เปิดผลรับฟังความเห็น 72.1% ค้านกฎหมายก้าวไกล "ยุบกอ.รมน."

29 ต.ค. 2566 | 17:59 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ต.ค. 2566 | 18:47 น.

เปิดผลรับฟังความเห็น ประชาชนส่วนใหญ่กว่า 72.1% ค้านกฎหมายยุบกอ.รมน. หรือ ร่างพ.ร.บ.ยกเลิก พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 พ.ศ. .... ที่รอมฎอน ปันจอร์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กับคณะเป็นผู้เสนอ

รายงานข่าวจากรัฐสภา เปิดเผยว่า หลังจากรัฐสภาเปิดรับฟังความร่างพระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 พ.ศ. .... เพื่อยุบกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ตามที่นายรอมฎอน ปันจอร์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กับคณะเป็นผู้เสนอ ตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา ผ่านเว็บไซต์รัฐสภา

 

ล่าสุด ณ วันที่ 29 ตุลาคม 2566 เวลา 17.20 น. มีผู้เข้าไปแสดงความคิดเห็นแล้ว 39,445 คน ปรากฎว่าส่วนใหญ่กว่า 70% ไม่เห็นด้วยกับกับร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้  โดยเห็นด้วย 27.26% ไม่เห็นด้วย 72.12% งดออกเสียง 0.62%
 

สำหรับสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 พ.ศ. .... คือ เพื่อยกเลิกกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงภายใน โดยยกเลิกพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 51/2560 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2560 

 

เนื่องจากเห็นว่า กฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงภายใน ให้อำนาจข้าราชการทหารมีอำนาจมาก ในการดำเนินงานเรื่องความมั่นคงภายในประเทศผ่านกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ที่มีลักษณะความสลับซับซ้อนภายในองค์กร และยังเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ทับซ้อนกับหน่วยงานอื่น ทำให้สิ้นเปลืองกำลังคน งบประมาณ จึงไม่มีความเหมาะสมที่ให้มีหน่วยงานนี้ในบริบทสังคมปัจจุบันอีกต่อไป เห็นสมควรยุบกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
 

ขณะที่ประเด็นรับฟังความคิดเห็น ประกอบด้วย 4 หัวข้อ 


1. ท่านเห็นด้วยกับการยุบกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) หรือไม่ อย่างไร
2. ท่านเห็นด้วยกับการโอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน งบประมาณ หนี้ สิทธิ ข้าราชการพลเรือนที่ประจำกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พนักงานราชการ พนักงาน ลูกจ้าง และอัตรากำลังของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ตามกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรไปเป็นของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย  หรือไม่ อย่างไร
3. ปัจจุบันการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายใน พ.ศ. ๒๕๕๑ ท่านคิดว่ามีปัญหาหรือไม่อย่างไร และการเสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เพื่อยกเลิกพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายใน พ.ศ. ๒๕๕๑ และยุบกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) จะช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้หรือไม่อย่างไร
4. ข้อเสนอแนะอื่น ๆ