ทวีสิน ผู้ถูกร้อง ได้จัดส่งเอกสารหลักฐานตามที่ศาลตั้งประเด็นให้ชี้แจง ไปเมื่อวันที่ 4 ก.ค.2567 และได้ส่งรายชื่อพยานเพิ่ม 1 ปากคือ นางณัฐฏ์จารี อนันตศิลป์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เนื่องจากเป็นผู้รู้ขบวนการทั้งหมด

2 แนวทางวินิจฉัยคดีนายกฯ

คดีนี้ หากศาลวินิจฉัยในทางเป็นบวก “เศรษฐา ทวีสิน” ได้ไปต่อ จะช่วยบรรเทาสถานการณ์ความตึงเครียดให้กับรัฐบาล เพราะ ครม.ทั้งคณะยังอยู่ รัฐบาลได้บริหารประเทศต่อ 

แต่อาจมีประเด็นที่จะตามคือ การ “ปรับ ครม.” ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาลดยเฉพาะพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) โดยนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน  ในฐานะหัวหน้าพรรคออกมายอมรับแล้วว่า ได้เสนอชื่อ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรค ให้เข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ในโควต้าของพรรคที่มีตำแหน่งว่างอยู่

แต่อีกแนวทางหนึ่ง หาก  “เศรษฐา ทวีสิน” ไม่รอด ต้องหลุดจากตำหน่งนายกฯ คนที่ 30 จะส่งผลให้ “ครม.” ไปทั้งคณะ ต้องเลือกนายกฯ กันใหม่ในสภาฯ แรงกระเพื่อมทางการเมือง ย่อมเกิดขึ้นอย่างแน่นอน 

แต่เชื่อว่า ไม่ถึงกับพลิกข้ามขั้วในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ คงจะยังอยู่ในขั้ว 314 เสียง  11 พรรคเดิมต่อไปตามเดิม

อดใจรออีกเพียง 3 วันเท่านั้น ก็จะได้รู้กันเสียทีว่า “เศรษฐา ทวีสิน” ยังจะได้ “ไปต่อ” ในตำแหน่งนายกฯ หรือ ต้อง “จบ” เพียงเท่านี้