"สรรเพชญ"ย้อนเพื่อไทย “ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง” เพิ่มงบกลาง 16,000 ล้านบาท

02 ม.ค. 2567 | 15:42 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ม.ค. 2567 | 15:48 น.

“สรรเพชญ” ส.ส.สงขลา ย้อนเพื่อไทย “ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง” เพิ่มงบกลางกว่า 16,000 ล้านบาท ถามแรง! ตีเช็คเปล่าให้นายกเหมือนที่เคยอภิปรายไว้หรือไม่

วันนี้ (2 ม.ค.67) นายสรรเพชญ บุญญามณี ส.ส.สงขลา ในฐานะคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการจัดทำงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่จะมีการพิจารณาวาระแรก ขั้นรับหลักการ ในสภาผู้แทนราษฎร ระหว่างวันที่ 3 - 5 มกราคม 2567 ว่า การพิจารณางบประมาณในครั้งนี้ มีเวลาน้อยมากเนื่องจากงบประมาณปี 2567 ต้องใช้งบประมาณของปี 2566 ไปพลางก่อน

สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีเวลาในการพิจารณางบประมาณ ภายใน 105 วัน ใน 3 วาระ จึงต้องเร่งศึกษาในประเด็นต่าง ๆ ที่อยู่ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 เพื่อให้งบประมาณที่สภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณาแล้วอนุมัตินั้น เป็นงบประมาณที่จะได้ใช้อย่างคุ้มค่า โปร่งใสและตรวจสอบได้เพื่อประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด

การจัดสรรงบประมาณในส่วนของ “งบกลาง” นายสรรเพชญ กล่าวว่า การจัดสรรรายจ่ายงบกลาง “สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง“ ซึ่งนับตั้งแต่ ปีงบประมาณ 2563 - 2567 มีการจัดสรรงบกลางไปแล้ว ทั้งสิ้นกว่า 2.9 ล้านล้านบาท เฉลี่ย 5.8 แสนล้านบาทต่อปี 

โดยในปีงบประมาณ 2567 มีการจัดสรรงบกลางกว่า 6 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2566 จำนวน 16,295 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณที่มากที่สุดในกลุ่มประเภทรายจ่ายที่ได้รับการจัดสรร ส่วนใหญ่เป็นงบประมาณรายจ่ายเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรภาครัฐ ถึงร้อยละ 82.9 และเป็นงบประมาณเพื่อสำรองจ่ายในกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 98,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 6,100 ล้านบาท จากปี 2566 

นายสรรเพชญ ได้ตั้งข้อสังเกตงบประมาณในส่วนนี้ว่า เป็นการตีเช็คเปล่าให้นายกฯ หรือไม่ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า “งบกลาง” เป็นงบที่ตรวจสอบยากที่สุด และเมื่อย้อนไปฟังคำอภิปรายของ ส.ส. และ ครม. ซึ่งหลายท่านวันนั้นท่านนั่งทำหน้าที่ฝ่ายค้านอยู่ตรงนี้ ท่านวิจารณ์รัฐบาลชุดที่ผ่านมาว่าใช้งบกลางเป็นจำนวนมาก และของบกลางเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี 

แต่มาวันนี้ท่านกลับทำในสิ่งที่ตนได้พูดไว้ในอดีต และตั้งข้อสังเกตว่าการกระทำแบบนี้เข้าข่าย “ว่าแต่เขา อิเหนาเป็นเอง” หรือไม่  ซึ่งตนในฐานะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ จะติดตามการใช้จ่ายงบประมาณอย่างใกล้ชิดเพื่อให้การใช้งบประมาณมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากที่สุด เพื่อประโยชน์สูงสุดของพี่น้องประชาชน