เทียบ 4 คดีนักการเมืองถือหุ้นสื่อ พิธา ร่วง-รอด

24 ม.ค. 2567 | 08:43 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ม.ค. 2567 | 09:55 น.

24 มกราคม 2567 ถนนทุกสายมุ่งสู่ศาลรัฐธรรมนูญ นัดชี้ชะตาพิธา-ฟังคดีหุ้นไอทีวี เปิดข้อต่อสู้ ลุ้น ชนะ คำสั่งศาลแพ่ง - เทียบ 4 คดี นักการเมืองถือหุ้นสื่อ มีทั้งร่วง-รอด

KEY

POINTS

  • 24 มกราคม 2567 ถนนทุกสายมุ่งสู่ศาลรัฐธรรมนูญ นัดชี้ชะตาพิธา-ฟังคำตัดสินคดีหุ้นไอทีวี
  • เปิดข้อต่อสู้ พิธา ถือหุ้นไอทีวีในฐานะ "ผู้จัดการมรดก" ตามคำสั่งศาลแพ่ง ลุ้น ชนะ
  • เทียบ 4 คดีดัง นักการเมืองถือหุ้นสื่อ มีทั้งร่วง พ้นสภาพความเป็น สส. - ตายเดี่ยว-รอดยกพวง  

24 มกราคม 2567 ถนนทุกสายจะมุ่งตรงไปที่ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำพิพากษาคดีถือหุ้นไอทีวี จากกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งคำร้องให้วินิจฉัยว่านายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ อยู่ในวันที่สมัครรับเลือกตั้ง สส.บัญชีรายชื่อ เป็นเหตุให้สมาชิกภาพ สส.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่

ข้อต่อสู้ของนายพิธาที่จะหักล้าง 1.ถือหุ้นในฐานะ "ผู้จัดการมรดก" ตามคำสั่งศาลแพ่งกรุงเทพใต้ คดีหมายเลขแดงที่ 1860/2550 ประกอบคำชี้แจงต่อ ป.ป.ช.เมื่อครั้งยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน โดยระบุว่า 

"ได้รับมอบหมายจากทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนายพงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้ตาย ให้รับโอนหลักทรัพย์หุ่นนี้อันเป็นกองมรดกถือครองไว้แทนทายาทอื่น"

ทว่า "ไม้เด็ด" ของพิธาที่จะงัดออกมา คือ หลักฐานที่จะพิสูจน์ได้ว่า บ.ไอทีวี ไม่ได้ทำสื่อแล้ว ตามคำสั่งศาลปกครอง และการถือหุ้น 42,000 หุ้น ไม่มีอำนาจครอบงำสื่อให้คุณ-ให้โทษในการเลือกตั้ง 

ที่ผ่านมาคดีนักการเมือง "ถือหุ้นสื่อ" มี 4 คดีใหญ่ ที่ผลคำตัดสินของศาลตัดสินมีทั้ง "บวก" มีทั้ง "ลบ"

คดีที่ศาลอ่านคำพิพากษา "ไม่เป็นคุณ" นักการเมืองจนถูก "ถอนชื่อ" ออกจากการเป็นผู้สมัคร สส. และ พ้นสภาพความเป็น สส. มี 2 คดี 

ถอดชื่อออกจากผุ้สมัคร สส.

“คดีแรก” คำวินิจฉัยศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ที่ 1706/2562 กรณีผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดสกลนคร ร้องให้ถอนชื่อนายภูเบศวร์ เห็นหลอด ออกจากเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง สส.สกลนคร เขต 2 พรรคอนาคตใหม่ เป็นเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด มาร์ส เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ และออกหนังสือพิมพ์ 

ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งวินิจฉัยว่า ว่า  แม้นายภูเบศวร์ อ้างว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด มาร์ส เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส ซึ่งมีวัตถุประสงค์ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ และออกหนังสือพิมพ์แต่ไม่ได้ประกอบกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ และออกหนังสือพิมพ์ จึงฟังไม่ขึ้น 

"แม้ต่อมาวันที่ 6 มีนาคม 2562 ผู้คัดค้านจดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัด มาร์ส เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส แล้ว แต่เป็นระยะเวลาหลังจากผู้คัดค้านยื่นใบสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งแล้ว
ผู้คัดค้านยังเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เป็นเจ้าของ หรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน"

นายภูเบศวร์จึงเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 98(3) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 มาตรา 42(3)  

ธนาธรถือหุ้นสื่อ บ.วี-ลัค มีเดีย  

ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 14/2562 ให้สมาชิกภาพ สส.ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ  มาตรา 101  (6)  ประกอบมาตรา 98  (3)  นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง คือ วันที่  23 พฤษภาคม 2562

คดีดังกล่าวสืบเนื่องจาก กกต.ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพ สส.ของนายธนาธร สิ้นสุดลงตามรัฐรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่

โดยปรากฏหลักฐานว่านายธนาธรถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดียว จำกัด ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชนใด ๆ จำนวน 675,000 หุ้น ตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2558 เรื่อยมาจนกระทั่งเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562 ก่อนการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 นายธนาธรจึงได้โอนหุ้นให้แก่นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดา นายธนาธรจึงยังคงเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ในวันรับสมัครเลือกตั้ง สส.บัญชีรายชื่อเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562  

นายธนาธรชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ว่า บริษัท  วี-ลัค  มีเดีย จำกัด ไม่ได้ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ  โดยได้หยุดกิจการ โดยเลิกผลิตนิตยสาร และเลิกจ้างพนักงานงานทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 และนายธนาธรไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทดังกล่าวเพราะได้โอนหุ้นทั้งหมดให้แก่นางสมพร ตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2562 แล้ว

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยข้อโต้แย้งของนายธนาธรที่ว่า  บริษัท  วี-ลัค มีเดีย จำกัด ไม่ได้ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงปรากฏจากเอกสารในสำนวนว่า  บริษัท  วี-ลัค มีเดีย จำกัด  ซึ่งเดิมชื่อ บริษัท  โซลิด  มีเดีย  (ประเทศไทย) จำกัด มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการประกอบกิจการหนังสือพิมพ์  รวมถึงกิจการโฆษณาด้วยสื่อกิจการโฆษณาทุกอย่างและมีรายได้จากการให้บริการโฆษณา 

“ประกอบกับตามพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์  พ.ศ.2550 มาตรา 11 แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าบริษัท  วี-ลัค  มีเดีย จำกัด ได้แจ้งยกเลิกเป็นผู้พิมพ์  ผู้โฆษณา  บรรณาธิการหรือเจ้าของกิจการตามมาตรา 18 ก่อนวันที่  6  กุมภาพันธ์ 2562 (วันที่สมัคร สส.บัญชีรายชื่อ) แม้ผู้ถูกร้องจะอ้างว่าบริษัท  วี-ลัค  มีเดีย จำกัด  ได้หยุดกิจการไปแล้วตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 แต่บริษัทดังกล่าวก็ยังสามารถประกอบกิจการเมื่อใดก็ได้ตราบที่ยังมิได้จดทะเบียนเลิกบริษัท และแจ้งยกเลิกเป็นผู้พิมพ์  ผู้โฆษณา  บรรณาธิการหรือเจ้าของกิจการ  ดังนั้น  บริษัท  วี-ลัค  มีเดีย จำกัด  จึงยังคงเป็นบริษัทที่ประกอบกิจการสื่อมวลชนอยู่ในวันดังกล่าว”

สำหรับข้อโต้แย้งของนายธนาธรที่ว่า ในวันสมัครรับเลือกตั้ง สส.บัญชีรายชื่อ เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562  มิได้เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท  วี-ลัค มีเดีย จำกัด เพราะได้โอนหุ้นทั้งหมดให้แก่นางสมพรไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2562 นั้น

เห็นว่าทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือหุ้น บริษัท  วี-ลัค  มีเดีย จำกัด  ได้มีหนังสือส่งสำเนา บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ  บอจ. 5) ต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครโดยเร็วเป็นปกติทุกครั้ง แต่การโอนหุ้นในวันดังกล่าว กลับไม่ปรากฏการส่งสำเนาแบบ บอจ.5 ที่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด ทั้งที่การส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น เป็นหลักฐานที่สำคัญหากผู้ถูกร้อง มีความประสงค์เข้าสู่การเมือง จึงเป็นการผิดปกติวิสัยที่เคยปฏิบัติมา

32 สส.พรรครัฐบาล รอดยกพวง 

สำหรับคดีที่ศาลพิพากษา "ยกฟ้อง" มี 2 คดี โดยเฉพาะคดีที่พรรคอนาคตใหม่ ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย สส.ฝ่ายรัฐบาล "ยกพวง"

คดีที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล และนายชำนาญ จันทร์เรืองสส.พรรคอนาคตใหม่ และคณะ ยื่นคำร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรว่า สส.จำนวน 41 คน เข้าข่ายขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) เป็นเจ้าของหรือถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ แต่มีคำสั่งไม่รับคำร้อง 9 คน 

เป็นคดีที่มี “ผู้ถูกร้อง” มากที่สุด จำนวน 32 คน ว่า สมาชิกภาพ สส. สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) เป็นเจ้าของหรือถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ หรือไม่ 

อย่างไรก็ตามเหลือผู้ถูกร้องเพียง 29 คน เนื่องจาก 1 คนต้องคำพิพากษาจำคุก และ 2 คน ลาออก ศาลรัฐธรรมนูญจึง “จำหน่ายคดี” 

คดีดังกล่าวหลักการพิจารณาคดี 2 ประการ คือ วันสมัครรับเลือกตั้ง สส.กิจการของผู้ถูกร้อง จำนวน 29 ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ หรือไม่ และหากกิจการของผู้ถูกร้องผู้ใดประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ ผู้ถูกร้องเป็นเจ้าของหรือถือหุ้นในกิจการดังกล่าวหรือไม่ แต่สุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญ “ยกคำร้อง” ทั้ง 32 คน 

พิธา ลุ้น ชนะ เทียบคดีชาญชัย 

คดีที่สองที่ "รอด" ศาลฎีกามีคำสั่งให้ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่ 2 นครนายกเพิ่มชื่อนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.เขต 2 นครนายก พรรคประชาธิปัตย์  ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ซึ่งศาลฏีกาวินิจฉัยว่า นายชาญชัยมีหุ้นในบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) จำนวนเพียง 200 หุ้น ตามราคาตลาด ณ สิ้นปี 2565 เป็นเงินเพียง 39,000 บาท

“การที่ผู้ร้องเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทแอดวานซ์ฯ จำนวนเพียง 200 หุ้นดังกล่าว ถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก ผู้ร้องย่อมไม่มีอำนาจสั่งการให้บริษัทแอดวานซ์ฯ ดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ร้องและพรรคการเมืองของผู้ร้อง หรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครและพรรคการเมืองอื่น เพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งของผู้ร้องหรือพรรคการเมืองของผู้ร้องได้ เนื่องจากผู้ร้องมิใช่เจ้าของหรือมีจำนวนหุ้นในจำนวนมากพอที่จะสามารถกระทำเช่นนั้นได้”คำวินิจฉัยระบุ

คำพิพากษาศาลฏีกาคดีของนายชาญชัยอาจจะทำให้ "พิธา" ใช้เป็น "บรรทัดฐาน" จน "ชนะ" คดีถือหุ้นไอทีวีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับ 9 องค์คณะตุลาการว่าจะตีความตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ หรือ ตีความตามตัวอักษรอย่างเคร่งครัด