เช็กที่นี่ กกต.เปิดผลคะแนนเลือก สว.ระดับประเทศ ผ่านทางเว็บไซต์แล้ว

28 มิ.ย. 2567 | 11:30 น.
อัปเดตล่าสุด :28 มิ.ย. 2567 | 11:41 น.
672

กกต.เผยแพร่ผลคะแนนเลือก สว. ระดับประเทศแล้ว สามารถดูรายละเอียดผลการนับคะแนนได้ทางเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการ การเลือกตั้ง www.ect.go.th

วันนี้ (28 มิ.ย. 67) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แจ้งว่าตามที่ กกต. ได้ประกาศกำหนดให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ระดับประเทศ ในวันที่ 26 มิ.ย.2567  โดยเมื่อได้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่มแล้ว ผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศจัดให้มีการแบ่งสาย จํานวน 4 สาย ดังนี้ 

สาย ก ประกอบด้วย กลุ่มที่ 7, 11, 13, 16 และ 20

สาย ข ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1, 4, 6, 17 และ 18

สาย ค ประกอบด้วย กลุ่มที่ 5, 8, 9, 12 และ 15

สาย ง ประกอบด้วย กลุ่มที่ 2, 3, 10, 14 และ 19 

ขณะนี้ผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศ ได้ดำเนินการเรียงลำดับผลคะแนนและได้ประกาศผลการนับคะแนนในการลงคะแนนเลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน เสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว  

สามารถดูรายละเอียดผลการนับคะแนนดังกล่าวได้ทางเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง www.ect.go.th 

                                 เช็กที่นี่ กกต.เปิดผลคะแนนเลือก สว.ระดับประเทศ ผ่านทางเว็บไซต์แล้ว

ด้าน นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ไอลอว์ ในฐานะผู้สังเกตการณ์การเลือก สว. กล่าวบนเวที "สว.67 ทางข้างหน้า จากสิ่งที่เห็น” ถึงกระบวนการของการได้มาซึ่ง สว. จากการเลือกกันเองของ 20 กลุ่มอาชีพที่เสร็จสิ้นและประกาศคะแนนผู้ได้คะแนนสูง 10 อันดับของกลุ่ม เมื่อ 27 มิ.ย. 2567 ว่า จากการติดตามผลการเลือก ขอยกตัวอย่างให้เห็น เช่น จ.บุรีรัมย์ มี 18 อำเภอ มีผู้สมัครจาก 8 อำเภอที่เข้าสู่รอบจังหวัด 

ทั้งนี้พบว่าผู้สมัครจาก อ.สตึก เข้ามา 14 คน เป็นสว. 2 คน อ.เมือง เข้ารอบ 7 คน เป็น สว.3 คนอ.ห้วยราษฎร์ เข้ารอบ 4 คน ได้เป็น สว.4 คน สำหรับคนที่ชนะเป็น สว. จากคะแนนที่ได้ พบว่า ชนะขาดลอย คือ 50 - 70 คะแนนขึ้นไปแทบไม่มีการแข่งขัน ส่วนคนที่แพ้ คือ แพ้ขาดลอย ได้แค่ 1-2 แต้ม แสดงให้เห็นว่าเข้ามาโดยไม่เลือกตัวเอง ทั้งนี้ไม่มีปัญหาคนที่ได้ศูนย์คะแนน

“ตัวเลขไม่ได้บอกว่าใครไม่ควรเป็น สว. แต่การเตรียมว่าใครลงคะแนนให้ใคร ผิดต่อสามัญสำนึกของประชาชนและผู้สมัคร สว. ว่าฮั้วกันแบบนี้ได้อย่างไร ทั้งนี้การเตรียมการเรื่องลงคะแนนไม่ผิดกฎหมาย หากไม่มีเรื่องการให้ผลประโยชน์ ส่วนจะมีการให้ผลประโยชน์หรือไม่นั้น กกต.ต้องตรวจสอบ” 

นายยิ่งชีพ กล่าวด้วยว่า ขอเรียกร้องให้ กกต. ตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณต้องห้ามก่อนการประกาศรายชื่อ 200 สว. เพราะหากคนที่ขาดคุณสมบัติ หรือ มีลักษณะต้องห้ามควรถูกตัดสิทธิไม่ได้เป็น สว. 

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบ พบว่า มีว่าที่ สว. บางรายที่เข้าข่ายขาดคุณสมบัติ เป็น สว. เช่น น.ส.ปุณณภา จินดาพงษ์ กลุ่ม 12 เนื่องจากมีประกาศป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ปี 2563 ระบุให้ยื่นบัญชีทรัพย์สิน เนื่องจากดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เลย ซึ่งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. กำหนดคุณสมบัติผู้สมัครว่าไม่เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่น เว้นแต่พ้นจากการเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 5 ปีนับถึงวันสมัครรับเลือก

“หากประกาศของ ป.ป.ช. ไม่ได้ทำข้อมูลผิดพลาดหรือปลอมแปลง น.ส.ปุณณภา ต้องขาดคุณสมบัติ ไม่สามารถเป็น สว.ได้ เพราะนับจากปี2563 ถึงวันสมัครรับเลือกเป็นสว. ยังไม่ครบ 5 ปี” 

นอกจากนั้น คือ นายกิตติศักดิ์ หมื่นศรี สว.กลุ่ม 19 ซึ่งปรากฏข่าวจากสำนักข่าวอิศรา ระบุว่า ต้องคำพิพากษาให้จำคุก เพราะทำผิดตามกฎหมาย ป.ป.ช. กรณียื่นบัญชีทรัพย์สิน ทั้งนี้ในคำพิพากษาดังกล่าวระบุว่าให้รอลงอาญา ซึ่งประเด็นกฎหมายดังกล่าวต้องรอการยืนยันอีกครั้ง 

และ นายสมชาย เล่งหลัก สว.กลุ่ม 19 ทั้งนี้ พบข่าวจากไทยรัฐระบุว่า กกต. แจกใบดำ ฐานะที่ นายสมชาย เป็นผู้สมัคร ส.ส.พรรคภูมิใจไทย แต่กรณีดังกล่าว กกต. ยื่นศาลฎีกา เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา จึงยังไม่มีคำพิพากษา ดังนั้น นายสมชาย ยังไม่ขาดคุณสมบัติ แต่หากศาลพิพากษาว่าผิดจริงต้องขาดคุณสมบัติ แต่หากศาลยกฟ้อง สามารถเป็น สว.ได้

นายยิ่งชีพ กล่าวว่า บางคนขาดคุณสมบัติ เพราะสมัครไม่ตรงกลุ่ม เพราะพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. มาตรา 13(3) กำหนด ว่า มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทำงานในด้านที่สมัครไม่น้อยกว่า 10 ปี

แต่พบว่ามีผู้สมัครหลายคนที่ลงผิดกลุ่ม และสามารถผ่านเข้ารอบระดับประเทศ เพื่อไปเลือกไขว้ลงคะแนนให้กับผู้ที่เป็น สว.ได้ ทั้งนี้ทราบว่า กกต. แทบไม่ได้ตรวจสอบคุณสมบัติก่อน ดังนั้นกกต.ควรตรวจสอบด้วยว่า คนที่สมัครนั้น สมัครโดยรู้อยู่แล้วว่าไม่มีคุณสมบัติหรือไม่