สมัครสว. 2567 เช็คเงื่อนไข วิธีแนะนำตัว อะไรทำได้ -ทำไม่ได้

19 พ.ค. 2567 | 08:35 น.
1.2 k

สมัคร สว. 2567 กกต. แจ้งเตือนผู้สมัครรับเลือกตั้ง สว.ชุดใหม่ เช็คเงื่อนไขและวิธีการแนะนำตัวที่ถูกต้อง สิ่งที่ทำได้ และ อะไรที่ทำไม่ได้บ้าง ตรวจสอบรายละเอียดทั้งหมดได้เลย

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดเปิดรับสมัครรับเลือกสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ หรือ สว. 2567 ตั้งแต่วันที่ 20-24 พฤษภาคม 2567 เวลา 08.30 - 16.30 น. ณ สถานที่ที่ผู้อำนวยการการเลือก ระดับอำเภอกำหนด สมัครได้ไม่เว้นวันหยุดราชการ และกำหนดวันเลือก สว. ระดับอำเภอในวันที่ 9 มิถุนายน 2567 ระดับจังหวัด เป็นวันที่ 16 มิถุนายน 2567 และระดับประเทศในวันที่ 26 มิถุนายน 2567 

ทั้งนี้ สำหรับผู้สมัครสว.ล่าสุด กกต.ออกประกาศระเบียบการแนะนำตัวผู้สมัคร สว.2567 ระบุว่า มีอะไรบ้างที่สามารถทำได้ และอะไรบ้างที่ ห้ามทำ หรือ ทำไม่ได้ ดังนี้ 

หลังจากที่ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ระเบียบ กกต. ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือก สว.2567 เมื่อวันที่ 26 เม.ย.2567 โดยวางเงื่อนไขการแนะนำตัวของผู้สมัคร สว.2567  แบ่งออกเป็น "วิธีการแนะนำตัว" และ "ข้อห้ามในแนะนำตัว" ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้ 

วิธีการในการแนะนำตัว สว.2567

1.ผู้สมัครสามารถพิมพ์ประวัติ ประสบการณ์ ลงในกระดาษ A4 ไม่เกิน 2 หน้า

2.ให้ผู้สมัครแนะนำตัวโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วยตนเองได้ แต่ได้เฉพาะผู้สมัครด้วยกัน 

3.การมีผู้ช่วยเหลือ :

ให้ผู้สมัครแจ้งชื่อ เป็นลายลักษณ์อักษรต่อ ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ก่อนวันดำเนินการ ยกเว้น สามี ภรรยาหรือบุตร

ข้อห้ามในการแนะนำตัวของ สว.2567

ระเบียบฉบับนี้ยังได้กำหนด "ข้อห้าม" ในการแนะนำตัวที่สำคัญเอาไว้ในหมวด 3 ข้อ 10 ไว้ ดังนี้ นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือก สว.มีผลใช้บังคับไปจนถึงวันที่ คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลการเลือก "ห้ามผู้สมัครหรือผู้ช่วยเหลือผู้สมัครแนะนำตัวในกรณี (ในหมวด 3 ข้อ 11) ดังต่อไปนี้ 

1.กระทำการฝ่าฝืนข้อห้ามตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา

2.ผู้ประกอบอาชีพสื่อมวลชน หรือสื่อโฆษณา เช่น นักแสดง นักร้อง นักดนตรี พิธีกร เป็นต้น ใช้ความสามารถ หรือวิชาชีพดังกล่าว เพื่อเอื้อประโยชน์ในการแนะนำตัว

3.ห้ามแจกเอกสารเกี่ยวกับการแนะนำตัวโดยวิธีการวางโปรยหรือติดประกาศในที่สาธารณะ

4.ห้ามแนะนำตัวโดยใช้ถ้อยคำที่รุนแรง หรือปลุกระดมก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในพื้นที่

5.ห้ามแนะนำตัวทางทางวิทยุ โทรทัศน์ หรือสื่อสิ่งพิมพ์ รวมถึง การให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชน นักข่าว หรือสื่อโฆษณาซึ่งเผยแพร่ผ่านบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล

6.จงใจไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบนี้

7.ห้ามผู้สมัครยินยอมให้ผู้สมัครอื่น กรรมการบริหารพรรคการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นใดในพรรคการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เข้ามาช่วยเหลือผู้สมัครไม่ว่ากรณีใด ๆ

นอกจากนี้ในการประชุม กกต.เมื่อวันที่ 14 พ.ค.2567 ที่ผ่านมา ได้แก้ไขเพิ่มเติมระเบียบ กกต. ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือก สว.ดังนี้

จากเดิมกำหนด "ให้เผยแพร่แก่ผู้สมัครอื่นในการเลือกเท่านั้น" แต่สาระในการแนะนำตัวยังเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เป็น "เปิดให้ผู้สมัคร สว. แนะนำตัวโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านการใช้โซเชียลมีเดีย และ ให้เผยแพร่ต่อสาธารณะ" 

ช่องทางการแนะนำตัว ผู้สมัคร สว. ผ่านอิเล็กทรอนิกส์ 

กกต. ได้เพิ่มช่องทางการรับรู้ โดย "ผู้สมัครและผู้ช่วยเหลือผู้สมัคร" สามารถเผยแพร่ได้ทางแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น ติ๊กต๊อก ยูทูป เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม แต่สาระของการแนะนำตัวให้เป็นไปตามกฎหมายเท่าที่ตามแบบ สว. 3 เท่านั้น

ทั้งนี้ ตามกฎหมายจะไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อระหว่างรับสมัครแต่เมื่อการสมัครเสร็จสิ้น กกต.จึงจะเปิดเผยได้ ทางแอปพลิเคชันสมาร์ทโหวต และ เว็บไซต์ กกต. โดย กกต.จะเปิดเผยทุกรายชื่อ ทุกกลุ่ม ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ว่าใครลงสมัครอย่างไร มีประวัติ และมีประสบการณ์ในการทำงานอย่างไร 

กรณีหากพบว่า ผู้สมัคร สว.แจ้งคุณสมบัติเป็นเท็จตามที่แจ้งไว้ในใบ สว.3 จะถูกเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง หรือ ใบดำทันที โดยจะได้โทษทั้งคนสมัคร และผู้รับรองในใบสมัคร

สำหรับการตรวจสอบ กกต.สามารถทำได้ 2 แบบ คือ ไม่รับเป็นผู้สมัครและไปร้องที่ศาลฎีกา แต่หากประกาศเป็นผู้สมัครไปแล้ว พบว่า ผิดสามารถลบชื่อได้ทุกชั้น ตั้งแต่ระดับอำเภอ และจังหวัด

คลิกอ่านรายละเอียด ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ 2567