ศาล รธน.“โรมาเนีย-บัลแกเรีย” ยึดนิติธรรมวินิจฉัยข้อขัดแย้ง

14 พ.ค. 2567 | 17:31 น.
อัปเดตล่าสุด :14 พ.ค. 2567 | 18:02 น.

ศาล รธน.“โรมาเนีย-บัลแกเรีย” ยึดนิติธรรมวินิจฉัยข้อขัดแย้ง : รายงานพิเศษ โดย...บากบั่น บุญเลิศ ฐานเศรษฐกิจออนไลน์

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นำคณะผู้ศึกษาอบรมหลักสูตร “หลักนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย” (นธป.) รุ่นที่ 12 พร้อมด้วยผู้บริหารสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เดินทางศึกษาดูงานบริบทการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญโรมาเนีย-บัลแกเรีย 

นายปัญญา อุดชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายนภดล เทพพิทักษ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายกฤติเดช วงษ์นรเศรษฐ์ อุปทูตรักษาการ สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบูคาเรสต์ และ น.ส.ร่มปรางค์ สวมประคำ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านคดี รักษาราชการแทนรองเลขาธิการ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ประชุมร่วมมือระดับทวิภาคีร่วมกับ Mr. Marian ENACHE ประธานศาลรัฐธรรมนูญแห่งโรมาเนีย Ms. Elena-Simina TĂNĂSESCU, Ms. Laura-Iuliana SC NTEI, Mr.Cristian DELIORGA, Mr.Gheorghe STAN ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ Mr. Benke Károly ผู้ช่วยผู้พิพากษา และ Ms. Cristina Titirișcă ผู้ช่วยผู้พิพากษา ผู้อำนวยการสำนักประธานศาลรัฐธรรมนูญ

ขณะที่คณะผู้ศึกษาอบรมหลักสูตร "หลักนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย” (นธป.) รุ่นที่ 12 ได้เข้าศึกษาดูงานและรับฟังบรรยายสรุปเกี่ยวกับระบบการควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ที่มาและองค์ประกอบของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ และคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่สำคัญของประเทศโรมาเนีย ซึ่งบรรยายโดย Ms.Andreea COSTIN ผู้พิพากษา, Mr.Fabian NICULAE ผู้พิพากษา และ Ms. Claudia-Margareta KRUPENSCHI หัวหน้าผู้ช่วยผู้พิพากษา ณ ศาลรัฐธรรมนูญแห่งโรมาเนีย 

                      ศาล รธน.“โรมาเนีย-บัลแกเรีย” ยึดนิติธรรมวินิจฉัยข้อขัดแย้ง

โรมาเนียเคยมีการปกครองในระบอบกษัตริย์มาก่อน ที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์ ในปี 2490 ต่อมาในเดือนธันวาคม 2532 ประชาชนได้ก่อการปฏิวัติล้มล้างการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ ไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตย และประกาศใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2534 เป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ มีการกำหนดแนวนโยบายแห่งรัฐใหม่ เป็นรัฐประชาธิปไตยและสวัสดิการสังคม มีประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนเป็นประมุข 

จากการศึกษา กรณีการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญของโรมาเนียก็เคยมีการวินิจฉัยในคดีสำคัญคล้ายคลึงกับประเทศไทย กล่าวคือ ในปี  2560 รัฐบาลนายซอริน กรินเดียนู นายกรัฐมนตรีโรมาเนีย ได้ยกเลิกกฤษฎีกาเกี่ยวกับการละเว้นโทษให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งทุจริต ส่งผลให้มีผู้ประท้วงเป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีเสียงประณามในวงกว้าง

นายกรัฐมนตรี ซอริน กรินเดียนู ที่เห็นชอบกับกฤษฎีกาดังกล่าว ประกาศว่า กฤษฎีกาฉบับนี้ไม่จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา จนนำมาซึ่งการประท้วงและเรียกร้องจากประชาชน จนประธานาธิบดี เคลา โยฮันนิส ต้องการให้ยกเลิกกฎหมายละเว้นโทษดังกล่าว

                               ศาล รธน.“โรมาเนีย-บัลแกเรีย” ยึดนิติธรรมวินิจฉัยข้อขัดแย้ง

ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญของประเทศโรมาเนีย ยกเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาความถูกต้องของกฤษฎีกา ที่ระบุให้ละเว้นโทษให้แก่ผู้กระทำผิดในคดีที่มีมูลค่าความเสียหายน้อยกว่า 200,000 เลอู (47,800 ดอลลาร์สหรัฐฯ) จนต้องยกเลิกกฎหมายดังกล่าว 

ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2558 ศาลรัฐธรรมนูญของโรมาเนีย เคยสร้างบรรทัดฐานในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ เมื่อองค์คณะศาลวินิจฉัยว่า กฎหมายด้านความมั่นคงฉบับใหม่ มีเนื้อหาขัดต่อรัฐธรรมนูญ และยังละเมิดสิทธิของประชาชน จากการที่กฎหมายฉบับนี้ เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงสอดแนมการติดต่อสื่อสารของประชาชนได้ โดยไม่จำเป็นต้องขออนุมัติจากศาล 

                         ศาล รธน.“โรมาเนีย-บัลแกเรีย” ยึดนิติธรรมวินิจฉัยข้อขัดแย้ง

แม้ว่า ทางสำนักงานข่าวกรองกลางโรมาเนีย ย้ำว่า กฎหมายฉบับนี้มีความจำเป็นต่อการปกป้องความมั่นคงของชาติ จนทำให้ ผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองกลางโรมาเนีย ซึ่งอยู่ในตำแหน่งมายาวนาน ต้องประกาศลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งสร้างความตกตะลึงไปทั่วประเทศ เนื่องจากเขาถือเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูง ที่มีบทบาทต่อการกำหนดนโยบายด้านความมั่นคงของโรมาเนียมานานหลายปี

ศาล รธน.“โรมาเนีย-บัลแกเรีย” ยึดนิติธรรมวินิจฉัยข้อขัดแย้ง

ต่อมา นายปัญญา, นายอุดม และ นายนภดล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นำคณะร่วมหารือกับ Ms. Pavlina Panova ประธานศาลรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐบัลแกเรีย Prof. Yanaki Stoilov ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐบัลแกเรีย Mr. Valentin Georgiev เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐบัลแกเรีย Mr. Alexander Tsekov หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย Ms. Polina Pesheva หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและพิธีทางการทูต และ Ms. Desislava Kemalova เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย 

                     ศาล รธน.“โรมาเนีย-บัลแกเรีย” ยึดนิติธรรมวินิจฉัยข้อขัดแย้ง                      

ในการนี้ คณะผู้ศึกษาอบรมหลักสูตร "หลักนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย” (นธป.) รุ่นที่ 12 เข้ารับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับระบบการควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ที่มา และองค์ประกอบของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หน้าที่ และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ และคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่สำคัญของศาลรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐบัลแกเรีย ซึ่งบรรยายโดย Ms. Pavlina Panova ประธานศาลรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐบัลแกเรีย Prof. Yanaki Stoilov ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ Mr. Valentin Georgiev เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ณ ศาลรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐบัลแกเรีย

บัลแกเรีย เป็น 1 ในประเทศที่ควรศึกษา เพราะภายหลังการล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ในสหภาพโซเวียต บัลแกเรียได้เปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2534 รัฐสภาบัลแกเรียได้รับรองรัฐธรรมนูญของประเทศ มีสถานะเป็นรัฐเดี่ยว สาธารณรัฐระบบรัฐสภา เป็นระบบสภาเดียว ประกอบด้วยสมาชิกรัฐสภา 240 คน จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปทุก 4 ปี ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยตรง ดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี และอาจอยู่ต่อได้อีกหนึ่งวาระ

                          ศาล รธน.“โรมาเนีย-บัลแกเรีย” ยึดนิติธรรมวินิจฉัยข้อขัดแย้ง

รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเข้าเป็นสมาชิกภาพสหภาพยุโรป การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และ เป็นธรรมยิ่งขึ้น การปฏิรูประบบประกันสังคมให้มีความเป็นธรรมยิ่งขึ้น ลดอาชญากรรมและการฉ้อราษฎร์บังหลวง แก้ไขปัญหาความยากจน พัฒนาระบบการศึกษา อาทิ การให้เงินสนับสนุนโรงเรียนอนุบาล การเพิ่มปฏิสัมพันธ์ระหว่างภาคการศึกษาและภาคธุรกิจ                          

ผู้เขียนเห็นว่า กรณีของศาลรัฐธรรมนูญของบัลแกเรีย ในบริบทการพิทักษ์รัฐธรรนูญ และการวินิจฉัยในข้อขัดแย้งทางการเมือง กับการบังคับใช้กฎหมายมีประเด็นน่าศึกษา กล่าวคือ ก่อนหน้านี้ในปี 1994 รัฐสภาบัลแกเรีย ได้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐบัญญัติตุลาการ (the Judiciary Act 1994) กำหนดคุณสมบัติการเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกาสูงขึ้นกว่าเดิม คือ ต้องประกอบวิชาชีพกฎหมายมาแล้วไม่น้อยกว่า 15 ปี และเคยดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอย่างน้อย 5 ปี

สาเหตุเพราะการเมืองเสียงข้างมากในรัฐสภา มุ่งหมายที่จะให้นาย Ivan Grigorov ประธานศาลฎีกาในขณะนั้น พ้นจากตำแหน่ง เพราะก่อนได้รับแต่งตั้ง นาย Grigorov ไม่เคยดำรงตำแหน่งผู้พิพากษามาก่อน

การแก้ไขกฎหมายดังกล่าว สืบเนื่องจากการที่ นาย Grigorov ได้แสดงตนอย่างเปิดเผยว่า สนับสนุนนโยบายของพรรคฝ่ายค้าน ต่อมา เมื่อกฎหมายดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ประธานาธิบดีบัลกาเรีย จึงได้เสนอข้อพิพาทไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

                     ศาล รธน.“โรมาเนีย-บัลแกเรีย” ยึดนิติธรรมวินิจฉัยข้อขัดแย้ง

ศาลรัฐธรรมนูญบัลกาเรีย วินิจฉัยว่า มาตรา 8 และมาตรา 11 ในบทเฉพาะกาลของรัฐบัญญัติตุลาการ (the Transitional and Concluding Provisions of the Judiciary Act) ให้นำคุณสมบัติที่กำหนดขึ้นใหม่ มาใช้กับผู้พิพากษาที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะนั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญ  เนื่องจากบทเฉพาะกาลดังกล่าวเป็นบทบังคับให้ผู้พิพากษา ซึ่งมีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามกฎหมายใหม่ ต้องพ้นจากตำแหน่งไปในทันที

“ด้วยเหตุนี้ คุณสมบัติที่กำหนดขึ้นใหม่ จึงไม่อาจนำมาใช้เพื่อให้ผู้พิพากษาที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่กฎหมายใช้บังคับ พ้นจากตำแหน่งได้” อ้างอิงจากข้อเขียนของ รศ.ดร.ณรงค์เดช สรุโฆษิต คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญบัลกาเรียที่ 8/94 วันที่ 15/9/1994

สะท้อนภาพการทำงานว่า ศาลรัฐธรรมนูญของบัลกาเรีย มีความเป็นอิสระจากอำนาจทางการเมือง และเป็นมาตรฐานการบังคับใช้กฎหมายเหมือนกับอารยะประเทศประชาธิปไตย

                              ศาล รธน.“โรมาเนีย-บัลแกเรีย” ยึดนิติธรรมวินิจฉัยข้อขัดแย้ง

จากการศึกษาดูงานในโรมมาเนีย-บัลกาเรีย พบว่า ยึดแบบมาจากระบบศาลรัฐธรรมนูญในยุโรป เกิดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศออสเตรีย ตรงกับ ค.ศ.1925 ตามแนวคิดของนักนิติปรัชญา Hans Kelsen เป็นรูปแบบศาลพิเศษ ในหลายประเทศทั่วโลก เช่น เยอรมัน อิตาลี รัสเซีย ยูเครน เกาหลีใต้ มองโกเลีย อินโดนีเซีย จอร์เจีย ชิลี ไทย รวมถึง โรมาเนีย และ บัลกาเรีย  

หากเปรียบเทียบระหว่างศาลรัฐธรรมนูญโรมาเนีย กับ บัลกาเรียแล้ว จะพบว่า มีลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่มีต่างกันบ้าง กล่าวคือ ศาลรัฐธรรมนูญโรมาเนียเกิดขึ้นในปี 1992 ศาลรัฐธรรมนูญบัลกาเรีย เกิดขึ้นในปี 1991 ขณะที่ประเทศไทย เกิดศาลรัฐธรรมนูญขึ้นในปี 1997

ศาลรัฐธรรมนูญโรมาเนีย มีตุลาการ 9 คน คัดสรรโดยประธานาธิบดี 3 คน คัดสรรโดยวุฒิสภา 3 คน คัดสรรโดยสภาผู้แทนฯ 3 คน

ส่วนศาลรัฐธรรมนูญบัลกาเรีย มีตุลาการ 12 คน คัดสรรโดยประธานาธิบดี 4 คน คัดสรรโดยสภาแห่งชาติ 4 คน และคัดสรรมาจากศาลสูงสุด หรือ ศาลปกครองสูงสุด 4 คน

อำนาจสำคัญของศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากวินิจฉัยในข้อขัดแย้งทางกฎหมายแล้ว ยังมีอำนาจในการถอดถอนประธานาธิบดี โดยการร้องขอจากรัฐสภา ซึ่งมีลักษณะเดียวกันกับศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ 

                           ศาล รธน.“โรมาเนีย-บัลแกเรีย” ยึดนิติธรรมวินิจฉัยข้อขัดแย้ง

แต่ที่น่าคิดคือ ศาลรัฐธรรมนูญโรมาเนีย และ บัลกาเรีย ยังไม่เคยถอดถอนเลย ต่างจากศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ ซึ่งเคยถอดถอนประธานาธิบดีแล้วอย่างน้อย 2 ครั้ง  

ในการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญบัลกาเรีย ซึ่งมีตุลาการ 12 คน หากคะแนนเสียงเท่ากัน  6:6 ให้ถือว่าคำร้องต้องตกไป

ที่น่าสนใจคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญบัลกาเรีย ที่ 8/ 2005 เกี่ยวกับอำนาจของรัฐสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ศาลเห็นว่า การแก้ไขรูปแบบของรัฐ หรือ รูปแบบการปกครอง จะกระทำมิได้ตามหลัก Eternity Clause ซึ่งเป็นหลักสากลโดยสอดคล้องกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญของไทยไม่ผิดเพี้ยน