เพชรบุรี ตัดชุดลาย "สุวรรณวัชร์ - ต้นตาลโตนด วัวลาน" แจกทั้งคณะ ครม.สัญจร 

12 พ.ค. 2567 | 10:28 น.
อัปเดตล่าสุด :12 พ.ค. 2567 | 10:28 น.

เพชรบุรี ตัดชุดลาย "สุวรรณวัชร์ - ต้นตาลโตนด วัวลาน" แจกทั้งคณะ ครม.สัญจร โชว์อัตลักษณ์ของจังหวัด เผยประวัติลายผ้าสุวรรณวัชร์ประยุกต์มาจากลายกรวยเชิงที่ลายเสาในพระอุโบสถวัดใหญ่สุวรรณารามที่มีเสาทั้งหมด 5 คู่

นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้โชว์ เสื้อที่ทางจังหวัดเพชรบุรี เตรียมมอบให้ นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรี ที่มาลงพื้นที่ และ เตรียมประชุม ครม.สัญจร ที่ จ.เพชรบุรี ได้สวมใส่ โดยในวันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคมนี้ นายกฯและ รัฐมนตรี จะได้สวมใส่ เสื้อลาย ตาลโตนด ระหว่างที่ชมการสาธิตวัวลาน

สำหรับเสื้อ ถูกออกแบบจากแรงบันดาลใจ มีลวดลาย ต้นตาลโตนด อัตลักษณ์ที่โดดเด่นของจังหวัดเพชรบุรีและยังมีขนมหม้อแกง รวมถึงศิลปะและวัฒนธรรม ลายบนเสาไม้ที่ศาลาการเปรียญวัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหาร ผสานกับกีฬาโบราณ พื้นบ้าน วัวลาน นำมาออกแบบลวดลายเพื่อให้ดูเก๋ไก๋ เป็นสากลเหมาะสำหรับสวมใส่ผู้ชายหรือผู้หญิง 

ขณะที่การประชุม ครม. ในวันอังคารที่ 14 พฤษภาคม นายกฯ และ คณะรัฐมนตรี จะได้สวมใส่เสื้อ ผ้าลายสุวรรณวัชร์ ผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งนำมาตัดเย็บเป็นเสื้อ มอบเป็นของที่ระลึกให้ ครม. โดย ประวัติความเป็นมาลายผ้าสุวรรณวัชร์ เป็นลายที่ประยุกต์มาจากลายกรวยเชิงที่ลายเสาในพระอุโบสถวัดใหญ่สุวรรณารามซึ่งจะมีเสาอยู่ทั้งหมด 5 คู่ เสาทุกต้นจะมีลายกรวยเชิงเหมือนกันอยู่ด้านล่าง นักวิจัยเห็นพ้องต้องกันว่าลายกรวยเชิงเป็นลายที่สามารถนำมาไว้บนผืนผ้าได้ และมีความเหมาะสมสำหรับการสวมใส่ 
 

ส่วนความหมายของลายผ้าสุวรรณวัชร์ คำว่า “สุวรรณ” หมายถึงวัดใหญ่สุวรรณาราม ซึ่งเป็นวัดที่มีศิลปกรรมที่สมบูรณ์ ของจังหวัดเพชรบุรี ส่วนคำว่า “วัชร์” แปลว่า เพชร หมายถึง จังหวัดเพชรบุรี ดังนั้นคำว่า “สุวรรณวัชร์”จึงหมายถึง ผ้าจากลายวัดใหญ่สุวรรณาราม และเป็นผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัดเพชรบุรี

เพชรบุรี ตัดชุดลาย "สุวรรณวัชร์ - ต้นตาลโตนด วัวลาน" แจกทั้งคณะ ครม.สัญจร 

นางรัดเกล้า ระบุว่า แนวคิดการคัดเลือกลายผ้าสุวรรณวัชร์ เป็นลายผ้าที่ผ่านการวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี โดยการคิดค้นลายผ้าซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของเพชรบุรีที่มาจากศิลปกรรมของวัดใหญ่สุวรรณาราม และเป็นตัวแทนของคนเพชรบุรีเป็นวัดที่มีสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยามากมายและชัดเจน มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีจึงได้ทำการวิจัยลายที่ปรากฏที่เสาพระอุโบสถวัดใหญ่สุวรรณาราม 

โดยมีชื่อลายว่า “เพชรราชภัฏ” คำว่า ราชภัฏ แปลว่าคนของพระราชา เพชร มาจากลายที่มาจากวัดใหญ่สุวรรณาราม คนเพชรบุรีทั้งหมดถือว่าเป็นเพชรคำว่า “เพชรราชภัฏ” หมายถึง ผ้าของคนของพระราชาและจากการประชุมเพื่อพิจารณาและรับรองลายผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัดหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2565 ที่ประชุมมีมติรับรองให้ใช้เป็นลายผ้าอัตลักษณ์ของจังหวัดเพชรบุรี 

โดยเห็นชอบให้มีการประยุกต์จากลายกรวยเชิงที่ลายเสาในพระอุโบสถวัดใหญ่สุวรรณาราม ซึ่งจะมีเสาอยู่ทั้งหมด 5 คู่เสาทุกต้นจะมีลายกรวยเชิงเหมือนกันอยู่ด้านล่าง และสามารถนำมาไว้บนผืนผ้าได้ มีความเหมาะสมสำหรับการสวมใส่ โดยใช้ชื่อลายว่า “สุวรรณวัชร์”

ขณะที่การถอดแบบลายผ้า ใช้เทคนิคการถอดแบบ โดยเลือกโครงร่างจากลายเสาในพระอุโบสถวัดใหญ่สุวรรณาราม คู่ที่ 2 นับจากประตูทางเข้า ลวดลายเทพพนมครึ่งองค์ในทรงพุ่ม ก้านแย่ง ปิดหัวท้ายด้วยกรวยเชิง ผู้ถอดแบบลายผ้าที่มีประสบการณ์และมีความชำนาญเฉพาะทางการถอดแบบลาย ใช้วิธีการร่างเส้นลงในกระดาษกราฟให้เป็นรูป ตามภาพที่ปรากฏตามโครงร่างจากลายเสาในพระอุโบสถที่เลือกไว้ 

เพชรบุรี ตัดชุดลาย "สุวรรณวัชร์ - ต้นตาลโตนด วัวลาน" แจกทั้งคณะ ครม.สัญจร 

จากนั้นจึงนำไปเป็นแบบในการทอผ้าและการพิมพ์ลาย รวมถึงเทคนิคในการผลิตด้วยวิธีอื่น ๆ ส่วนวิธีการผลิต/เทคนิคการผลิต ใช้เทคนิคการพิมพ์ลายแบบ Digital Print ชนิดของผ้าเรียกว่า เรยอน สีของผ้าคือ สีเหลือง 

สำหรับผู้ผู้คิดค้นและออกแบบลายผ้า คือ 

  • รศ.ดร.กาญจนา บุญส่ง คณบดีคณะครุศาสตร์/หัวหน้าศูนย์วิจัยสิงขร-มะริดศึกษา สถาบันวิจัย และส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี
  • ดร.เอื้อมพร โตภาณุรักษ์กุล อาจารย์คณะครุศาสตร์/เลขานุการศูนย์วิจัยสิงขร-มะริดศึกษา สถาบันวิจัยและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี
  • นายเกรียงศักดิ์ กล่อมสกุล กลุ่มยายกับตา และนักวิจัยของศูนย์วิจัยสิงขร-มะริดศึกษา สถาบันวิจัย และส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี
  • นายยงยุทธ เกษมส่งสุข ช่างออกแบบลายลั่นทมขาว และนักวิจัยของศูนย์วิจัยสิงขร-มะริดศึกษา สถาบันวิจัยและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี
  • นางสาวนลินรัตน์ คำปุ้ยธนันธร ผู้ประกอบการกลุ่มทอผ้าไทยพวน อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี