เปิดคำร้อง 40 ส.ว. ชงศาลรธน.ถอดถอน นายกฯ-พิชิต พบ“ทักษิณ”ก่อนทูลเกล้าฯ ชื่อ

18 พ.ค. 2567 | 14:15 น.
อัปเดตล่าสุด :18 พ.ค. 2567 | 14:52 น.
937

เปิดละเอียดคำร้อง 40 ส.ว. ยื่นศาลรธน.วินิจฉัยถอดถอน "นายกฯ เศรษฐา-พิชิต ชื่นบาน" พ้นตำแหน่ง เข้าข่ายขาดคุณสมบัติรัฐมนตรี เอื้อประโยชน์ หลังเข้าพบ "ทักษิณ" 3 ครั้ง ก่อนนำชื่อทูลเกล้าฯ

วันนี้(18 พ.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ได้ร่วมกันเข้าชื่อเพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ (ศาลรธน.) วินิจฉัยตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของ นายเศรษฐา ทวีสิน และตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ของ นายพิชิต ชื่นบาน หลังพบมีพฤติกรรมที่เข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 170 (4) และ (5) ประเด็นว่าด้วยขาดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมีพฤติกรรมฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ต้องสิ้นสุดลงหรือไม่ ผ่านนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2567 ที่ผ่านมา

โดยได้สรุปคำร้องสมาชิกวุฒิสภา เผยแพร่ ดังต่อไปนี้ สมาชิกวุฒิสภา จำนวน 40 คน ลงนามเข้าชื่อขอให้ประธานวุฒิสภา ส่งคำร้องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรค 3 ประกอบมาตรา 82 ว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องที่ 1 และ นายพิชิต ชื่นบานรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องที่ 2 สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรค 1(4)(5) หรือไม่

ด้วยปรากฏว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องที่ 1 ได้นำความกราบบังคมทูลฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน ผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยผู้ถูกร้องที่ 1 ทั้งๆ ที่รู้ หรือ ควรรู้อยู่แล้วว่า ผู้ถูกร้องที่ 2 ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 160 (4) และ(5) ที่บัญญัติว่า

มาตรา 160 รัฐมนตรีต้อง

(4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์

(5) ไม่มีประพฤติกรรม อันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

ผู้ร้องเห็นว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องที่ 1 ได้อาศัยตำแหน่งหน้าที่ความเป็นนายกรัฐมนตรี กระทำการโดยอาจมีเจตนาไม่สุจริตเพื่อประโยชน์แก่ ผู้ถูกร้องที่ 2 ด้วยการแต่งตั้งผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นรัฐมนตรีหรือไม่ ด้วยการเลี่ยงและบิดเบือนข้อเท็จจริงในการให้ข้อมูลแก่สังคม และประชาชนทำให้เข้าใจผิดว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ถูกร้องที่ 2 เรียบร้อยแล้วว่า  ไม่ขาดคุณสมบัติ หรือ มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งหมายความรวมถึงไม่ขาดคุณสมบัติตามมาตรา 160 (4) และ(5)

ด้วยทั้งนี้ตามความจริงแล้ว ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ฉบับ ลงวันที่ 1 กันยายน 2566 ยังไม่ได้วินิจฉัยคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องที่ 2 ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) และ (5) 
ประกอบกับผู้ถูกร้องที่ 1 ได้เข้าพบ นายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมี นายพิชิต ชื่นบาน ผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นหัวหน้าทนายความประจำตัว จำนวนไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง ก่อนการเสนอทูลเกล้าฯ แต่งตั้งผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นรัฐมนตรี 

จึงเชื่อได้ว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 อาจมีเจตนาไม่สุจริต และบิดเบือนข้อเท็จจริงในการให้ข้อมูลแก่สังคมและประชาชน และประกอบกับการที่ ผู้ถูกร้องที่ 1 ได้เข้าพบ นายทักษิณ ชินวัตร ดังกล่าวมาข้างต้นไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง โดยมีข้อสังเกต การพบครั้งที่ 3 ในวันที่ 12 เมษายน 2567 ก่อนวันที่ 27 เมษายน 2567

จึงอาจเป็นสาเหตุทำให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ต้องการเอื้อประโยชน์ให้แก่ นายทักษิณ ชินวัตร และ ผู้ถูกร้องที่ 2 หรือไม่ เพราะหลังจากนั้น ผู้ถูกร้องที่ 1 จึงเสนอทูลเกล้าฯ แต่งตั้งผู้ถูกร้องที่ 2 เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2567

ทั้งนี้ ผู้ถูกร้องที่ 1 รู้ หรือ ควรรู้อยู่แล้วว่า ผู้ถูกร้องที่ 2 ได้กระทำความผิดตามคำสั่งศาลฎีกาที่ 4599/2551 และต่อมาสภาทนายความมีมติลงโทษให้ลบชื่อผู้ถูกร้องที่ 2 ออกจากทะเบียนทนายความ แสดงว่าผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นบุคคลที่มีการกระทำการอันเป็นการไม่ซื่อสัตย์สุจริตและฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรงผู้ถูกร้องที่ 2 จึงเป็นบุคคลที่ขาดคุณสมบัติ หรือ มีลักษณะต้องห้ามเป็นรัฐมนตรี

การกระทำของ ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่เสนอทูลเกล้าฯ แต่งตั้ง ผู้ถูกร้องที่ 2 เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2567 ให้ได้เป็นรัฐมนตรีการกระทำดังกล่าวของผู้ถูกร้องที่ 1 จึงเป็นการกระทำด้วยความไม่ซื่อสัตย์สุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ มีพฤติกรรมที่รู้เห็นและยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ 

เป็นการกระทำที่ขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ทั้งนี้ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ก่อให้เกิดความเสื่อมเสีย ต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นการคบค้าสมาคม กับผู้มีความประพฤติ หรื อผู้มีชื่อเสียงในทางเสื่อมเสีย 

อันอาจกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่ ทำให้ ผู้ถูกร้องที่ 1 ขาดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา160 (4) โดยเหตุขาดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และการกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 มีลักษณะต้องห้ามความเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 160 (5) ด้วยเหตุผู้ถูกร้องที่ 1 ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ที่ใช้บังคับกับคณะรัฐมนตรีดังนี้

ข้อ 7 ต้องถือว่าผลประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าผลประโยชน์ส่วนตน

ข้อ 8 ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตไม่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบเพื่อตนเอง หรือ ผู้อื่น และมีพฤติการณ์ที่รู้หรือเห็น หรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตน แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ

ข้อ 11 ไม่กระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ทั้งนี้ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม

ข้อ 17 ไม่กระทำการใดที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง

ข้อ 19 ไม่คบหาสมาคมกับคู่กรณีผู้ประพฤติผิดกฎหมาย  ผู้มีอิทธิพลหรือ ผู้มีความประพฤติ หรือผู้มีชื่อเสียงในทางเสื่อมเสีย อันอาจกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่

ผู้ร้อง ในฐานะสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 40 คน เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา จึงขอให้ประธานวุฒิสภาส่งคำร้องฉบับนี้ เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรค 3 ประกอบมาตรา 82 ว่าด้วยความเป็นรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องที่ 1 

และ นายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องที่ 2 สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรค 1(4) (5) หรือไม่

และขอศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้งสองหยุดปฏิบัติหน้าที่ จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรค 2

หมายเหตุ คำร้อง 11 แผ่นเอกสารประกอบ 87 แผ่นรวม 98 แผ่น

 

               เปิดคำร้อง 40 ส.ว. ชงศาลรธน.ถอดถอน นายกฯ-พิชิต พบ“ทักษิณ”ก่อนทูลเกล้าฯ ชื่อ     เปิดคำร้อง 40 ส.ว. ชงศาลรธน.ถอดถอน นายกฯ-พิชิต พบ“ทักษิณ”ก่อนทูลเกล้าฯ ชื่อ