“เศรษฐา”ตั้งกุนซือมือดีสู้คดี 40 สว. มั่นใจรอดถอดถอน

29 พ.ค. 2567 | 13:52 น.
อัปเดตล่าสุด :29 พ.ค. 2567 | 14:04 น.

“เศรษฐา”ตั้งกุนซือมือดีสู้คดี 40 สว.มั่นใจรอดถอดถอน : รายงานพิเศษ โดย...ทีมข่าวการเมือง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3997

KEY

POINTS

 

  • “เศรษฐา” ดึง “วิษณุ เครืองาม” เป็นกุนซือด้านกฎหมาย เพื่อทำคำชี้แจงสู้คดีถอดถอนจากตำแหน่งนายกฯ ของ 40 สว. ต่อศาลรัฐธรรมนูญ

 

  • “เศรษฐา”มั่นใจรอดคดีถอดถอน และระยะเวลา 15 วัน เพียงพอในการทำคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ภายใน 7 มิ.ย.นี้

 

  • หาก “เศรษฐา” ไม่ขอขยายเวลาชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ อีกราว 1 เดือนเศษๆ มาลุ้นชะตากรรม “เศรษฐา” กันว่าจะตกเก้าอี้นายกฯ หรือ ได้ไปต่อ
     

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เสียง รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยในคดีที่ประธานวุฒิสภาส่งคำร้องของสมาชิกวุฒิสภา 40 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ นายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160(4) และ (5) หรือไม่ เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2567 ที่ผ่านมา 

ขณะเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีมติ 5 ต่อ 4 ไม่สั่งให้ “นายกฯเศรษฐา” หยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้ชี้แจงภายใน 15 วัน ซึ่งจะครบกำหนดราว 6-7 มิ.ย. 67 นี้  

พร้อมทั้งได้ตีตกคำร้องถอดถอน “พิชิต ชื่นบาน” เหตุพ้นจากตำแหน่ง เพราะชิงลาออกจาก รมต.ประจำสำนักนายกฯ ไปก่อนหน้าแล้ว

“เศรษฐา”ตั้ง“วิษณุ”กุนซือ

ด้านความเคลื่อนไหวของ “นายกฯ เศรษฐา” ในการเตรียมชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้น ล่าสุด นายเศรษฐา ได้แต่งตั้ง นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย เป็นที่ปรึกษาสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) โดยนายกฯ ยอมรับว่า นายวิษณุ พร้อมที่จะเข้ามาช่วยงาน ได้พูดคุยกันแล้ว 

“ความจริงแล้วการทำงาน ก็มีผู้ชำนาญงานในด้านต่างๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นด้านกฎหมายหรือด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเราก็พยามหาทางเพื่อที่จะเสริมความแข็งแกร่งให้กับรัฐบาล เพื่อทำงานให้กับพี่น้องประชาชนอยู่ตลอดเวลา”

ส่วนใครเป็นคนแนะนำให้นายกรัฐมนตรีไปพูดคุยกับ นายวิษณุ  นายเศรษฐา ตอบว่า “ก็รู้จักกันอยู่แล้ว รู้จักกันเป็นการส่วนตัว โดยเฉพาะ นพ.หมมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกฯ  ก็รู้จักกับ นายวิษณุ ดีอยู่แล้ว”

มั่นใจสู้คดี 40 สว.ได้

ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 67 นายเศรษฐา กล่าวถึงการเชิญ นายวิษณุ  มาให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการทำคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ “ผมไม่ได้เชิญท่านมาแต่ผมได้ไปหาท่านที่บ้านพัก ซึ่งได้มีการพูดคุยกันแล้ว” 

เมื่อถามว่า นายวิษณุ ได้ให้คำปรึกษาในการชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญอย่างไรบ้าง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอให้เป็นเรื่องระหว่างตนกับนายวิษณุดีกว่า ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้ความคืบหน้าในการทำคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญเกือบสมบูรณ์แล้วหรือยัง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า“ยังครับ”

เมื่อถามว่าการที่ได้ไปขอคำปรึกษาจาก นายวิษณุ ทำให้มั่นใจใช่หรือไม่ว่าการทำคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญจะสู้ได้แน่นอน นายเศรษฐา กล่าวว่า “มั่นใจครับ” เมื่อถามว่าระยะเวลา 15 วัน เพียงพอหรือไม่ในการทำคำชี้แจง นายกรัฐมนตรี ตอบว่า เข้าใจว่าเพียงพอ 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกฯ ได้ไปพบและขอคำแนะนำจาก นายวิษณุ ที่บ้านพัก เมื่อวันเสาร์ที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา

วิษณุเปิดใจรับที่ปรึกษา สลค. 

ด้าน นายวิษณุ เครืองาม ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เปิดเผยกับ “เนชั่นทีวี” ถึงการพูดคุยกับ นายกฯ เศรษฐา ว่า  ยอมรับว่าได้รับตำแหน่งที่ปรึกษาสำนักเลขาฯ ครม.จริง โดยตำแหน่งนี้เป็นการพูดคุยกับสำนักเลขาธิการ ครม. หลังจากตนพ้นตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ไว้นานแล้ว ซึ่งพอท่านนายกฯเศรษฐา ทราบข่าว ก็มาเรียนให้ตนทราบว่า จะมีการลงนามแต่งตั้งให้ เป็นที่ปรึกษาสำนักเลขาธิการ ครม.   

“ก่อนหน้านี้ได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่สำนักเลขาธิการ ครม. ซึ่งเขาจะมีการปรับระบบ ระเบียบของเอกสาร งาน สลค. และ ครม. มาก่อน ว่าจะให้ผมมาเป็นที่ปรึกษา”  

นายวิษณุ กล่าวว่า ตำแหน่งดังกล่าว ไม่ใช่ตำแหน่งข้าราชการทางการเมือง ไม่มีอัตราเงินเดือน หรือ ต้องแสดงบัญชีหนี้สินทรัพย์สินอะไร และก็ไม่เหมือนตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯ แต่อย่างใด 

“พิชิต”หัวขบวนแจงศาลรธน.

นายวิษณุ กล่าวถึงการพบกับนายกฯ เศรษฐา เมื่อวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาด้วยว่า ได้พบกันที่บ้านพัก เมื่อวันที่ 25 พ.ค. โดยท่านนายกฯ คงจะมาบ้านใครสักแห่ง และอยู่ใกล้ๆ บ้านตน จึงแวะเข้ามาพบปะพูดคุย ซึ่งคุยกันหลายเรื่อง 

“ท่านยังเล่าถึงการเดินทางไปปฏิบัติราชการที่ยุโรป ฝรั่งเศส รวมถึงที่เป็นประเด็นข่าวเกี่ยวกับ  40 สว.ยื่นคำร้องศาลรัฐธรรมนูญ ตรวจสอบ ท่านนายกฯ ก็พูดคุย คือ พูดคุยกันหลายเรื่อง” 

“ส่วนเป็นการปรึกษา ด้วยการให้ผมไปเป็นหัวขบวนชี้แจงศาลรัฐธรรมนูญนั้น ไม่ใช่ผม ต้องเป็น คุณพิชิต ชื่นบาน เป็นหัวขบวน และตอนนี้ เขา(สำนักเลขา ครม.) ก็มีการเตรียมการ ทำคำชี้แจง ล่วงหน้าไปถึงไหนต่อไหนแล้ว“ นายวิษณุ กล่าว  

เมื่อถามว่าได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษา สลค.แล้ว จะปูทางสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นกว่านี้หรือไม่ หรือ ตำแหน่งรองนายกฯ นายวิษณุ ปฏิเสธว่า ไม่ขอรับตำแหน่งใดทางการเมือง และตอนนี้ก็พักรักษาตัวดูแลสุขภาพ

                             “เศรษฐา”ตั้งกุนซือมือดีสู้คดี 40 สว. มั่นใจรอดถอดถอน

มิ.ย.ลุ้นศาลชี้ชะตาเศรษฐา

สำหรับไทม์ไลน์การพิจารณาคดีถอดถอน นายเศรษฐา ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น ศาลรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้ชี้แจงภายใน 15 วัน ซึ่งจะครบกำหนดประมาณ 6-7 มิ.ย.นี้ 

หากเมื่อครบกำหนดแล้ว  นายกฯ เศรษฐา ยื่นคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยไม่ขอขยายระยะเวลาทำคำชี้แจงออกไป ขั้นตอนต่อไปศาลจะนำเข้าสู่ที่ประชุม คาดว่าจะเป็นวันที่ 12 มิ.ย. 2567 เพื่อพิจารณา และดำเนินการตามกระบวนการต่อไป

โดยศาลรัฐธรรมนูญอาจจะใช้เวลาอีกอย่างน้อย 15 วัน ในการพิจารณาคดีนี้ ก่อนที่จะนัดประชุมปรึกษาหารือ และ ลงมติ คาดว่าศาลจะนัดวินิจฉัยได้เร็วสุดคือ วันที่ 28 มิ.ย. 2567

สถานะของ “เศรษฐา ทวีสิน” ขณะนี้ถือว่าอยู่บนความเสี่ยง แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ขึ้นอยู่กับ “ศาลรัฐธรรมนูญ” จะวินิจฉัยให้สิ้นสุดการเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือ ศาลจะยกคำร้อง

อีกราว 1 เดือนเศษๆ มาลุ้นชะตากรรม เศรษฐา กันว่าจะ “ตกเก้าอี้นายกฯ” หรือ “ได้ไปต่อ”

                                        +++++++

นายกฯมิได้กระทำการไม่ซื่อสัตย์สุจริต

เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2567 นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ได้โพสต์ข้อความเฟซบุ๊ก ระบุว่า 
กรณีตามข้อกล่าวหาของ 40 สว. ที่อ้างว่า นายพิชิต ชื่นบาน มีคุณสมบัติขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) และ (5) การที่นายกรัฐมนตรีนำรายชื่อนายพิชิต ทูลเกล้าฯ ให้พระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี จึงทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯ สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) นั้น

ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 บัญญัติให้อำนาจ นายกรัฐมนตรีเป็นผู้คัดสรรผู้ที่สมควรดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี  และเป็นผู้นำรายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดสรรขึ้นกราบบังคมทูล เพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี

แต่อำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ที่ได้รับการคัดสรร เป็นหน้าที่ของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) โดยผู้ที่ได้รับการคัดสรรจะเป็นผู้กรอกประวัติของตน จากนั้นเมื่อ สลค.ได้ตรวจสอบแล้วเห็นว่า ผู้ได้รับการคัดสรรมีคุณสมบัติครบถ้วนไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ สำนักเลขาธิการครม.จะนำความกราบเรียนนายกฯ เพื่อให้นายกฯ นำรายชื่อผู้ได้รับการคัดสรรขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อไป

ดังนั้น เมื่อคุณสมบัติของ นายพิชิต ได้รับการตรวจสอบโดย สลค. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจแล้ว การที่นายกฯ นำรายชื่อของ นายพิชิตฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ จึงมิได้เป็นการกระทำที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริต ตามมาตรา 160 (4) และที่อ้างว่าไม่ได้สอบถามสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็เพราะเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ไม่ใช่ข้อกฎหมายที่ต้องสอบถาม 

ส่วนข้อกล่าวหาตาม 160 (5) ว่า เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงนั้น ก็อยู่ในอำนาจการไต่สวนของ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามมาตรา 234 (1) และเป็นอำนาจวินิจฉัยของศาลฎีกา ตามมาตรา 235 (1) ส่วนศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัยในประเด็นนี้ ความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯ จึงไม่สิ้นสุดลงจากข้อกล่าวหาของ 40 สว.