กกต.ลุยเลือกสว.ระดับจังหวัด 16 มิ.ย. เช้าเลือกรอบกลุ่ม บ่ายเลือกรอบไขว้

13 มิ.ย. 2567 | 14:09 น.
อัปเดตล่าสุด :13 มิ.ย. 2567 | 14:19 น.
1.3 k

กกต.ลุยเลือก สว.ระดับจังหวัด กำหนดเช้าเลือกรอบกลุ่มอาชีพ บ่ายเลือกรอบไขว้ 18 มิ.ย.ไม่หวั่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย 4 มาตรากฎหมายขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

วันนี้(13 มิ.ย.67 ) นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงถึงการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ว่า เมื่อวาน (12 มิ.ย.) ได้มีการซักซ้อมผอ.การเลือก สว.ระดับจังหวัด 3 เรื่องคือ 

1. ความเรียบร้อย ความเป็นมาตรฐานเดียวกัน และความเสมอภาคของผู้ปฏิบัติ เพราะกกต.ได้ลงพื้นที่ และเห็นว่า ยังมีการปฏิบัติที่แตกต่างกัน จึงต้องเน้นย้ำ 

2. เป็นข้อสังเกตการณ์ที่พบว่า มีการปฏิบัติที่ไม่เหมือนกัน เช่น การตั้งหีบบัตร ซึ่งหลายอำเภอมีกลุ่มอาชีพที่มีผู้สมัครเพียงคนเดียว แต่เมื่อเข้าสู่รอบไขว้ พบมีการตั้งหีบสำหรับลงคะแนนเฉพาะกลุ่มในสาย ซึ่งอาจทำให้การลงคะแนนของกลุ่ม ที่มีผู้สมัครเพียงคนเดียวไม่เป็นความลับ แต่ปัญหานี้จะหมดไปเมื่อเข้าสู่การเลือกระดับจังหวัด เพราะแต่ละกลุ่มอาชีพมีผู้สมัครเกินกว่า 1 คน เชื่อว่า เมื่อมีการซักซ้อมกันแล้ว การเลือกระดับจังหวัดจึงไม่น่าจะมีปัญหาอะไร 

นอกจากนี้ เพื่อความเรียบร้อยการเลือกระดับจังหวัด จึงกำหนดให้ช่วงเช้า เป็นการเลือกรอบแรกของกลุ่มอาชีพ ส่วนการเลือกรอบไขว้ หรือรอบสอง จะดำเนินการในช่วงบ่าย โดยผู้สมัครสามารถแนะนำตัวต่อกันได้ แต่เน้นให้เป็นระเบียบ ไม่เดินขวักไขว่

 นายแสวง กล่าวถึงความผิดว่าในการเลือก สว. ตามกฎหมายว่า มี 3 ลักษณะ

1. การรับสมัคร คือ รู้ว่าตัวเองไม่มีสิทธิลงสมัครแต่ก็ยังสมัคร มีการรับรองเอกสารเป็นเท็จ และรับจ้างสมัคร สิ่งที่กกต.ทำคือเมื่อมีการตั้งข้อสังเกตจากสังคม  ผอ.ได้มีการสอบถามในวันที่มาสมัคร ว่ามีใครจ้างมาสมัครหรือไม่ จนทำให้บางรายรู้สึกไม่ดี อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กำลังประมวลผลข้อมูลอยู่

2. กระบวนการและการดำเนินการเลือก พบว่า มีความผิดในการลงคะแนน นับคะแนน ซึ่งมีคำร้องที่กกต.กำลังเร่งพิจารณาให้เสร็จก่อนการเลือกระดับจังหวัด รวม 8 เรื่อง 

และ 3. การเลือกที่ไม่สุจริตและเที่ยงธรรม คือ การยอมให้พรรคการเมืองมาช่วยหาเสียง มีการให้เงิน ให้ทรัพย์สิน และมีการร้องเท็จ เรียกรับผลประโยชน์เพื่อเลือก หรือไม่เลือก 

ส่วนกรณีการฮั้ว การขอคะแนนกัน เดิมเรามีกฎหมายที่จะใช้ดำเนินการ 2 ฉบับ คือ กฎหมายเลือก สว. และระเบียบกกต.ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือก สว. แต่ปัจจุบันนิยามคำว่าแนะนำตัวตามระเบียบนี้ ศาลปกครองสั่งยกเลิกไป จึงเหลือเพียงกฎหมายมาตรา 77อย่างเดียวที่เอามาจับได้ คือ ต้องให้ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด  

"ถ้าดูพฤติการณ์ที่ผ่านมา ใส่เสื้อสีเดียวกัน บริษัทเดียวกันชักชวนกันมา หรือเมื่อมีการลงคะแนนแล้วพบว่า ผู้สมัครได้ 0 คะแนน  สำนำงานไม่ได้นิ่งนอนใจ สั่งให้จังหวัดตรวจสอบและรายงานมา แต่คงจะไปตรวจสอบจนตั้งเป็นสำนวนไม่ได้ เพราะกฎหมายกำหนดว่า ไม่จำเป็นต้องเลือกตัวเองก็ได้ ทั้งนี้หากผู้สมัคร หรือประชาชนเห็นว่ามีพฤติกรรมที่เข้าข่ายผิดมาตรา 77 ก็สามารถร้องเรียนได้ ขณะเดียวกัน กกต.มีหน่วยเคลื่อนที่เร็วที่มีการติดตามการเลือก เพราะสำนักงานให้ความสำคัญกับการเลือกที่สุจริตและเที่ยงธรรม”

เมื่อถามว่ามีผู้สมัครใช้วิธีเดินสายร้องเรียนตามที่ต่างๆ โดยมีเจตนาให้ตนเองเป็นที่รู้จัก เข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า การแนะนำตัวที่ไม่ผิดระเบียบ หรือกฎหมาย สามารถทำได้อยู่แล้ว 

ส่วนที่มีการร้องเรื่องสถานที่สังเกตการณ์ และการติดตั้งวงจรปิดมีภาพไม่มีเสียง สำนักงานได้ในการกำชับตามคำสั่งของ กกต.ให้มีการจัดสถานที่สังเกตการณ์ใกล้กับสถานที่เลือกสามารถมองเห็นได้ชัด มีกล้องวงจรปิดที่สามารถเก็บเสียงไว้ได้ แต่พื้นที่สังเกตการณ์จะไม่ได้ยิน    

เมื่อถามว่ามีการร้องเรียนการเลือกระดับอำเภอในสายที่มีกลุ่มอาชีพซึ่งมีผู้สมัครเพียงคนเดียว และตั้งหีบแยกไว้ เมื่อมีการขานคะแนนทำให้การเลือกไม่เป็นความลับ นายแสวง กล่าวว่า ยังไม่ทราบข้อมูลนี้ จึงขอไปตรวจสอบก่อน ส่วนกรณีบางพื้นที่มีผู้พิการเกิดอุบัติเหตุ ก็กำชับเรื่องการจัดสถานที่ ซึ่งเชื่อว่า สถานที่เลือกระดับจังหวัดจะดีกว่าระดับอำเภอ 

ส่วนกรณีที่มีคนตั้งคำถามว่า เหตุใดมีคนไม่มีรายชื่อสามารถเข้ารับการเลือก สว.ระดับอำเภอได้ ก็เป็นเพราะบางคนศาลฎีกาคืนสิทธิให้ ทางผอ.การเลือกจึงเพิ่มชื่อเข้าไป ส่วนระดับจังหวัดที่กำลังจะเลือกนี้ ก็จะมีการตรวจสอบคุณสมบัติเพิ่มเติม หากพบใครไม่มีคุณสมบัติ ก็สามารถคัดชื่อออกได้เช่นเดียวกัน ซึ่งหากใครถูกคัดชื่อออกก็สามารถร้องต่อศาลฎีกาได้ภายใน 3 วัน แต่กรณีเช่นนี้มีน้อยมาก  

ด้าน นายฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ กรรมการการเลือกตั้ง กล่าวย้ำว่า ผู้สมัคร สว.คนใดถ้าเห็นว่า การเลือกไม่ได้เป็นไปโดยสุจริต  เที่ยงธรรม และไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมี 3 กรณีสามารถที่จะร้องคัดค้านได้ตามมาตรา 64  แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องเป็นผู้สมัคร  ส่วนการพิจารณาคำร้อง กกต.พิจารณาทุกวัน  ไม่ต้องกลัวว่าจะมีคำร้องค้าง  

เมื่อถามถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญนัดวินิจฉัย 4 มาตราพ.ร.ป.ว่าด้วยกันได้มาซึ่ง สว. ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในวันที่18 มิ.ย.จะส่งผลต่อการเลือก สว. ที่ดำเนินการไปแล้วหรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า ต้องรอฟังคำสั่งศาล ซึ่งหากผลเป็นลบ ทางกกต.ได้มีมาตรการรองรับทุกประตู แต่ยังบอกรายละเอียดไม่ได้ ขอให้รอดูวันที่ศาลพิพากษา ซึ่งเรารอมาได้ 7 วัน ให้รออีก 7 วันก็รอได้ 

เมื่อถามว่า กกต.ยังมั่นใจใช่หรือไม่ ว่าจะได้ สว. 200 คน เพราะมีการวิเคราะห์สถานการณ์ขณะนี้ว่าจะมี 3 ล้มกระดาน คือ ล้มพรรคก้าวไกล ล้มเศรษฐา และ ล้มการเลือก สว. นายฐิติเชฏฐ์ กล่าวว่า อันนั้นเป็นการคาดเดา แต่เรามีแผนไว้แล้วว่า ได้ สว. 200 คนไว้แล้ว โดยจะดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายทุกประการ ไม่ต้องกลัว