“แพทองธาร ชินวัตร” ไขข้อสงสัยเพื่อไทยปักหมุดซอฟต์พาวเวอร์

14 ก.ย. 2566 | 20:40 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.ย. 2566 | 20:48 น.

แพทองธาร ชินวัตร ไขข้อสงสัยทำไมเพื่อไทยปักหมุดซอฟต์พาวเวอร์ ลุยจัดตั้งองค์กรพัฒนาอุตสาหกรรมโมเดลเดียวกับ KOCCA ในเกาหลีใต้ หรือ TAICCA ไต้หวัน

หลังจากการประชุมครม.เมื่อวานที่ผ่านมา มีการประกาศตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ว่าด้วยซอฟต์พาวเวอร์ โดยมี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และมี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นรองประธาน  นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ เป็นที่ปรึกษา และ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกฯ เป็นผู้กำกับดูแลดำเนินการ

 

ล่าสุดในช่วงเย็นของวันนี้ (วันที่ 14 ก.ย.66 ) “อุ๊งอิ๊ง” หรือ น.ส.แพทองธาร ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Ing Shinawatra" เกี่ยวกับนโยบายซอร์ฟพาวเวอร์ โดยเนื้อหาข้อความทั้งหมดระบุว่า ตั้งแต่ปักหมุดนโยบายซอฟต์พาวเวอร์แล้ว ที่เพื่อไทยถูกตั้งคำถามว่า ทำไมเราถึงใช้คำว่า ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ เราเข้าใจคำนี้จริงหรือไม่ 

 

ขั้นแรกอยากอธิบายว่า ซอฟต์พาวเวอร์ ไม่เท่ากับ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ แต่ซอฟต์พาวเวอร์ ครอบคลุมทั้งการพัฒนาคนที่มีทักษะสูง เศรษฐกิจสร้างสรรค์ การเมืองประชาธิปไตย และ การต่างประเทศที่เรียกว่า "การทูตเชิงวัฒนธรรม" (Cultural Diplomacy) ซอฟต์พาวเวอร์จึงไม่ใช่แค่มิติเศรษฐกิจสร้างสรรค์หรือมิติทางการเมืองระหว่างประเทศแต่จะต้องทำงานอีกหลายด้านเพื่อให้เกิดการพัฒนา จนสามารถส่งออกวัฒนธรรม ความคิดสร้างสรรค์ หรือคุณค่าไปสู่นานาประเทศ และกลายเป็นผู้นำในระดับโลกต่อไป  
 

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เราจะต้องอาศัยความร่วมมือกับกระทรวงการต่างประเทศเพื่อออกแบบนโยบายการส่งออกวัฒนธรรม ทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาและกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สนับสนุนในด้านงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ แรงงาน กระทรวงพาณิชย์มาช่วยสนับสนุนเรื่องการค้าการตลาด และอีกหลายกระทรวงที่ต้องเข้ามาร่วมกัน 

 

นอกจากนี้ยังมีตัวแทนจากอุตสาหกรรมหลายท่านมาช่วยกันชี้เป้าอุปสรรค ปัญหา เพื่อนำไปสู่การปลดล็อก และช่วยกันออกแบบนโยบายสนับสนุนให้อุตสาหกรรมเติบโต เพื่อขยายตลาดค้าขายสินค้าทางวัฒนธรรมไปสู่ตลาดโลก

 

โดยหัวใจของการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ ในครั้งนี้จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ อุตสาหกรรม และ ศักยภาพของคน

สำหรับการพัฒนาศักยภาพของคนเราจะอยู่ในนโยบาย 
ofos - one family one soft power : นโยบายพัฒนาศักยภาพคน พัฒนาคนให้มีสกิลสร้างสรรค์ ขยับทักษะแรงงานไทยให้มีทักษะแรงงานขั้นสูง


ส่วนอุตสาหกรรม เราจะตั้ง
THACCA : องค์กรพัฒนาอุตสาหกรรม โมเดลเดียวกับ KOCCA ในเกาหลีใต้ หรือ TAICCA ไต้หวัน 


ซึ่งตลอดการทำงานช่วงก่อนเลือกตั้ง อิ๊งค์และทีมนโยบาย ได้ไปพบปะ ขอความเห็น และระดมความคิดกันว่าพัฒนาอุตสาหกรรมให้ดีกว่านี้ได้อย่างไร และพบว่ายังมีโอกาสอีกมากในอุตสาหกรรมสร้างซอฟต์พาวเวอร์บ้านเรา

 

เพื่อไทยจะเดินหน้า ร่วมทำงานกับภาคเอกชน  ขอถือโอกาสนี้ ขอขอบคุณคณะทำงานจากภาคเอกชน ที่จะมาร่วมกันทำงานหลังจากนี้นะคะ ขอฝากตัวกับทุกท่านด้วย เรามาร่วมกันทำงานอย่างหนัก พาประเทศพ้นจากประเทศรายได้ปานกลางสู่ประเทศรายได้สูงค่ะ