สภาฯเห็นชอบเพิ่ม"งบกลาง " เป็น 6.14 แสนล้าน "มนพร"ปัดตีเช็คเปล่า

20 มี.ค. 2567 | 15:46 น.
อัปเดตล่าสุด :20 มี.ค. 2567 | 15:59 น.

ที่ประชุมสภาฯพิจารณางบประมาณฯปี 2567 วาระ2 มีมติเพิ่ม"งบกลาง"เป็น 6.14 แสนล้าน ด้าน "มนพร" แจงสภารัฐบาลบริหารงบอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ ปัดตีเช็คเปล่า

วันที่ 20 มี.ค.2024  การประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท วาระ 2 - 3 เรียงตามรายมาตรา ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 พิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะ กมธ.ฯ กล่าวสรุปรายงานของคณะ กมธ.ว่า ในชั้นกมธ. ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณารายละเอียดงบประมาณรายจ่ายฯ จำนวน 8 คณะ ได้ปรับลดงบประมาณลง 9,204 ล้านบาท โดยได้พิจารณาให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล และแผนยุทธศาสตร์ชาติ ตลอดจนเป้าหมายและผลการดำเนินงานจริง ความคุ้มค่า ความพร้อม และศักยภาพในการใช้จ่าย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  การอภิปรายงบประมาณฯวันแรก ความน่าสนใจอยู่ที่มาตรา 6 งบกลาง ฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกตว่า มีการโอนงบไปอยู่ในงบกลางกว่า 8 พันล้านบาทแต่มีการใช้ผิดวัตถุประสงค์ 

โดยน.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ส่วนตัวตัดลดงบในภาพรวมลง 3 หมื่นล้านบาท เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลเศรษฐาเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้าและไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งไม่ได้เกิดจากการที่ พ.ร.บ.งบประมาณ 2567 ออกล่าช้า เพราะจากงบจำนวน 3.48 ล้านล้านบาท สำนักงบประมาณได้อนุมัติให้รัฐบาลใช้ไปพลางก่อนแล้วกว่า 1.8 ล้านล้านบาท แต่ก็ยังเกิดการเบิกจ่ายล่าช้าเพราะรัฐบาลขาดประสิทธิภาพในการเร่งรัดการเบิกจ่าย

สภาฯเห็นชอบเพิ่ม\"งบกลาง \" เป็น 6.14 แสนล้าน  \"มนพร\"ปัดตีเช็คเปล่า

จากงบประมาณที่ได้รับอนุมัติให้ใช้ไปพลางก่อน 1.8 ล้านล้านบาท ข้อมูลจนถึงวันที่ 15 มีนาคม 2567 รัฐบาลเบิกจ่ายรายจ่ายประจำไปแค่ร้อยละ 79 เท่านั้น ส่วนรายจ่ายลงทุนที่จัดสรรไว้ 1.5 แสนล้านบาทก็มีการเบิกจ่ายไปเพียง 8.5 หมื่นล้านบาท หรือร้อยละ 55 เท่านั้น รวมทั้งสองส่วนรัฐบาลเบิกจ่ายไปแค่ร้อยละ 76.9

ดังนั้น ตนจึงคิดว่าถ้ารัฐบาลจะขาดประสิทธิภาพในการเบิกจ่ายงบประมาณขนาดนี้ ก็ไม่สมควรที่จะนำงบประมาณไปใช้ทั้ง 3.48 ล้านล้านบาท และเห็นควรให้ตัดลดลง 3 หมื่นล้านบาท
 

ขณะที่นางมนพร เจริญศรี รมช. คมนาคม ในฐานะกมธ.งบประมาณฯชี้แจงว่า งบกลางในส่วนของเงินสำรองจ่าย มีการเบิกจ่ายต่ำเนื่องจากสำนักงบประมาณมีการพิจารณาจากความสามารถในการใช้จ่ายตามระเบียบ รวมทั้งแผนการใช้จ่าย ซึ่งการของบประมาณในส่วนของงบกลางส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในช่วงจะสิ้นปี

อาทิ ในส่วนของงบกลางในรายการเบี้ยหวัดบำเน็จบำบาญ และรายการค่าใช่จ่ายค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ ลูกจ้างและพนักงานของรัฐคาดว่าปี2567คงจะไม่เพียงพอการเบิกจ่ายไปจนถึงสิ้นปีงบประมาณ โดยการตั้งงบประมาณในรอบ1ปีงบประมาณเท่านั้น การตั้งงบประมาณจึงเป็นไปตามสมมุติฐานที่คาดการณ์ว่าภาครัฐจะเบิกจ่าย

อย่างไรก็ตามการเบิกจ่ายทั้งหมดจะเป็นไปตามสิทธิการขอใช้สิทธิในการใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นตามความจริง ซึ่งเป็นเป็นระดับจุลภาคที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้จึงทำให้มีบางรายการที่มีความคลาดเคลื่อนเช่นกัน 

นางมนพร เจริญศรี รมช. คมนาคม

ทั้งนี้กรณีมีการตั้งข้อสังเกตว่ามีการใช้งบกลางที่ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์นั้น การจัดสรรงบเป็นการสำรองจ่ายใช้ในกรณีฉุกเฉินเป็นเงินกว่า 99.5 ล้านบาทคิดเป็นร้อยละ2.86 แต่คาดการณ์ว่างบประมาณที่ตั้งไว้ จะเป็นงบประมาณที่มีความจำเป็นที่จะต้องจัดสรร อาทิ กรณีการป้องกันและบรรเทาสถานการณ์ที่มีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนต่อความมั่นคงของรัฐ และความจำเป็นต่อการบรรเทาผลกระทบจากภัยพิบัติร้ายแรง เป็นต้น 

ส่วนกรณีที่ถูกมองว่างบกลางเป็นการตีเช็คเปล่านั้น ชี้แจงว่า งบกลางคืองบประมาณร่ายจ่ายประจำปีที่ถูกจัดสรรให้หน่วยงานเพิ่มเติมจากงบประมาณปกติที่ไม่สามารถจัดสรรงบประมาณได้ ซึ่งโครงการต่างๆได้ผ่านความเห็นชอบจากครม.แล้วจึงเสนอมายังกมธ.งบประมาณฯซึ่งมาจากทุกพรรคการเมือง ดังนั้นงบประมาณใดๆก็ตามนายกรัฐมนตรีรวมถึงรัฐบาลจะมีคำตอบและคำชี้แจงจากรัฐบาลทุกโครงการ พร้อมยืนยันว่า รัฐบาลบริหารงบประมาณอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้  

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมมีมติ 444 ต่อ 0 เห็นด้วยควรมีการแก้ไขมาตราดังกล่าว โดยมีผู้งดออกเสียง 2 เสียง

จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติอีกครั้งว่าจะมีการแก้ไขตามกมธ.งบฯเสียงข้างมากที่ให้เพิ่มงบกลางเป็น 6.14 แสนล้านบาท จากเดิม6.06 แสนล้านบาท  ด้วยเสียง 279ต่อ158   เห็นด้วยตามที่กมธ.เสียงข้างมากแก้ไข โดยมีผู้งดออกเสียง1 เสียง